10 ปี แห่งการต่อสู้ของผู้เสียหาย จาก “แคลิฟอร์เนียว้าว “ปิดกิจการหนี ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้ ทรัพย์สิน ที่ ปปง. ยึดได้จากจำเลย เฉลี่ยใช้คืนกับผู้ยื่นคุ้มครองสิทธิ์ แต่ยังต้องลุ้น เพราะฝ่ายคู่ความอาจยื่นร้องค้านไปถึงศาลฏีกา ส่วนผู้ต้องหาคนสำคัญยังล่องหน จนหมดอายุความปีนี้
21 มิถุนายน 2565 คือ วันที่ ศาลอุทธรณ์ พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น” ให้ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดจำนวน 5 รายการ ตามราคาประเมิน 293 ล้านบาท แบ่งนำไปชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายที่ “ยื่นคุ้มครองสิทธิ์” กับสำนักงานป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน( ปปง.) จำนวน 849 ราย รวม 46 ล้านบาท พร้อมดอกผลให้แก่ผู้เสียหาย ในวันที่ได้รับเงินเยียวยาเมื่อคดีถึงที่สุด โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจาก “วันที่ดำเนินคดี” และ นับต่อเนื่องที่ดอกเบี้ย ร้อยละ 5 ตามกฎหมายใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ส่วนมูลค่าทรัพย์สินที่เหลือหลังจากการเฉลี่ยคืนผู้เสียหายให้ตกเป็นของแผ่นดินทั้งหมด
คดีนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับคำร้องจากผู้เสียหาย จำนวน 849 ราย เมื่อปี 2559 จึงเป็นตัวแทนผู้บริโภคนำรายชื่อไปยื่นต่อ ปปง. เพื่อ “ขอคุ้มครองสิทธิ์” และนำ “ทรัพย์” ที่ยึดได้ขายทอดตลาด นำเงินมาเยียวยาผู้เสียหายรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อนำทรัพย์สินที่ยึดมาชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย เป็นการต่อสู้อย่างยาวนาน นับจนถึงปี 2565 รวม 10 ปี ยังไม่มีช่องทางที่ผู้เสียหายจะได้เงินคืนทันที
นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า แม้มีคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ แต่ยังมีกระบวนการที่ฝ่าย ผู้ร้องค้านนั่นคือ “บริษัท ฟิทเนส เอสเตท” และ “บริษัท มัสมั่น วิลล่า“ ซึ่งอาจต้องสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา โดยกระบวนการนี้ศาลให้เวลา 30 วัน ยื่น “คำร้องค้าน” นับจาก 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งกระบวนการระหว่างทางจนถึง วันศาลรับคำร้องไว้พิจารณา จนถึงวันพิพากษาอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี ยังมีใครจำกันได้บ้างกับคดี “ แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส “ เจ้าของคือ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) มีนายแอริค มาร์ค เลอวีนเป็นกรรมการบริษัท ได้เปิดกิจการสถานประกอบการออกกำลังกายตั้งแต่ปี 2543 – 2556 ไม่นานก็ทยอยปิดสาขา ทำให้สมาชิกรายปีและ สมาชิกตลอดชีพ ที่ชำระเงินล่วงหน้าไม่ทันตั้งตัวต้องสูญเงินจำนวนมาก เหตุเกิดเมี่อปี พ.ศ. 2556 มีผู้เสียหายหลายร้อยคน เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงดำเนินการเป็นตัวแทนฟ้องร้อง “คดีฉ้อโกงประชาชน” พร้อมขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐานให้ผู้เสียหาย “ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน” โดยรวบรวมรายชื่อยื่นต่อศาล เพื่อร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งนำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ซึ่งจากข้อมูล ปปง. พบว่าตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2554 นายแอริคทำธุรกรรม โอนเงินไปให้บุคคลอื่นทั้งในและนอกประเทศกว่า 1.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราส่วนถึงร้อยละ 99 ของธุรกรรมทั้งหมด ถึงแม้อยู่ในช่วงกิจการประสบภาวะขาดทุนก็ตาม กระทั่ง 19 มกราคม 2559 ปปง.ได้อายัดทรัพย์สินของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย บ้านพร้อมที่ดินในตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ประมาณ 22 ไร่ มูลค่ากว่า 88 ล้านบาท ( มูลค่า ณ เวลานั้น ) หลังตรวจสอบพบผู้บริหารร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กว่า 1 หมื่นราย มูลค่าเสียหายกว่า 1.6 พันล้านบาท ที่ ปปง.มั่นใจ ก็เพราะว่ามีการโอนเงินจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ ไปซื้อที่ดิน จำนวน 5 แปลง โดยมี “บริษัท ฟิตเนส เอสเตท จำกัด” เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีรายชื่อของนายเอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัทด้วย แม้ต่อมาได้เปลี่ยนกรรมการบริษัท โดยมี “ บริษัท ละติจูด 43 จำกัด“ เป็น “ ผู้ถือหุ้นใหญ่” แต่จากการตรวจสอบพบว่า “มีบุคคลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง ก็คือ นายเอริค มาร์ค เลอวีน “
แต่ผู้ต้องหารายสำคัญใน คดีอาญาคือ “นายแอริค มาร์ค เลอวีน” ยังล่องหน ฝ่ายโจทก์ ไม่สามารถ หาที่อยู่ในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่ง “หมายเรียก” และ “สำเนาคำฟ้อง” ศาลจึงมีคำสั่งให้โจทก์ประกาศ โฆษณาในหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่พบเบาะแสใดๆ กระทั่ง วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาล “นัดสอบคำให้การจำเลย” แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาล จึงมีคำสั่ง “เลื่อนคดี ไม่มีกำหนด” และ “ออกหมายจับ” มีอายุความ 10 ปี พร้อมทั้ง คัดสำเนาหมายจับ ทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและ สำนักงานอัยการ เพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลยโดยต้องจับตัวจำเลยให้ได้เก่อน จึงจะพิพากษาได้แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายในอายุความถือว่าคดีจบลง แต่เนื่องจากคดีนี้ “นับจากการเริ่มกระทำความผิด” ดังนั้น เมื่อนับจากเหตุที่เกิดเมื่อปี 2555 จนถึงปีนี้ 2565 หมายจับ ครบ 10 ปี หมดอายุความ … ความหวังของผู้เสียหาย จากที่ถูกฉ้อโกง จึงหมดหวังเอาตัวคนผิดมาดำเนินคดีในประเทศไทย
นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ คดีอาญา” หากเอกชนยื่นฟ้องตาม “กฎหมายไทย” เปิดโอกาส ให้ “ผู้ต้องหา” มาต่อสู้คดี “ ศาลจึงไม่ดำเนินคดีลับหลังจำเลยได้ จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องหาหลบหนี “
ที่มา :มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค