นิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชน กล่าวว่า ในวันนี้ (7 พฤศจิกายน) มีการประชุมครั้งที่ 11/2565 ของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวาระที่สำคัญ คือ การพิจารณาหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2566 ที่ยังไม่ได้เซ็นลงนาม ซึ่งต้องเซ็นอนุมัติตั้งแต่ก่อน 1 ตุลาคม แต่ประกาศฉบับนี้ออกไม่ทัน ก็เกิดผลกระทบต่อทุกคน เช่น ทำให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ เป็นต้น
.
นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ขอบเขตของประกาศฯ บอกว่างบส่งเสริมป้องกันโรคหมายรวมถึงคนไทยทั้ง 66 ล้านคน ซึ่งตั้งแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมา ก็จัดงบประมาณเพื่อมาดูแลคนไทยทุกสิทธิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ทุกคน กรรมการทุกชุดก็เห็นชอบมาตลอด แต่เมื่อมีข้อท้วงติงจากที่ปรึกษารัฐมนตรีอนุทินว่า ประกาศนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ในนามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมเป็นบอร์ด ทั้ง 5 คน ก็เป็นกังวล เพราะหากไม่เซ็นอนุมัติประกาศฉบับนี้ ผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียง ที่ต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ก็ต้องตรวจสอบสิทธิก่อนว่าบัตรทองไหม ไม่ใช่บัตรทองเบิกไม่ได้ หรือการฝากครรภ์สำหรับผู้หญิงทุกคน การตรวจเอชไอวี จะกลายเป็นปัญหาว่า ต่อไปนี้การส่งเสริมป้องกันโรค จะขอเลือกให้เฉพาะคนที่มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น
.
“หลักการสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรค คือ ดูแลคนทุกคน ที่ผ่านมาระบบหลักประกันฯ ก็ยึดหลักการนี้เป็นสำคัญที่ต้องดูแลทุกคนทุกสิทธิ ไม่มีข้อยกเว้น” หนึ่งในบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวและว่า ความกังวลเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องคิดถึง ที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ระวังและพยายามหาทางออกเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย ซึ่งในที่ประชุมแจ้งว่า ทีมที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีอ้างว่ามีหน้าที่ปกป้องรัฐมนตรี จึงต้องมั่นใจว่า สิ่งที่เซ็นต้องไม่ผิดกฎหมาย จึงเหมือนกับว่า ทำลายหลักการการป้องกันโรคของคนทุกคน เพื่อปกป้องคนเพียงคนเดียวโดยไม่สนใจว่าระบบกลไกการส่งเสริมป้องกันโรคจะพังหรือไม่
.
นิมิตร์ ให้ความเห็นว่า กรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า ต้องยืนยันเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับทุกคน เพราะเชื่อและปกป้องในระบบหลักประกันสุขภาพ จึงมีมติให้ลงนามประกาศดังกล่าวทันที ซึ่งสิ่งที่ต้องการให้สาธารณะช่วยจับตามองคือ รมว.สธ. จะมีวิจารณญาณในการลงนามอย่างไร เมื่อบอร์ดมีมติแล้วว่าให้ลงนามในทันที
.
ด้านสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล หนึ่งในบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรเอกชน กล่าวว่า ในที่ประชุมเห็นบรรยากาศความกลัวที่ว่าจะทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จนลืมไปว่าประชาชนของประเทศนี้ต้องการสิทธิที่จะดูแลสุขภาพของทุกคน แม้กระทรวงกลาโหมเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน หากประธานฯ ไม่สามารถเซ็นได้ เลขาธิการ สปสช.จะเป็นผู้ลงนามตามมติแทน และอาจเป็นร่างประกาศครั้งแรกที่ เลขาฯ ลงนาม ซึ่ง รมว.สธ. คงไม่ทำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น และไม่ควรมีเหตุการณ์ใดที่จะทำให้ รมว.สธ.ไม่ลงนามอีกแล้ว