ข้อเสนอ ‘บำนาญถ้วนหน้า’ เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?

“…เรื่องนี้ (บำนาญถ้วนหน้า) เป็นไปได้ แต่ต้องหารายได้มาจ่ายตรงนี้ แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปงบประมาณ และการใช้ระบบภาษีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลดลง เราไม่มีเงินมาทำแน่นอน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ทางการคลังที่เราเป็นอยู่ ไหนจะค่าใช้จ่ายข้าราชการ งบจ่ายหนี้และหนี้เราก็สูง…”

…………………………………………

ในห้วงการเลือกตั้งใหญ่ 2566 ที่จะมีขึ้น ‘ช้าสุด’ ไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 

นโยบาย ‘บำนาญประชาชน’ หรือ ‘บำนาญถ้วนหน้า’ สำหรับผู้สูงอายุหรืออายุ 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาท เป็นหนึ่งในนโยบายที่บรรดาพรรคการเมืองใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หลังจากก่อนหน้านี้องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน และกลุ่มนักวิชาการ ได้ร่วมกันผลักดันนโยบายนี้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว

“เพื่อผลักดันให้บำนาญถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จริง ในช่วงที่พรรคการเมืองต่างๆกำลังจะหาเสียงเลือกตั้ง เครือข่ายฯ ได้ทำแคมเปญว่า ให้เลือกผู้แทนที่พร้อมทำเรื่องบำนาญถ้วนหน้า” นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวในการแถลงข่าว ‘ร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้า สู่นโยบายสำคัญพรรคการเมือง’ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี มีคำถามสำคัญว่า ในการผลักดันนโยบาย ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ไปสู่การปฏิบัติจริงนั้น ประเทศต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่เพื่อการนี้ และจะหาเงินมาจากแหล่งใดได้บ้าง?

@ผลวิจัยฯชี้ ‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท ใช้เงิน 4 แสนล้าน/ปี

“ถ้าจะเปลี่ยนจากการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในอัตราไปปัจจุบัน ไปเป็นบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท จากที่คำนวณไว้คาดว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้าน/ปี สำหรับผู้สูงอายุที่มีประมาณ 10 ล้านคน” ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)

ทีปกร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะวิจัยโครงการ ‘การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลดระทบของ Covid-19 ต่อผู้สูงอายุ’ กล่าวต่อว่า การจัดตั้งระบบบำนาญถ้วนหน้า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีการหารายได้เพิ่มเพื่อนำมาจ่ายในส่วนนี้ ได้แก่

ส่วนแรก การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ลดขนาดกองทัพ ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นที่ทราบกับอยู่แล้วว่า เขาไม่ขายเครื่องยนต์ให้ แต่ก็พยายามจะทำกันให้ได้ และการลดงบอีกสารพัดที่มีปัญหาการทุจริตมากมาย ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปฏิรูปงบประมาณในเรื่องเหล่านี้ให้ได้

b 15 01 23 4(ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย)

@เสนอรัฐ ‘ปฏิรูปภาษี’ หาเงินสนับสนุนระบบ ‘บำนาญแห่งชาติ’

ส่วนที่สอง การลดสิทธิประโยชน์ภาษีบีโอไอ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเสียโอกาสในการเก็บภาษีส่วนนี้ปีละแสนล้าน และจากจริงๆแล้ว มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปัจจัยดึงดูดนักลงทุนที่สำคัญ คือ เรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจ การไม่ต้องมีกฎหมายหรือขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และมีแรงงานที่มีทักษะที่เขาต้องการ เป็นต้น

“การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (บีโอไอ) มันช่วยได้ แต่ไม่สำคัญขนาดนั้น และไม่คุ้มเลยกับการที่เราไปทำให้เขาได้ยกเว้นภาษี หรือแม้กระทั่งการเก็บภาษีตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งเก็บเป็นส่วนน้อยเหลือเกิน แต่ก็ยังคัดค้าน ทั้งๆมันเป็นไปการยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มคนที่อยู่บนยอดพีระมิด เราจึงต้องไปเก็บตรงนั้นให้ได้” ทีปกร กล่าว

ส่วนที่สาม การเพิ่มอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่า อัตราภาษีดังกล่าวต่ำเกินไป อีกทั้งมีช่องว่างอยู่มาก เช่น การนำที่ดินมูลค่าเป็นหมื่นล้านมาทำเป็นแปลงเกษตร หรือนำที่ดินไปทำเรื่อง CSR (กิจกรรมเพื่อสังคม) เพื่อพีอาร์ แต่จุดประสงค์จริงๆ คือ ทำเพื่อทำให้ได้ยกเว้นภาษีหรือได้รับการลดหย่อนภาษี

“คนที่เป็นเจ้าของที่ดินมากๆ เป็นแลนด์ลอร์ดของประเทศ คนเหล่านี้ควรถูกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ต้องมีการภาษีความมั่งคั่ง เช่น พวกที่มีทรัพย์สินสุทธิมากๆ เก็บภาษี capital gain และการลดค่าลดหย่อนซื้อกองทุน LTF หรือรวมๆแล้ว คือ การปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รัฐควรต้องเข้าไปจัดการตรงนั้น เพื่อให้มีเงินมาทำสวัสดิการ” ทีปกร ระบุ

ส่วนที่สี่ การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำได้ค่อนข้างเร็ว แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก และเพื่อลดการต่อต้าน ควรระบุวัตถุประสงค์ภาษีให้ชัดเจน (Earmarked) ว่า จะเอาไปทำบำนาญฯให้ประชาชน ไม่ใช่จัดสรรไปซื้ออาวุธหรือทำเรื่องอื่นๆ และเพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย ต้องใช้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำเรื่อง Earmarked Tax

“เรื่องนี้ (บำนาญถ้วนหน้า) เป็นไปได้ แต่ต้องหารายได้มาจ่ายตรงนี้ แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปงบประมาณ และการใช้ระบบภาษีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลดลง เราไม่มีเงินมาทำแน่นอน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ทางการคลังที่เราเป็นอยู่ ไหนจะค่าใช้จ่ายข้าราชการ งบจ่ายหนี้และหนี้เราก็สูง” ทีปกร ระบุ

b 15 01 23 2

b 15 01 23 3

ที่มา : ผลศึกษาฯ ‘การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลดระทบของ Covid-19 ต่อผู้สูงอายุ’

@ต้องลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ บำนาญ‘ข้าราชการ-ประชาชน’

ทีปกร ระบุด้วยว่า ในขณะที่ในปีงบ 2564 รัฐบาลต้องจัดสรรงบกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเงินบำนาญข้าราชการ 5 ระบบ ให้กับอดีตข้าราชการที่ได้รับสิทธิ์ 9.5 แสนคน หรือคิดเป็นเงินบำนาญเฉลี่ย 2.6 หมื่นบาท/คน/เดือน เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2550 ที่ผู้รับสิทธิ 4 แสนคน และได้รับเงินบำนาญเฉลี่ย 1.6 หมื่นบาท/คน/เดือน

แต่ผู้สูงอายุไทยกว่า 10 ล้านคน ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงเดือนละ 600-1,000 ล้านบาท และใช้เงินไปประมาณ 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งและผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่ง และในภาพใหญ่ทุกคนก็รู้ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำหนักหนาสาหัส และเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

“ถ้าจะทำเรื่องนี้ (บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท) ให้สำเร็จ ต้องขึ้นอยู่เสียงประชาชนว่าจะชนะ 250 ส.ว. ได้หรือเปล่า เลือกพรรคที่ตั้งใจจะทำเรื่องนี้จริงๆหรือไม่ เรื่องนี้จึงอยู่ที่การเมืองล้วนๆ ขณะที่เมื่อปี 2565 สภาฯได้เห็นชอบรายงาน เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ แล้ว ถ้าครม.รับทราบแล้วและรับไปทำต่อ ก็ทำได้เลย” ทีปกร ย้ำ

b 15 01 23 1ที่มา : สำนักเลขาธิการ ครม. และ ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย สำนักข่าวอิศรารวบรวม)

@ผลศึกษา ‘กมธ.’ ชี้ ‘เบี้ยบำนาญ’ 3 พัน ใช้เงินเริ่มต้น 4.3 แสนล้าน

ในขณะที่รายงานผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือน พ.ค.2565 ระบุว่า หากรัฐจัดให้มี ‘เบี้ยบำนาญแห่งชาติ’ เดือนละ 3,000 บาท ให้ผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ต้องใช้งบเริ่มต้น 4.3 แสนล้านบาท

“เมื่อคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ พบว่าในปี 2563 จะมีประชากรผู้สูงอายุ ประมาณ 12 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณในการจ่ายเบี้ยบำนาญแห่งชาติ เดือนละ 3,000 บาท เป็นเงินประมาณ 433,440 ล้านบาทต่อปี

และหากพิจารณาไปอีก 10 ปีข้างหน้า ในปี พ.ศ.2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 616,320 ล้านบาทต่อปี และหากพิจารณาต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ในปี 2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4 ของประชากรทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 738,396 ล้านบาทต่อปี

ในประเด็นนี้จึงสามารถพิจารณาได้ว่าการใช้งบประมาณเฉลี่ย 10 ปีแรก จะต้องมีการเตรียมการสำรองงบประมาณเพื่อจ่ายเบี้ยบ านาญแห่งชาติไว้ประมาณปีละ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระงบประมาณที่สูงมาก” รายงานผลการศึกษา เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ หน้าที่ 45 ระบุ

@เปิดแหล่งที่มา ‘รายได้’ สมทบ ‘กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’

ทั้งนี้ ในรายงานฉบับนี้ยังสรุปแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำสมทบเพื่อจัดตั้ง ‘กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’ เช่น เงินสมบทการจัดสรรงบประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท , เงินสมทบที่มาจากรายได้การจัดเก็บภาษีจากการนำเข้าและส่งออก ซึ่งปี 2562 รัฐจัดเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกได้ 3.71 แสนล้านบาท

การลดหรืองดเว้นการให้สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุน (ภาษีบีโอไอ) ซึ่งในปีงบ 2562 รัฐสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ประมาณปีละ 7 หมื่นล้าน ,เงินสมทบจากรายได้การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศล ซึ่งแต่ละปีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งในปีงบ 2562 มีรายได้อยู่ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท

การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อนำเงินดังกล่าวบางส่วนมาสมทบกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังควรมีการพิจารณาหาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณจากหลายๆ ด้านเพิ่มเติม เช่น รายได้จากการจัดเก็บภาษีทางอ้อม การจัดสรรงบประมาณบางส่วนจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต (ภาษีบาป) และรายได้จากการบริจาค เป็นต้น

“คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่าควรมีการศึกษาแนวทางการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับระบบบำนาญพื้นฐานจากต่างประเทศ ที่มีการจัดเก็บภาษีทางอ้อมแบบอัตโนมัติจากการซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆในชีวิตประจำวัน โดยใช้เทคโนโลยีการชำระเงินแบบดิจิทัล และนำเงินที่ได้จากการหักภาษีดังกล่าวจัดเก็บเข้ากองทุนเพื่อการเกษียณอายุของแต่ละบุคคล เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาถึงกรณีศึกษาการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในต่างประเทศที่มีหลักเกณฑ์การหักเงินบ านาญบางส่วนเพื่อจ่ายให้แก่สถานบริบาลผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ผู้สูงอายุเข้าใช้บริการอยู่ ส่งผลให้ภาคเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนในการประกอบกิจการสถานบริบาลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น” รายงานผลศึกษาฯ ระบุ

จากนี้ไปคงต้องติดตามต่อไปว่า การผลักดันนโยบาย ‘บำนาญประชาชน’ หรือ ‘บำนาญถ้วนหน้า’ เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน จะเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่ และอย่างไร?

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน