ควรให้ ‘สปสช.’ ดูแล ‘ผู้ประกันตน’ สร้างสุขภาพมาตรฐานเดียว หลังพบสิทธิรักษาพยาบาล ระบบ ‘ประกันสังคม’ ตามหลัง ‘บัตรทอง’

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผย สปส. ขาดกลไกการมีส่วนร่วม ‘กำหนดนโยบาย’ ทำสิทธิรักษา ‘ผู้ประกันตน’ น้อยกว่า ‘บัตรทอง’ แม้แก้กฎหมายเลือกตั้งบอร์ดตั้งแต่ปี 58 แต่จนปัจจุบัน ‘ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม’


น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องจ่ายค่ารักษาผ่านเงินสมทบรายเดือน แต่กลับได้รับสิทธิประโยชน์บางรายการน้อยกว่าผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งได้รับการรักษาฟรีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกการบริหารของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่มีปัญหาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ซึ่งแตกต่างจากระบบบัตรทอง ที่มีสัดส่วนของประชาชนเข้าไปร่วมตัดสินใจในเชิงนโยบายด้วย

“อย่างเรื่องทันตกรรมก็จะเห็นได้ชัดว่าสิทธิบัตรทอง ถ้าเป็นความเจ็บป่วยเรื่องสุขภาพช่องปากที่ไม่ใช่การเสริมสวย สามารถทำได้ทั้งหมดตามความเป็นจริง ในขณะที่ประกันสังคมให้แค่ 900 บาทต่อปี ค่ารักษาฟันผุ ขูดหินปูน ถอนฟัน กรอฟัน ฯลฯ กลายเป็นต้องจ่ายเงินเอง มันก็เห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจน ตรงนี้ต้องบอกว่าประกันสังคมไม่ได้ถนัดเรื่องสุขภาพ ถึงจะมีคณะกรรมการแพทย์ แต่องค์ประกอบก็มาจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นข้อเสนอคือในอนาคตอาจจะทำเหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ได้ คือเรื่องจัดสวัสดิการสุขภาพ ก็ให้ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ช่วยบริหารจัดการ โดยโอนงบประมาณไปให้ สปสช. ใช้กรอบบัตรทองในการเข้าไปดูแลผู้ประกันตน” น.ส.สุภัทรา ระบุ

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า การจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้หากผ่านช่องทางของกฎหมาย คือให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในการแก้กฎหมาย หรือไม่ก็ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 9, 10, 11 เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือการหลอมรวมเพื่อให้เกิดเป็นระบบสุขภาพกองทุนเดียว เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ และทุกคนได้รับบริการการรักษา และสิทธิประโยชน์ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพควรจะรวมเป็นกองทุนเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และเกิดเป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่จะแก้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เนื่องจากถ้าหากไปดูระบบสวัสดิการข้าราชการ มีแนวโน้มที่งบประมาณจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ได้เป็นการเหมาจ่ายรายหัว แต่เป็นการจ่ายตามจริง ซึ่งเมื่อดูค่าใช้จ่ายต่อหัวจะเห็นว่าสูงกว่าระบบบัตรทอง หรือประกันสังคมกว่า 3 เท่า

“เราก็อยากเห็นว่าการที่รัฐจะต้องรับผิดชอบในเรื่องหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ คนในประกันสังคมเขาก็ควรจะได้ ตามหลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” น.ส.สุภัทรา กล่าว

ทั้งนี้ แม้ในปี พ.ศ. 2558 จะมีแก้กฎหมายประกันสังคม ฉบับที่ 4 เพื่อให้มีการเลือกตั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่ในความเป็นจริงจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้น รวมถึงกรณีเมื่อมีปัญหาในการเข้ารับบริการทาง สปส. ก็ไม่มีกลไกในการจัดการเหมือนกับระบบบัตรทอง เช่น เครือข่ายประชาชน ศูนย์ประสานงานสุขภาพ หน่วยรับเรื่องร้องมาตรา 50(5) ฯลฯ ทำให้เมื่อผู้ประกันตนประสบปัญหาดังกล่าว เลือกที่จะปล่อยเลยตามเลย เหล่านี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน