ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยต้องมีระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Thai alert”

จะดีกว่าไหมถ้าประเทศไทยมีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Emergency Alert System ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้แจ้งเตือนประชาชนเมื่อเกิดสาธารณภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ พายุถล่ม น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ ในสัตว์หรือในพืช หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน เช่น การกราดยิงในห้างสรรพสินค้าซึ่งระบบดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนถือเป็นสวัสดิภาพที่ทุกคนต้องได้รับจากรัฐบาล และยังบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตของพลเมืองประเทศนั้น ๆ ได้อย่างดีที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศใน แถบเอเชียอย่างเกาหลีและญี่ปุ่น ให้ความสำคัญและได้นำระบบเตือนภัยเหล่านี้มาใช้แล้ว

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และขีดความสามารถของโทรศัพท์มือถือที่ถูกพัฒนารุดหน้า ทำให้การสื่อสารในโลกปัจจุบันถูกส่งตรงเข้าถึงผู้คนได้อย่างรวดเร็ว และกว้างไกลแบบไร้ขีดจำกัดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ก็จะได้รับข้อความบนโทรศัพท์มือถือไปพร้อมๆ กัน ผู้นำและรัฐบาลหลายประเทศเห็นถึงประสิทธิภาพการสื่อสารนี้ จึงพัฒนาสำหรับใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารส่งข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน แจ้งข่าวด่วนข่าวร้ายตรงถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันทีเพื่อการรับรู้ เตรียมความพร้อม ลดความสับสน ความตื่นตระหนกด้วยข้อมูลจากทางการที่แม่นยำและเชื่อถือได้ ตลอดจนเพื่อการควบคุม คลี่คลายสถานการณ์เป็นสื่อกลางความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างทันควัน

ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเป็นการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบันจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีส่งกระจายข้อความแจ้งข่าวด่วนภัยร้ายเตือนไปยังประชาชนในละแวกใกล้เคียงด้วยระบบเซลล์บรอดคาส์ท (Cell Broadcast (CB)) ที่จะส่งข้อความแจ้งเตือนจากเสาสัญญาณกระจายไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ทุกเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องทราบหมายเลขโทรศัพท์ในคราวเดียวกันทีละหลายล้านเครื่องได้อย่างรวดเร็ว หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือเมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายขึ้นโทรศัพท์ทุกเครื่องในพื้นที่อันตรายจะได้รับข้อความแจ้งเตือนพร้อม ๆ กันทำให้ทุกคนไม่ว่าจะทำอะไรอยู่จะรับรู้ถึงภัยอันตรายที่รัฐบาลแจ้งเตือนพร้อมวิธีปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยที่ถูกต้อง โดยหลายคนที่เดินทางไปต่างประเทศอาจเคยได้รับข้อความ

การแจ้งเตือนภัยในลักษณะนี้ เพราะปัจจุบันมากกว่า 30 ประเทศมีระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินมานานแล้ว ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันออกไป

“ญี่ปุ่น” ประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง และล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างแรงขนาด 7.6 แมกนิจูด ทางพื้นที่ตอนกลางของญี่ปุ่น ระบบ เจ-อเลิร์ท (J-Alert) ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยและใช้เตือนภัยชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ สถานีโทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงลำโพงที่ติดตั้งในอาคารทั่วประเทศได้ส่งเสียงสัญญานแจ้งเตือนชาวญี่ปุ่นอีกครั้ให้ทราบถึงเหตุแผ่นดินไหวที่กำลังจะเกิดขึ้นพร้อมคำแนะนำให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย แล้วแจ้งเตือนชาวญี่ปุ่นให้รับทราบถึงเหตุแผ่นดินไหวที่กำลังจะเกิดขึ้นพร้อมคำแนะนำให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย เจ-อเลิร์ท (J-Alert) จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแจ้งเตือนเหตุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ สภาพอากาศ รวมถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธ เพื่อช่วยในการอพยพอย่างรวดเร็ว

“เกาหลีใต้” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินจัดการวิกฤตฉุกเฉิน แจ้งเตือนภัยด้วยระบบ เซลล์ บรอดคาร์ท เซอร์วิส และ ระบบบริการในพื้นที่ (Location-Based Service) ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนแบบเจาะจงพื้นที่ ครอบคลุมทั้งภัยความมั่นคง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลพิษทางอากาศ การลักพาตัว และเหตุประท้วงหยุดงาน โดยกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐ จะเป็นผู้ส่งข้อความแจ้งเตือน มีการพัฒนาและแก้ไข ข้อบกพร่องอยู่เสมอ ทำให้ระบบการแจ้งเตือนภัยของเกาหลีใต้เป็นที่ประจักษ์ในประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อใช้แจ้งเตือนและเฝ้าระวังโรคโควิด – 19 จนควบคุมการระบาดได้สำเร็จ

“สหรัฐอเมริกา” ใช้ระบบ เตือนภัยฉุกเฉินแบบไร้สาย (Wireless Emergency Alert (WEA)) แจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ เมื่อเกิดสภาพอากาศเลวร้าย เฮอริเคน ไต้ฝุ่น พายุหิมะ น้ำท่วมฉับพลัน สึนามิ สารเคมีรั่ว รวมถึง คำสั่งอพยพประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ควบคู่กับระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่จะแจ้งเหตุฉุกเฉินทั่วไปทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุดาวเทียม และเคเบิ้ล รวมถึงมีระบบ แอมเบอร์ อเลิร์ท (Amber Alert) ช่วยเหลือและติดตามเด็กหายในช่วง 24 ชั่วโมงแรก แบบเรียลไทม์ นาทีต่อนาที ทำให้เด็กมีโอกาสรอดชีวิตสูง

“อังกฤษ” มีระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้แจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ด้วยเสียงสัญญาณและระบบสั่น ขณะที่ข้อความแจ้งเตือนจะมาพร้อมคำแนะนำความปลอดภัย หมายเลขโทรศัพท์ หรือลิงก์เว็บไซต์จากรัฐบาล เพื่อรับแจ้งเหตุและขอรับความช่วยเหลือของประชาชน

“ทวีปยุโรป” เริ่มใช้ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินชื่อ อียู-อเลิร์ท (EU -Alert) เมื่อปี พ.ศ.2555 แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เหตุก่อการร้าย สาธารณภัยที่ต้องอพยพผู้คนด่วน โดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป สั่งให้ชาติสมาชิกจัดทำระบบเตือนภัยสาธารณะปกป้องประชาชน ทำให้หลายประเทศอยู่ในช่วงการพัฒนา และทดสอบระบบ

ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังไม่ได้ใช้ระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ ที่ในปี 2547 เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในพื้นที่ภาคใต้ด้านทะเลอันดามัน การไม่มีระบบแจ้งเตือนภัย จึงไม่สามารถยับยั้งความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์ได้ ทำให้ไทยตัดสินใจตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้นไว้คอยเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในปัจจุบันได้พัฒนาแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ ไทย ดิสเอสเตอร์ อเลิร์ท (Thai Disaster Alert) เพื่อการแจ้งเตือนภัยสาธารณภัย 24 ชั่วโมง โดยต้องติดตั้งแอปหรือเข้าไปติดตามการแจ้งเตือนภัยทางโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ เพื่อรับทราบข่าวเตือนสาธารณภัย เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว สึนามิ ที่มีความร้ายแรงรวมถึงข้อมูลการคาดการณ์สภาพอากาศ ในแต่ละวัน

แต่วิกฤตฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย และสร้างความตื่นตกใจไม่น้อย สมควรที่รัฐบาลควรตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเช่น เหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลที่จังหวัดระยอง สารเคมีรั่วที่จังหวัดนครปฐม จ่าคลั่งก่อเหตุกราดยิงผู้คนที่จังหวัดนครราชสีมา ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 31 คน บาดเจ็บอีก 58 คน ซ้ำเติมด้วยเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อไม่มีการแจ้งเหตุ จึงไม่มีใครทราบ เกิดความสูญเสียเป็นโศกนาฏกรรมเศร้าสลดแก่สังคมไทย และเมื่อเยาวชนวัย 14 ปีก่อเหตุยิงคนภายในห้างใจกลางกรุง เหมือนการฉายภาพเหตุการณ์ซ้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่เสียงจี้ถามถึงการมีระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ หรือ Emergency Alert System ของไทยกระหึ่มขึ้น เพื่อให้รัฐบาลตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการจัดการให้ประเทศไทยมีการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “ไทย อเลิร์ท” (Thai alert) โดยใช้ระบบเซลล์บรอดคาร์ท (Cell Broadcast) เพื่อปกป้องนาทีชีวิตของพลเมืองไทย เหมือนอย่างที่หลายประเทศทำเสียที

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสภาผู้บริโภค ตระหนักว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน และถือเป็นสาธารณภัย ตามคำนิยามใน พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ที่ครอบคลุม ภัยที่มีผลกระทบกับสาธารณชน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ และ ผู้ที่ทำให้เกิดขึ้นจึงได้ส่งหนังสือข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ควรเป็นเจ้าภาพจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยสาธารณะระดับประเทศ โดยอาจกำหนดชื่อว่า “ไทยอเลิร์ท” (Thai alert) เป็นศูนย์กลางประสานบูรณาการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชน รวดเร็ว น่าเชื่อถือ

อีกทั้งสภาผู้บริโภค สนับสนุนให้รัฐบาลมอบหมายให้มีหน่วยงานมากำกับดูแล สั่งการและรับผิดชอบ พิจารณาข้อมูล จัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์และผู้มีอำนาจสั่งส่งข้อความเพื่อการแจ้งเตือนให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดการโยนหน้าที่ ความรับผิดชอบไปมา เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หนึ่งข้อความที่แจ้งเตือนออกไปถึงประชาชนมีความสำคัญกับชีวิตผู้คนมากมาย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบอกถึงคุณภาพชีวิตพลเมือง ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตพลเมืองก็บ่งชี้คุณภาพรัฐบาล เช่นกัน

ความหวังของการมี “ไทย อเลิร์ท” (Thai alert) ชัดเจนมากขึ้น เมื่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้แสดงข้อความการทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินเคลื่อนที่ (Emergency Mobile Alert) ที่เป็นการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบเอสเอ็มเอสในพื้นที่เจาะจงด้วยระบบ บริการในพื้นที่ (Location Based Service) สำเร็จ และประกาศพร้อมแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินในรูปแบบดังกล่าวได้ทันทีในระยะเริ่มต้นนี้ ก่อนขยับพัฒนาไปใช้ระบบ เซลล์บรอดคาร์ท (Cell Broadcast) ซึ่งมีประสิทธิภาพการแจ้งเตือนที่รวดเร็วกว่าการแจ้งเตือนโดยเอสเอ็มเอส ซึ่งระบบเซลล์บรอดคาร์ท (Cell Broadcast) นี้กำลังจะถูกทดสอบการใช้ช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 ในเขตกรุงเทพมหานคร นับเป็นโอกาสดีหากการทดสอบไม่เกิดปัญหาระบบความเสถียรเราอาจมีโอกาสได้ใช้ระบบการแจ้งเตือนภัยแห่งชาติเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ก็เป็นได้

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน