สภาผู้บริโภค ส่งจดหมายเร่งบริษัทอีฟแอนด์บอยชดเชยเยียวยาความเสียหายผู้บริโภคที่เข้าร่วม งานแฟนมีตติ้ง “มาร์คตัวน” พบกลายเป็นงานแจกรางวัล พร้อมเสนอ สคบ. ออกหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติเรื่องการทำสัญญาระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค ป้องกันปัญหาสัญญาไม่เป็นธรรม
จากกรณีที่ บริษัท อีฟ แอนด์ บอย จำกัด ประกาศจัด งานแฟนมีตติ้งของ “มาร์คต้วน” ที่ใช้ชื่อว่า EVEANDBOY X MARK TUAN (FAN MEETING) ซึ่งให้สิทธิพิเศษเฉพาะลูกค้าอีฟแอนด์บอยที่ร่วมกิจกรรม และเป็นลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายมากที่สุด (Top Spender) 50 คนแรก หรือคนเป็นผู้โชคดีภายใต้เงื่อนไขตามที่บริษัทฯ กำหนดเท่านั้น แต่เมื่อถึงวันงาน บริษัทกลับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน กลายเป็นงานประกาศรางวัลของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการปรับผังงานโดยไม่แจ้งลูกค้า ปัญหาสิทธิของผู้เข้าร่วมงานที่ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ รวมถึงปัญหาสินค้าไม่ตรงปก จนเกิดกระแส #แบนEveandboy #Eveandboyต้องรับผิดชอบ และ #Eveandboyต้องชดใช้ บนสื่อทวิตเตอร์นั้น
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2566) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ระบุว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวจากผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันสภาผู้บริโภคกำลังจะส่งหนังสือถึงบริษัท อีฟ แอนด์ บอย จำกัด เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการชดเชยเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งการเสนอให้บริษัทออกนโยบายที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม 2566 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีปัญหาบัตรคอนเสิร์ตหรือกรณีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จำนวน 5,707 เรื่อง โดยส่วนมากจะเป็นปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงผังคอนเสิร์ต การสมัครสมาชิกแล้วไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุ หรือการจัดงานที่ไม่ตรงตามโฆษณา
สารีกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าปัญหาในลักษณะดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นถี่และซ้ำซาก ซึ่งหากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล เข้ามาจัดการปัญหานี้ ด้วยการออกหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติเรื่องการทำสัญญาระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค ซึ่งจะกำหนดสิ่งที่ต้องระบุในสัญญาและสิ่งที่ห้ามระบุในสัญญา เช่น เรื่องซื้อสินค้าแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และหากสัญญาไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด ให้ถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะโดยปริยายเพื่อให้การใช้สิทธิของผู้บริโภคในทุกประเด็นไม่มีข้อจำกัด และเพื่อให้มีหลักการเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำสัญญาตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้ลดปัญหาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน
“แม้ปัจจุบัน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 จะกำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา แต่ลักษณะการทำงานของคณะกรรมการฯ ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องการกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาหรือหลักฐานการรับเงิน ที่มุ่งแก้ปัญหาด้านสัญญาในธุรกิจที่เกิดปัญหาขึ้นแล้วจำนวนมาก เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต คอนโด รถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคมองว่าธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาไม่ควรพิจารณาเป็นรายธุรกิจหรือรายกิจการ เพราะการแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าวเสมือนเป็นการไล่ตามปัญหา และต้องแก้ไขกันไม่จบไม่สิ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาเชิงป้องกันด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์กลางด้านสัญญาจึงเป็นผลดีกว่าในหลายมิติ” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ทำจดหมายขอเข้าพบคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อจะยกร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวร่วมกัน หรืออาจจะเสนอให้คณะกรรมควบคุมสัญญามีอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจจะต้องปรับแก้ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2522 เพิ่มเติม นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่มองว่าควรปรับแก้เพิ่มเติม คือเรื่องสิทธิของผู้บริโภคไทย ที่ควรปรับให้ทับเทียมกับสิทธิผู้บริโภคในระดับสากล
สารี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่สังเกตได้จากปัญหาคอนเสิร์ตคือการเติบโตและความเข้มแข็งของผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้บริโภคในการกำกับภาคธุรกิจเข้มข้นขึ้น โดยยกตัวอย่างเรื่องร้องเรียนที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือเรื่องบัตรคอนเสิร์ตเอ็นซีที ดรีม (NCT Dream) ที่จัดโดยบริษัทเอสเอ็มทรู (SM True) มีปัญหาเรื่องสมัครสมาชิกเอสเอ็มทรูเมมเบอร์ชิป (SM True Membership) ซึ่งต้องเสียเงินจำนวน 1,284 บาท เพื่อให้ได้รับสิทธิในการกดบัตรคอนเสิร์ตก่อนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ปรากฏว่าสมาชิกบางส่วนกลับเข้าไปกดบัตรคอนเสิร์ตไม่ได้ ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมากที่เรียกร้องให้บริษัทออกมารับผิดชอบ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ที่ช่วยกันติดแฮชแท็กจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์
“การที่ผู้บริโภคออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง และแสดงบทบาทของผู้บริโภคในเชิงการเข้าไปกำกับธุรกิจเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม ทั้งนี้ การที่ผู้บริโภครวมกันออกมาแสดงพลังก็เป็นการหนุนให้สภาผู้บริโภคมีอำนาจในการไปต่อรองกับภาคธุรกิจมากขึ้นในทางหนึ่งด้วย” เลขาธิการสภาผู้บริโภค ระบุ