ภารกิจสภาผู้บริโภค 2 ปี ใช้งบประมาณคุ้มค่า ยุติเรื่องร้องเรียนให้ผู้บริโภค 358 ล้านบาท กระจายเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ทำงานเชิงรุกช่วยเหลือผู้บริโภคระดับหมู่บ้าน ตำบล ชูเป้าหมายปี 2568 ขยายสมาชิกครอบคลุมทั่วประเทศ กำหนดตัวชี้วัดรับเรื่องร้องเรียน 2 หมื่นต่อพื้นที่
ภัยคุกคามผู้บริโภคในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ได้พัฒนารูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะภัยทุจริตทางการเงิน หรือ Cyber Crime ซึ่งมีทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินออนไลน์ แอปพลิเคชันผิดกฎหมาย รวมไปถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เลียนแบบพฤติกรรม เลียนแบบเสียงจนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ นอกจากภัยที่มากับเทคโนโลยีแล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ทั้งประเด็นเรื่องค่าโดยสารสาธารณะแพง ค่าไฟแพง การหลอกขายคอร์สเสริมความงาม ปัญหาสายการบินที่ล่าช้า ราคาแพง และปฏิบัติกับผู้โดยสารอย่างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตรวมถึงค่าบริการที่ไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น
ด้วยรูปแบบที่รวดเร็วและเหมือนจริงทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากตกเป็นเหยื่อและต้องการความช่วยเหลือแบบรวดเร็ว ทันท่วงที และเข้าถึงผู้บริโภคในทุกพื้นที่ สภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภค จึงยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้รวดเร็วและเป็นเพื่อนผู้บริโภคในรูปแบบดาวกระจายในระดับพื้นที่ในระดับ ตำบล อำเภอและจังหวัดเพื่อใกล้ชิดแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
ผลจากการทำงานที่รวดเร็วทำให้ตลอดระยะเวลา 2 ปี 6 เดือนที่สภาผู้บริโภคช่วยเหลือผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียน ได้สำเร็จคิดเป็นมูลค่าประมาณ 358 ล้านบาท
ขณะที่เฉพาะช่วง 6 เดือนของปี 2567 นับตั้งแต่ปี 1 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคไปแล้ว 7,000 รายหรือคิดเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคประมาณ 37 ล้านบาท
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังได้สนับสนุนนโยบายราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทของรัฐบาล และร่วมกับเครือข่ายจำนวนมากทำให้กรุงเทพมหานครปรับผังเมืองเพื่อสนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงการรณรงค์ในประเด็นการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยของรถยนต์ให้มีความปลอดภัยซึ่งช่วยป้องกันชีวิตผู้ขับขี่ได้มากขึ้น โดยมีผู้ใช้รถยนต์นำรถยนต์ไปเปลี่ยนถุงลมนิภัยได้มากถึง 118,172 ราย
การทำงานของสภาผู้บริโภคจึงยังเน้นเรื่องความรวดเร็ว เข้าถึงปัญหาตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงการกำหนดนโยบาย โดย บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค บอกว่า สภาผู้บริโภค มุ่งมั่นแก้ปัญหา ไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้นในทุกระดับ ดังนั้นทำงานอย่างรวดเร็ว เพราะทุกวินาทีจะมีผู้บริโภคถูกหลอก ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคจึงล่าช้าไม่ได้ เพราะความล่าช้าคือความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
“เราทำงานเน้น เรื่องความฉับไว ทัน เหตุการณ์ เพราะยิ่งล่าช้า ไม่ต่างจากการซ้ำเติมทุกข์ของผู้บริโภค และขณะนี้สภาผู้บริโภคยังมีช่องทางการร้องเรียน โดยเปิดช่องทางสายด่วน 1502 ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้เพื่อการทำงานที่ใกล้ชิดและเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่สภาผู้บริโภคยังมีการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัดทั้งหมด 18 จังหวัด มีหน่วยงานเขตพื้นที่ 4 แห่ง มีสมาชิก 319 องค์กรครอบคลุมทั้งหมด
ขณะที่มีองค์กรสมาชิก 45 จังหวัด โดยผู้บริโภคสามารถไปร้องเรียนในพื้นที่ที่ใกล้บ้าน โดยองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคที่กระจายตัวในพื้นที่ต่าง ๆ จะทำหน้าที่รักษาประโยชน์ของผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยในปี 2567 หน่วยงาน 18 จังหวัดต้องรับเรื่องร้องเรียนให้ได้รวมกันอย่างน้อย 9,000 เรื่อง
หน่วยประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภค จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการทำงานเพื่อเข้าถึงและช่วยเหลือผู้บริโภคได้ทันท่วงที รวมไปถึงการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามในปี 2567 สภาผู้บริโภคตั้งเป้าหมายจะเพิ่มหน่วยประจำจังหวัดให้ครบทั่วประเทศ รวมไปถึงการเพิ่มองค์กรสมาชิกที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่เพื่อให้ได้องค์กรสมาชิกที่มีความเข้มแข็งในการทำงานกับผู้บริโภค ทำให้องค์กรที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภคต้องไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและมีคุณสมบัติทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 2 ปี
องค์กรที่เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภคจึงต้องมีความเข้าใจการทำงานกับผู้บริโภคและตระหนักถึงบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง เนื่องจากปัญหาของผู้บริโภคในพื้นมีจำนวนมากและความหลากหลายรูปแบบที่ต้องการความช่วยเหลือย่างทันท่วงที
อนุวัฒน์ พรหมมา หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำงานกับผู้บริโภคในพื้นที่ บอกว่า องค์กรสมาชิกต้องมีความเข้าใจงานของผู้บริโภค โดยในภาคอีสานมีสมาชิกประมาณ 90 องค์กร ซึ่งหากเทียบกับพื้นที่และปัญหาผู้บริโภคในภาคอีสานยังถือว่ามีสัดสวนที่น้อยมาก แต่การขยายเครือข่ายองค์กรสมาชิกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะองค์กรที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีคุณสมบัติการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
“การที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้บริโภคมีรายละเอียดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุคุณสมบัติชัดเจนว่าองค์กรที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกต้องผ่านการจดแจ้งต่อสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ใครก็มาสมัครเป็นสมาชิกได้ ต้องเป็นองค์กรภาคประชนที่ไม่ทำงานทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น และเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง”
อนุวัฒน์ ยังบอกข้อดีของการมีหน่วยงานประจำจังหวัดและมีเครือข่ายองค์กรสมาชิกเพราะสามารถดำเนินการในระดับพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและชัดเจน เนื่องจากองค์กรสมาชิกจะทำงานในระดับ ตำบล หมู่บ้าน ทำให้การทำงานเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นในการรับเรื่องร้องเรียนและเข้าช่วยเหลือ รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์
“ในภาคอีสานองค์กรสมาชิกทำงานกันอย่างเข้มแข็งมีเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมา จำนวน 1,053 เรื่อง สามารถฟ้องร้อง 3 คดี ซึ่งจำนวนคดีไม่มากเพราะว่ามีกระบวนการเจรจาไกลเกลี่ยซึ่งเป็นบทบาทของสมาชิกและหน่วยงานประจำจังหวัดในการทำงานให้ความช่วยเหลือกับผู้บริโภค”
เช่นเดียว กับการทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ ลาภิศ ฤกษ์ดี หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า สิ่งสำคัญขององค์กรสมาชิกผู้บริโภคที่ต้องกระจายในพื้นที่ เพราะผู้บริโภคต้องการความใกล้ชิดและการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เพราะสถานการณ์ผู้บริโภคถูกหลอกในชนบทเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องสินค้าไม่ตรงปก และอาหารยาและผลิตภัณฑ์ โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้สูงอายุและเยาวชนที่อยู่ในหมู่บ้าน โดยปัญหาเหล่านี้ทำให้องค์กรสมาชิกต้องทำงานแบบเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่มากขึ้น
“หน่วยงานประจำจังหวัด และองค์กรสมาชิกมีความสำคัญมากในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหน่วยประจำจังหวัด มีหัวใจการทำงานคือการเป็นเพื่อนผู้บริโภคที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้น เข้าถึงผู้บริโภคในระดับ อำเภอ และตำบลเพื่อเป็นที่ปรึกษารับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือผู้บริโภค”
ลาภิศ กล่าวว่า การทำงานของหน่วยประจำจังหวัด และองค์กรสมาชิกไม่ได้ทำงานกับผู้บริโภคอย่างเดียว แต่เราทำงานร่วมกันหน่วยงานรัฐ ในจังหวัด เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ เช่นที่ผ่านมา ภาคเหนือทำงานกับขนส่งจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัด เรื่องขนส่งปลอดภัยและการขายยาผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองแบบทั่วถึง
ส่วนภารกิจการทำงานสภาผู้บริโภคที่เป็นก้าวต่อไปในปี 2567 ยังเป็นรูปแบบการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคทำงานกับภาคเอกชนในเรื่องของการควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตมือถือแล้วก็อินเทอร์เน็ตบ้านทั้งในเชิงนโยบายที่ป้องกันการผูกขาดและได้ประสานงานกับบริษัทโทรคมนาคมถึงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่เกิดการปัญหาการบริการ โดย 3 บริษัทใหญ่รับที่จะแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่มาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคภายใน 7 วันซึ่งเป็นความร่วมมือที่สำคัญ
ส่วนการทำงานกับเครือข่ายผู้บริโภคในระดับจังหวัด สารี บอกว่า สภาผู้บริโภคได้ทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่และจะขยายองค์กรสมาชิก และปรับตัวชี้วัดการรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2567 สำนักงานสภาผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัดจะต้องมีจำนวนเรื่องร้องเรียนรวมกันไม่น้อยกว่า 20,000 เรื่อง จากในปีที่ผ่านมามีเป้าหมาย 15,000 เรื่อง
“เราเชื่อว่ายิ่งเราทำงานเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นเรื่องร้องเรียนจะมากขึ้นทำให้ ปี 2567 และในปี 2568 ก็เพิ่มไปตามลำดับ เช่นเดียวกับองค์กรสมาชิกซึ่งปัจจุบันมี 45 จังหวัดและปีนี้ก็คาดหวังว่าจะมีสมาชิก 60 จังหวัด จึงเชิญชวนมาจดแจ้งสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เพื่อ มาทำงานร่วมกัน” สารีกล่าว
ส่วนในเรื่องของการใช้งบประมาณ นางสาวสารี บอกว่า ได้วางแผนการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเพื่อสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายและองค์กรสมาชิกให้เกิดความเข้มแข็งในการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยรูปแบบการจัดสรรงบประมาณของสภาผู้บริโภคต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีส่งไปยังสำนักงบประมาณในการพิจารณา ทำให้งบประมาณที่เสนอไปในแต่ละปีจะได้รับการสนับสนุนตามการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ
สารี อธิบายอีกว่า ในปี 2567 สภาผู้บริโภคได้ของบประมาณไปทั้งหมด 322 ล้าน แต่ได้รับการสนับสนุน 149 ล้าน อย่างไรก็ตาม คาดหวังในปีงบประมาณ 2568 สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณตามที่สภาผู้บริโภคเสนอไปเพื่อที่จะทำให้ทางสภาผู้บริโภคสามารถทำกิจกรรมได้มากเพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคเท่าทันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการที่สมาชิกจะได้เช่วยเหลือผู้บริโภคและทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวในพื้นที่มีความสำคัญจำเป็นมาก
สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเป็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 46 ด้วย ซึ่งรับรองสิทธิผู้บริโภค การรวมตัวของผู้บริโภคเป็นองค์กรผู้บริโภค เพื่อทำให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ ดังนั้นทำให้การมีองค์กรสมาชิกที่เข้มแข็งมีหน่วยประจำจังหวัดเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคได้ทันท่วงที่จึงถือเป็นหลังการคุ้มครองผู้บริโภคที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้