ชงรัฐ พัฒนาทักษะผู้ขับขี่ บังคับติด ABS ในมอเตอร์ไซค์ทุกรุ่น หวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค จับมือ สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทดสอบระบบเบรกรถจักรยานยนต์ เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาทักษะผู้ขับขี่ – บังคับติด ABS หวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

จากการที่ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้สนับสนุนงบประมาณงานทดสอบวิจัยให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อทำโครงการวิจัยและทดสอบระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์ ขนาดไม่เกิน 125 cc และได้ดำเนินการทดสอบระบบห้ามล้อ เป็นครั้งสุดท้ายของโครงการ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นั้น

เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการ อนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยทดสอบระบบห้ามล้อหรือเบรกของรถจักรยานยนต์จำนวน 7 คัน ชี้ให้เห็นว่ารถจักรยานยนต์ที่มีระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system) สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำข้อมูลและข้อเสนอแนะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริม ปลูกฝัง และพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมทั้งผลักดันให้มีการออกกฎหมายบังคับให้ติดระบบป้องกันล้อล็อก ABS ในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่มีขนาดต่ำกว่า 125cc เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่

นายคงศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่สภาองค์กรของผู้บริโภคให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ มทร.พระนคร จัดทำโครงการนี้ เนื่องจากข้อมูลจากการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2562 พบว่า อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึงร้อยละ 74.4 และประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก อีกทั้งศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ (Thai RSC) พ.ศ. 2563 ที่ชี้ให้เห็นว่ารถจักรยานยนต์ขนาดต่ำกว่า 150 CC มีการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุดถึงร้อยละ 88 โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีปริมาตรกระบอกสูบต่ำกว่า 125CC มักจะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งนี้ ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรฯ ตามมาตรา 14(5) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ในการสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

ด้าน ผศ. ว่าที่ ร.ต. ดร.ทรงวุฒิ มงคลเลิศมณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร. พระนคร ระบุว่า ทุนสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคและความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทำให้นักวิจัยชาวไทยสามารถสร้างระบบการทดสอบรถจักรยานยนต์ขึ้นมาได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งระบบนี้สามารถใช้ทดสอบระบบห้ามล้อ และนำไปประยุกต์ในการทดสอบระบบอื่นๆ ได้ เช่น ทดสอบเสถียรภาพของรถ ทดสอบการควบคุมรถ เป็นต้น

ผศ. ว่าที่ ร.ต. ดร.ทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่ค้นพบจากการวิจัย คือรูปแบบการใช้งานเบรกของคนไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ ใช้เบรกหลังอย่างเดียว ใช้เบรกหน้าอย่างเดียว และเบรกสองล้อพร้อมกัน ซึ่งจะมีระยะเบรกแตกต่างกันไป โดยจากการทดสอบทำให้ทราบว่า หากใช้เบรกหลังอย่างเดียว จะมีระยะเบรกจะยาวที่สุด เบรกด้วยล้อหน้าอย่างเดียวก็จะเป็นระยะเบรกที่สั้นรองลงมา และเบรกด้วย 2 ล้อ จะทำให้ได้ระยะเบรกที่สั้นที่สุด ทั้งนี้ ระยะเบรกที่สั้นและทักษะในการขับขี่ จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเผยแพร่และปลูกฝังให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นนำไปสู่พฤติกรรมการขับขี่อย่างปลอดภัย

“อีกสิ่งหนึ่งที่ควรผลักดันให้มีในระบบเบรกของมอเตอร์ไซค์คือ ABS ซึ่งเป็นตัวช่วยป้องกันการล็อกและการลื่นไถลของ เพราะในสถานการณ์จริงที่เราขับรถบนพื้นถนนซึ่งอาจจะเปียก หรือถนนลื่น และแต่ละคนมีทักษะการขับขี่ สทักษะในการเบรกที่ไม่เท่ากัน การมี ABS จะช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นไถลของล้อ ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมรถได้ดีขึ้น และช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้มาก” รอง ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร. พระนคร กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดผลจากการทดสอบ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเผยแพร่ให้ผู้บริโภคทราบในลำดับต่อไป

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน