ข่าวดี! กลไกแก้ปัญหา นักช็อป เหยื่อแก๊งฯ อาจจบจริงในปี 67

ข่าวดีสำหรับผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงจากภัยมิจฉาชีพแก็งคอลเซนเตอร์ รวมทั้งนักช๊อปออนไลน์ที่ประสบปัญหาได้ของไม่ตรงปก หรือจ่ายเงินกับของที่ไม่ได้สั่ง ซึ่งหลังจากสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นดังกล่าวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีข้อสรุปว่า ในปี 2567 จะมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์อย่างก้าวกระโดดในหลาย ๆ กรณี เช่น จะมีการผลักดันการแก้กฎหมายที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปิดพัสดุก่อนการจ่ายเงินเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ได้ มีการพัฒนาแอปฯ ที่สามารถแจ้งชื่อผู้โทรเข้าและจดจำเบอร์มิจฉาชีพได้ เช่นเดียวกับ แอปฯ ฮูส์คอลล์ (Whoscall) ในต่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งสายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉิน เช่น กรณีภัยพิบัติ หรือกราดยิง อีกจุดหนึ่งที่จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) สายด่วน 1441 ให้เปิดคู่สายเพื่อรับการร้องเรียนได้มากขึ้น

โดยในการประชุมหารือเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นการซื้อสินค้าออนไลน์และภัยทุจริตทางการเงิน แก่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีข้อเสนอเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1. แนวทางการติดตาม และแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนศูนย์จัดการภัยทุจริตทางการเงิน 2. แนวทางการแจ้งเตือนหมายเลขบัญชีที่ต้องสงสัยที่ถูกนำไปใช้กระทำความผิด และการป้องกันผู้บริโภคจากบัญชีม้า 3. แนวทางการจัดระเบียบร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม 4. มาตรการเชิงนโยบายเกี่ยวกับบริการส่งพัสดุเรียกเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) 5. มาตรการแจ้งเหตุด่วนฉุกเฉิน การจัดระดับของความรุนแรง และอำนาจในการสั่งการ และ 6. แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคจากการรวมกิจการโทรคมนาคม ผ่านรัฐวิสาหกิจในสังกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT)

บุญยืน กล่าวว่า ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์จากโลกออนไลน์ แต่ปัจจุบันโลกออนไลน์กลายเป็นแหล่งหลอกลวง กลายเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายมากเกินกว่าการได้ประโยชน์แล้ว อีกทั้งในหลายแอปพลิเคชันของภาครัฐที่มีการติดตั้งลงบนโทรศัพท์มือถือมักจะเรียกขอข้อมูลส่วนตัวที่มากจนเกินควร ดังนั้น จึงต้องการหารือให้รัฐบาลจัดทำเพียงแอปฯ เดียวที่รวมทุกหน่วยงานไว้ เพื่อความสะดวกของผู้บริโภคและยังป้องกันการให้ข้อมูลส่วนตัวกับแอปฯ ปลอมต่าง ๆ ที่จะนำเอาไปแอบอ้างสร้างความเสียหายต่อเนื่อง

 

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นการผลักดันให้รัฐบาลจัดทำแอปฯ ที่รวมทุกหน่วยงานไว้ว่า รัฐบาลควรเพิ่มระบบป้องกันให้มากขึ้น เช่น การสร้างแอปฯ ที่เป็นรูปแบบอย่างเดียวกับ ฮูส์คอลล์ (Whoscall) ที่ใช้สำหรับระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก ซึ่งสามารถแจ้งได้ทันทีว่าใครโทรเข้ามาเพื่อป้องกันมิจฉาชีพมากขึ้น ทำให้แอปฯ ดังกล่าวมีฐานข้อมูลจำนวนมาก แต่แอปฯ ดังกล่าวเป็นของบริษัทสัญชาติไต้หวัน ชื่อ บริษัท Gogolook ดังนั้นจึงมีความคิดเห็นว่ารัฐควรจัดทำแอปฯ ในลักษณะเดียวกันเพื่อยกระดับการป้องกันภัยมิจฉาชีพ ในส่วนของการร้องเรียน สุภิญญาเสนอว่า ควรมีเลขหมายที่ผู้เสียหายสามารถกดเบอร์เดียวแล้วแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินได้ทันที หรือมีการแจ้งเตือนทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการตามแก้ไขปัญหาในภายหลัง

ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป เสนอว่า การทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น จึงขอให้พิจารณา การแต่งตั้งผู้แทนสภาผู้บริโภคเข้าไปเป็นผู้แทนคณะกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้มีส่วนร่วมการสร้างความตระหนักรู้ การอบรมประชาชน อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ผ่านเบอร์โทรศัพท์สายด่วน 1441 ซึ่งเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Service) สามารถช่วยอายัดบัญชีมิจฉาชีพให้แก่ผู้บริโภคได้ทันที และเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ อีกด้วย

ขณะที่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดศูนย์อาชญากรรมออนไลน์ (AOC) สายด่วน 1441 ได้มีผู้ร้องเรียนมากว่า 3,000 รายต่อวัน แต่พบปัญหาคือมีคู่สายซ้อน เพราะแต่ละสายมีการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาที่ใช้เวลานาน ดังนั้นปัจจุบันได้แก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มคู่สาย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ส่วนประเด็นแอปฯ ของภาครัฐที่จะช่วยแจ้งเตือนให้เหมือนแอปฯ ฮูส์คอลล์นั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ มีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อย่างเช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) โดยจะมีการขึ้นข้อมูลและบัญชีของมิจฉาชีพ รวมถึงประวัติอาชญากรรมเพื่อเป็นข้อมูลและแจ้งเตือนผู้บริโภค โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายในปี 2567

รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวอีกว่า มาตรการเชิงนโยบายเกี่ยวกับบริการส่งพัสดุแบบเก็บเงินปลายทาง หรือ Cash on Delivery (COD) ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อผลักดันกฎหมายให้เปิดก่อนจ่ายได้ รวมถึงเพิ่มระยะเวลาการเก็บเงินกับบริษัทขนส่งไว้ก่อน 3 วัน ทั้งนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของ สคบ. ในการร่างกฎหมาย และสำหรับแนวทางการจัดระเบียบร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) (ETDA) ได้เริ่มประกาศให้ผู้ขายต้องจดทะเบียนร้านค้าเพื่อแสดงตัวตน ตามพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า กฎหมาย ‘คุมแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ’ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ทั้งนี้ จะมีการนำพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาพิจารณาอีกครั้งเพื่อปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ส่วนมาตรการแจ้งเหตุด่วนฉุกเฉินนั้น หลังกรณีเกิดเหตุกราดยิงได้ประสานขอความร่วมมือกับค่ายโทรศัพท์เพื่อส่งสัญญาญถึงผู้บริโภค แต่ในระยะยาวอาจต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงจึงได้ส่งหนังสือไปยัง กสทช. เพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงดิจิทัลฯ กำลังทำรูปแบบว่าแต่ละเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควรเป็นหน่วยงานใดที่ควรเตือนภัย

ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคจากการรวมกิจการโทรคมนาคมนั้น รัฐบาลได้ให้โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) ทำหน้าที่สนับสนุนภาครัฐ โดยเน้นลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านการจัดทำโครงการการใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครือข่าย 5จี (5G) เพียงอย่างเดียว แต่อาจสามารถใช้บริการเครือข่าย 2จี (2G) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพื่อทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

“กระทรวงดิจิทัลฯ ยินดีที่จะให้สภาผู้บริโภคประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นตัวแทนผู้บริโภคเข้ามาแสดงความคิดเห็นในองค์ประกอบของนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่กระทรวงดิจิทัลฯ กำลังดำเนินการในปี 2567 และเห็นด้วยกับข้อเสนอของสภาผู้บริโภคทุกประเด็น นอกจากนี้การสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับผู้บริโภคแต่ละสัปดาห์ กระจายในทุกช่องทาง เพื่อให้ผู้บริโภคมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันภัยออนไลน์” ประเสริฐ กล่าวปิดท้าย

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน