วงเสวนาต้านข้อมูลลวงชี้ ปชช.ต้องรู้เท่าทันข่าวปลอม – สื่อมวลชนมีความรอบคอบ

วงเสวนา Stop Fake, Spread Facts ชี้ ประชาชนต้องรู้ทันข่าวปลอมในโลกออนไลน์-อย่ากดลิ้งก์ที่ส่งมาใน SMS เด็ดขาด-สื่อมวลชนต้องรอบคอบระวังการใช้คำว่า ‘มีรายงานข่าวว่า’ 


สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.orgรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์จัดกิจกรรม Facts Story Festival @Bangkok ‘ปลุกสังคมต้านภัยข้อมูลปลอม’ ภายใต้โครงการรณรงค์สร้างความรู้เพื่อยับยั้งและรู้เท่าทันข่าวปลอม (Stop Fake, Spread Facts) ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ ‘เราจะ Stop Fake, และ Spread Facts เพื่อเราและสังคม ?’ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพอาวุโส ตัวแทนจากภาครัฐ ตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการเสวนา

เริ่มที่ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปาฐกถาก่อนเปิดงานเสวนา หัวข้อ ‘Stop Fake, Spread Facts : ร่วมขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในบริบท Next normal’ กล่าวว่า Next Normal เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในด้านกระบวนและบริบทการสื่อสาร ในอดีตการสื่อสารของสื่อมวลชนจะเป็นแบบเส้นตรง SMCR จนกระทั่งมาถึงในปัจจุบันที่รูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องนำข้อมูลต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงโลกออนไลน์ของผู้รับสาร พฤติกรรมของผู้รับสาร เป็นต้น มาวิเคราะห์ก่อนจะผลิตข่าว อีกทั้งในปัจจุบันมี disinformation จำนวนมาก ดังนั้นในการรับมือกับข้อมูลปลอมจะต้องมีคู่มือที่สามารถแยกได้ว่าสิ่งไหนคือข่าวปลอม ต่อมาดูที่ผู้ผลิตข่าวนั้น ๆ ว่ามีความเชื่อถือมากน้อยเพียงใด โดยข่าวปลอมสังเกตได้จากจำนวนข่าวที่มีอยู่ในหลากหลายเว็บ

“การใช้ disinformation law ในประเทศที่ประชาธิปไตยที่ไม่มั่นคงจะกลายเป็นการใช้กฎหมายปิดปาก” ศ.พิรงรอง รามสูต กล่าว

เมื่อเริ่มการเสวนา นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลาทำงานจะเจอข้อมูลปลอมบ่อย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองร้อนแรงจะเจอว่ามีการใช้ข้อมูลปลอมเพื่อหลอกลวงโจมตีฝ่ายตรงข้าม ส่วนตัวมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มองว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือการศึกษา รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สิ่งที่ไม่ต้องเปลี่ยนตามเวลา คือ คนที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นความจริงให้แก่คนในสังคมอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม

นอกจากนี้นายมงคลยังกล่าวถึงการลงข่าวการทำผิดของเยาวชนหรือผู้เสียหายคนอื่น ๆ ที่ในปัจจุบันการลงข่าวผ่านสื่อออนไลน์จะทำให้ข่าวเหล่านั้นวนกลับมาหลายครั้ง สร้างความกระทบกระเทือนกับเด็กหรือคนที่เป็นข่าวเสมอ ดังนั้นถ้าจะแก้ข่าวเมื่อคดีมีการเปลี่ยนแปลงหรือพบความจริงแล้วต้องกลับไปแก้ที่ต้นทางด้วย ไม่ใช่ลงแค่ข่าวล่าสุด

ต่อมาพลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า เวลาทำงานเจอข้อมูลปลอมมาตลอด แต่ในปัจจุบันตั้งแต่มีโควิดข้อมูลปลอมระบาดหนักมากขึ้น ยกตัวอย่าง เรื่องการหลอกลวงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมผ่านธนาคาร เช่น การหลอกให้คนโอนเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการหลอกลวงเพื่อเงินทองผ่านโลกออนไลน์

พลอากาศตรีอมร ยังกล่าวถึงที่มาของหน่วยงานว่า สกมช.ตั้งตามพรบ.ไซเบอร์ปี 2562 หน่วยงานเริ่มทำงานปี 2564 หน้าที่หลักคือดูแลระบบการรักษาความปลอดภัยของแต่ละสถาบันให้มีความปลอดภัย เช่น ป้องกันระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคารไม่ให้ถูกแฮกข้อมูล แต่ในปัจจุบันหลังมีโควิดก็พบว่าจะต้องไปดูแลในส่วนของประชาชนผู้ใช้งานด้วย เพราะปัจจุบันมีประชาชนถูกหลอกให้โหลดแอพดูดเงิน หรือถูกหลอกให้กดโอนเงิน

“ปัจจุบันโอกาสที่ถูกหลอกโอนเงินแล้วจะได้เงินคืน คือมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เงินคืน” พลอากาศตรีอมรกล่าว

ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ประชาชนรู้ทันข่าวปลอมในโลกออนไลน์ และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คือ เรื่องการหลอกให้ลงทุน เขา (มิจฉาชีพ) จะมีเทคนิคใหม่ที่จะดึงเข้ากลุ่มโอเพ้นแชต ซึ่งในกลุ่มนั้นจะมีหน้าม้าอยู่เป็นจำนวนมาก ราว ๆ ร้อยคน ที่จะโพสต์ความสำเร็จจากการลงทุน จนทำให้ผู้เสียหายเชื่อและลงทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการหลอกให้ทำงานเสริมในเยาวชน ขอยกตัวอย่างเคสเด็กพิการที่ถูกหลอกทำงานเสริมผ่านออนไลน์แล้วให้โอนเงิน อีกงานหนึ่งคือหลอกให้ทำงานแยกสีหนังยางที่หลอกเอาเงินเล็กน้อย ๆ แต่หลอกหลายคน พอโดนจับได้ก็ปิดร้านแล้วหนีไปเปิดใหม่

นอกจากนี้เลขาสกมช.ยังกล่าวถึงปัญหาที่ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลไปสู่มิจฉาชีพว่า ปัญหานี้เริ่มจากการเพิ่มเพื่อนในช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่จะทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ เมื่อมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลของเราได้แล้วก็จะวิเคราะห์ข้อมูลของเรา แล้วเริ่มความสัมพันธ์ด้วยการให้สิ่งที่เราต้องการจนกระทั่งหลอกเอาเงินจากเราไปได้ในที่สุด และยังกล่าวแนะนำให้ประชาชนพยายามใช้อินเตอร์เน็ตผ่านซิมโทรศัพท์ส่วนตัวมากกว่าเชื่อมต่อไวไฟผ่านร้านกาแฟหรือร้านค้าต่าง ๆ เพื่อป้องกันถูกมิจฉาชีพหลอกลวง และแนะนำว่าอย่ากดลิ้งก์ที่ส่งผ่าน sms โทรศัพท์เพื่อป้องกันการถูกหลอกหรือถูกดูดเงินจากธนาคาร

“ปัจจุบันมีวิธีการใหม่ ๆ มาหลอกเสมอ เช่นหลอกให้กรอกข้อมูลลงชื่อใช้งาน wifi ผ่านเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นเพื่อหลอก ดังนั้นถ้าเราไม่สามารถแยกแยะได้แนะนำให้ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านซิมโทรศัพท์ส่วนตัวของเราจะดีที่สุด ส่วนไลน์มีโอกาสเอาชื่อ เอารูปใครมาใส่ก็ได้ หรือ sms ก็ปลอมได้ เพราะฉะนั้นเวลาจะกดลิ้งก์ผ่าน sms อย่ากดจะดีที่สุด จะปลอดภัยที่สุด”

นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้ (ใกล้เลือกตั้ง) สุ่มเสี่ยงมาก อีกทั้งยังได้ยินการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึ่มของเฟซบุ๊กที่มักจะดันให้ข่าวที่มีการใช้สีพื้นหลังของภาพที่โดดเด่นให้ค้างอยู่บนเฟซบุ๊กนานขึ้น ยกตัวอย่าง การรายงานข่าวด่วนไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ จนกระทั่งวันพุธเฟซบุ๊กก็ยังไม่เอาลงจนมีคนมาเห็นข่าวนี้ คนก็ตกใจ เกิดเป็นการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาด

“ตอนนี้เราไม่ต้องรู้เท่าทันสื่อ แต่ต้องรู้เท่าทันแพลตฟอร์มก่อน” นายระวีกล่าว

นายระวีกล่าวถึงการที่สื่อใช้คำว่า ‘มีรายงานข่าวว่า’ สำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งการใช้คำว่า ‘มีรายงานข่าวว่า’ ยังไม่ใช่การยืนยันว่าเป็นข่าว ในสื่อโทรทัศน์ยังไม่เกิดปัญหามากนักเพราะมีภาพ มีเวลา แต่สำหรับสื่อออนไลน์กลับเป็นปัญหา เพราะคนที่มาอ่านทีหลังจะไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้ว ถ้าเกิดมีรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมคนอ่านอาจจะไม่เห็น ดังนั้นต้องระวังการใช้คำว่า ‘มีรายงานข่าวว่า’

นอกจากนี้นายระวียังกล่าวว่า สื่อบางส่วนมีการใช้สัญลักษณ์ที่มีความคล้ายกับสื่อหลักแล้วเผยแพร่ข่าวปลอม ทำให้คนที่มาอ่านอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ แต่ปัจจุบันก็ลดน้อยลงเพราะไปเจรจากับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้คอยดูแลสื่อกลุ่มนี้ และเมื่อไม่นานมานี้พบว่ายูทูปหลายช่องถูกแฮกข้อมูลจำนวนมาก สาเหตุมาจากผู้ดูแลช่องยูทูปไปลงชื่อเข้าใช้งานในคอมพิวเตอร์ที่มีมัลแวร์จึงทำให้ถูกแฮก ดังนั้นสิ่งที่โครงการนี้พยายามสร้างคือความมีสติของผู้ใช้งานโซลเชี่ยลมีเดีย

นางสาวธัญวรัตม์ จุลสุคนธ์ ผู้แทนเยาวชนจากยูนิเซฟ กล่าวว่า ข่าวลวงมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่อ แล้วส่งต่อได้ง่าย เช่น ผ่านไลน์ ยกตัวอย่าง แม่ของตนที่เห็นข่าวจากเพื่อนที่ส่งมาผ่านไลน์เรื่องยาสมุนไพรรักษามะเร็ง ก็รีบขับรถไปซื้อที่ต่างจังหวัด รอคิวเป็นเวลาสองวัน พอได้ยามาก็พบว่าเป็นสมุนไพรธรรมดาที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป ด้านการทำงานของยูนิเซฟที่ทำงานกับข่าวปลอม มีหน่วยงานให้เยาวชนเข้ามาเข้าร่วมคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน (YPAB) โดยคัดเลือกจากเยาวชนอายุ 10-19 ปีโดยยูนิเซฟมีมุมมองต่อข้อมูลลวงว่า ข้อมูลลวงบางเรื่องที่อาจทำให้เสียชีวิตเสียทรัพย์ ยูนิเซฟจึงปลูกฝังผู้เข้าร่วมโครงการ ให้มองว่าข่าวนี้มีความน่าเชื่อหรือไม่ ต้องมองหาที่มาของข่าว และต้องใช้วิจารณญาณให้รอบคอบ

 

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน