ภาคประชาสังคม เรียกร้อง รัฐบาล ทลายกฏเกณฑ์ที่เป็นตัวขัดขวางการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ของประชาชน เพราะพลังงานแสงอาทิตย์เป็นของทุกคน ที่ต้องได้รับโอกาสการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม

 อังคารที่ 14 มีนาคม 2566 ที่งานเสวนาออนไลน์ “ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน” เนื่องในโอกาสวันผู้บริโภคสากลปี 2566 (World Consumers Right Day) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สมาชิกสหพันธ์ผู้บริโภคสากล) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า เวลานี้ ภาคครัวเรือน ยังถูกปิดกั้น การติดตั้ง โซลาร์เซลล์ บนหลังคาบ้าน ชี้เหตุ ภาครัฐยังยึดผลกำไรของอุตสาหกรรมพลังงานทั้งระบบเอาไว้ เพราะ นับตั้งแต่โซลาร์เซลล์เข้ามีมบทบาททางด้านพลังงานทดแทน ทำให้มีการนำแผงโซลาร์เซลล์มาประยุกต์ใช้งานกันมากขึ้น ในระบบโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านที่เห็นทั่วไปนั้น มีอยู่ 2 ระบบใหญ่ๆ คือ Ongrid System กับ Hybrid System

ระบบโซลาร์แบบออนกริด (Ongrid Solar System) เป็นระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของ การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยสัดส่วนขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต และจำนวนโหลดเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้ในบ้าน

ส่วน ระบบโซลาร์แบบไฮบริด (Hybrid Solar System) พัฒนาขึ้นมาจากระบบออนกริดโดยแก้ไขข้อด้อยที่ไม่สามารถจ่ายไฟในเวลากลางคืน และต้องหยุดการทำงานขณะที่ไฟฟ้าดับ นั่นคือสามารถทำงานได้ในขณะที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แก้ปัญหาไฟดับ-ไฟตก

แต่ด้วยความยุ่งยากของกฏหมาย ที่กำหนดให้ การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ทั้งแบบ ออนกริด และ ไฮบริด ต้องขออนุญาตจากหน่วยงาน ของภาครัฐ ถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่

  • คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กระทรวงพลังงาน
  • การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน . ) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
  • รวมถึง หน่วยงาน สำนักงานเขต/อำเภอ/ หน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.

เมื่อประชาชนต้องแจ้งถึง3หน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ไม่มีใครอยากดำเนินการ เรื่องนี้ ที่สำคัญ ยังมีกฎกระทรวงมหาดไทย ที่ทำให้วุ่นวายเข้าไปอีก เพราะกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน จะต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ที่จัดทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา จากนั้นให้แจ้งต่อเทศบาลท้องถิ่น ให้ทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ลงนามโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 65 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยปัญหาที่ตามมา นั่นคือ ประชาชน ต้องจ่ายเงินเป็นค่าวิศวกร รับรองแบบ รวมถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจดแจ้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ. 2566 ) เงื่อนไขที่สร้างภาระให้กับประชาชน ยังคงอยู่ โดยไม่มีมาตรการใดๆ จากรัฐบาลมาอุดหนุน หรือเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนที่ต้องการ ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ให้เห็นปัญหานี้ นั่นก็เพราะว่า ภาครัฐ ได้สร้างมาตรฐานการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ซับซ้อน อีกทั้ง ยังสร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีวิศวกรรับรองแบบ ในเมื่อโครงสร้างหลังคา ไม่ได้เป็นสาระสำคัญกับน้ำหนักของโซลาร์เซลล์ เพียงแค่ 3-5 กิโลวัตต์

อีกประเด็นที่ภาครัฐ พยายามปิดกั้นประชาชนขอติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ได้โดยสะดวก นั่นก็คือ “ระบบการรับซื้อไฟฟ้าบนหลังคา หรือ Net Metering ซึ่งเป็น ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ จากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา กับ ไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบแล้ว”

ดังนั้น ระบบ Net Metering จึงถือเป็น “ กระดูกชิ้นโต “ ที่ภาครัฐ ต้องการเก็บเอาไว้เอง เพื่อให้สายพลังงานหมุนเวียน เติบโต ในวงจำกัดมากที่สุด โดยไม่ให้ไหลย้อนกลับเข้าระบบในทุกกรณี เพื่อให้สามารถกอบโกยผลกำไรจากอุตสาหกรรมพลังงานทั้งระบบ อย่างไม่สิ้นสุด

นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า ระบบ Net Metering ยังถูกปิดกั้น จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ถึงแม้ภาคประชาสังคมพยายามผลักดัน รวมถึงยื่นข้อเสนอผ่าน “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อเปิดทางให้ประชาชนรายย่อย แต่กลับยังเพิกเฉยมาจนถึงบัดนี้ ดังนั้น ภาคประชาสังคม จึงร่วมมือผนึกกำลังให้เกิดพลังพลเมืองเพื่อขับเคลื่อน-ผลักดันให้รัฐบาลทลายกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวขัดขวางการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชน รวมทั้ง ออกนโยบายสนับสนุน งบประมาณการติดตั้ง และ มาตรการลดหย่อนภาษี ถือเป็นการแสดงความจริงใจ ที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงประโยชน์ด้านพลังงาน ในฐานะพลเมืองของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ใกล้เลือกตั้ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะเป็นสมาชิกสหพันธ์ผู้บริโภคสากล และภาคประชาสังคม ได้แก่ สภาองค์กรของผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และกองทุนแสงอาทิตย์ จึงร่วมมือกัน ทำข้อเสนอต่อทุกพรรคการเมือง โดยจะยื่น วันที่ 15 มีนาคมนี้ บน เวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยน นโยบายคุ้มครองผู้บริโภคต่อพรรคการเมือง เพื่อขับเคลื่อน “ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์” ให้เป็นรูปธรรมและประชาชนจะได้เห็นว่า พรรคการเมืองใดยึดประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน