ปชช.ยื่นฟ้องรัฐบาล! ให้คืนเงินค่าจอง ‘วัคซีนทางเลือก’ ศาลนัดไต่สวน เม.ย.นี้

ศาลแพ่งนัดไต่สวนคดีคืนเงินค่าจองวัคซีนทางเลือก เม.ย.นี้ ด้านผู้ฟ้องคดีชี้คำตัดสินจะเป็นบรรทัดฐาน หลังหน่วยงานรัฐละเมิดหน้าที่ให้บริการอย่างทั่วถึง-ไม่เสียค่าใช้จ่าย เชื่ออาจต้องคืนเงินคนจองวัคซีนทางเลือกทั้งหมด


นายรัฐพล ปั้นทองพันธุ์ ในฐานะผู้ฟ้องคดีต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงกรณีที่ สธ.มีการแก้ไขประกาศเพิ่มเติม เพื่อให้กลุ่มฉีดวัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนที่จ่ายเงินเอง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายกรณีโควิด-19 หากเกิดอาการแพ้วัคซีนหรือมีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565

นายรัฐพล ระบุว่า รู้สึกดีใจที่ สธ. มีการแก้ไขประกาศดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ตนได้มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเดิม ที่ได้ยกเว้นและไม่ให้การคุ้มครองกับผู้ฉีดวัคซีนทางเลือก ซึ่งนับเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จนทำให้ศาลปกครองกลางพิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและระงับประกาศฯ ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564

“หลังจากที่ศาลปกครองสั่งเบรค สธ.เองก็ยังดีที่ไม่ดื้อด้าน และมีการแก้ไขประกาศใหม่เพื่อคุ้มครองวัคซีนทางเลือกแล้ว โดยจะให้การรักษาฟรีกรณีเกิดอาการแพ้ ก็รู้สึกว่าเป็นการระงับข้อพิพาทที่ถูกต้อง และประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ ส่วนคดีต้องรอดูว่าศาลปกครองจะตัดสินอย่างไรต่อ จะจำหน่ายเลยหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่เราต้องการแล้ว” นายรัฐพล ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายรัฐพล ระบุว่า นอกจากคดีดังกล่าวแล้ว ยังคงมีอีกหนึ่งคดีที่ตนได้ยื่นฟ้อง สธ. ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน จากการที่ตนต้องซื้อวัคซีนโควิด-19 จากภาคเอกชนให้แก่ตัวเองและบุคคลในครอบครัว เนื่องมาจากการที่ สธ.จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่ำมาฉีดให้กับประชาชน และยังมีจำนวนไม่เพียงพอ อันเป็นการละเมิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับคดีนี้นายรัฐพล ในฐานะโจทก์ ได้มีการเรียกร้อง สธ. ในฐานะจำเลย ได้แก่ 1. ชดใช้ค่าซื้อวัคซีนจำนวน 13,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 15% ต่อปี 2. สั่งห้ามจำเลยจัดหา/ซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่ำ คือวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม มาให้แก่โจทก์และประชาชน 3. สั่งให้จำเลยจัดหา/ซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง (ชนิด mRNA หรือ Protein-nanoparticle) มาฉีดให้แก่โจทก์และประชาชน

“ความจริงทุนทรัพย์ของคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง เพราะต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ก็ได้มีการขอไปว่าคดีนี้จะกระทบกับประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ทางศาลแพ่งจึงรับพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาทาง สธ. ได้ข้อเลื่อนนัดศาลมาแล้วสองครั้ง จากนัดแรกในเดือน ต.ค. 2564 ขอเลื่อนมาเดือน ธ.ค. 2564 และขอเลื่อนอีก จนล่าสุดศาลจะนัดไต่สวนในเดือน เม.ย. 2565” นายรัฐพล กล่าว

นายรัฐพล กล่าวว่า นับจากที่มีการฟ้องคดีในเดือน ส.ค. 2564 อาจสังเกตได้ว่าหลังจากนั้นรัฐบาลได้มีการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาจริง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีการจัดหาวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มเข้ามาเพิ่มเติม ดังนั้นหากให้ประเมินทิศทางการตัดสินคดี จึงเชื่อว่าสองข้อหลังน่าจะถูกตีตกไปเพราะได้มีการทำแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ไม่เป็นปัญหาเพราะถือว่าประชาชนได้รับประโยชน์

นายรัฐพล กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงเหลือข้อเรียกร้องแรก คือการคืนเงินค่าซื้อวัคซีน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหากดูตามข้อกฎหมายแล้วไม่ว่าอย่างไร สธ. ก็จะต้องคืน เพราะตามรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติเอาไว้ชัดว่าจะต้องมีการบริการให้ประชาชนฟรีในสถานการณ์โรคระบาด ขณะเดียวกันพยานหลักฐานต่างๆ ล้วนชี้ชัดว่าวัคซีนที่เลือกนำเข้ามาเป็นชนิดที่มีประสิทธิผลต่ำที่สุด ในขณะที่ให้ประชาชนไปจองซื้อวัคซีนที่ประสิทธิผลสูงที่สุดกันเอง

“ถ้าสุดท้ายศาลตัดสินว่าจะต้องคืนเงิน ตามหลักในกฎหมายคดีผู้บริโภค ถ้ามีข้อเท็จจริงเดียวกันเกิดขึ้นแล้ว ในคดีหลังศาลสามารถยึดตามนี้ได้ทั้งหมด แล้วก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป ฉะนั้นหากชนะคดีนี้แล้ว ต่อไปก็อาจทำหนังสือถึง สธ. ว่าให้คืนเงินแก่ประชาชนทั้งหมด ซึ่งหากไม่ยอมก็จะแนะนำให้ผู้บริโภคทำ Class Action หรือการฟ้องคดีกลุ่ม เพื่อเรียกคืนเงินค่าวัคซีน” นายรัฐพล กล่าว

นายรัฐพล ระบุว่า สำหรับความตั้งใจของการฟ้องคดีทั้งสองนี้ ก็เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานหากเกิดกรณีโรคระบาดครั้งต่อไป ประชาชนจะต้องไม่เจอเรื่องแบบนี้อีก ที่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเศรษฐานะของประชาชน เพราะมีคนอีกจำนวนมากในประเทศที่ไม่มีเงินจองซื้อวัคซีน ในขณะเดียวกันการนำวัคซีนประสิทธิผลต่ำมาฉีดให้กับประชาชน ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการโรค และยังทำลายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศที่อาจไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย

 

ที่มา : https://www.thecoverage.info/news/content/2980

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน