วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาผู้บริโภคหารือร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ กสทช. เพื่อติดตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 หลายประการ
ภายหลัง กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมบริษัทเครือข่ายมือถือระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู (True) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (Dtac) โดยหนึ่งในเงื่อนไขการกำหนดอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการคือ การเห็นชอบการกำหนดเพดานราคาอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ คำนวณตามแพ็กเกจทั้งหมด หลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทค
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังทรูและดีแทคประกาศควบรวมกิจการเข้าด้วยสำเร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ผู้บริโภคหลายรายพบปัญหาว่า อัตราค่าบริการไม่ได้ลดลงตามมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนด โดยบางรายพบว่า ค่าบริการกลับสูงขึ้นจากเดิมมาก อีกทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังไม่ดีขึ้น และได้มีการให้ข้อมูลกับ กสทช. ถึงปัญหาคุณภาพการให้บริการ รวมถึงเรื่องประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ถูกเปิดเผย
ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาผู้บริโภคจึงขอให้ กสทช. ชี้แจงรายละเอียด และเปิดเผยข้อมูลเงื่อนไข รวมถึงมาตรการเฉพาะแก่ผู้บริโภคต่อไป รวมทั้งขอให้ กสทช. รายงานผลประกอบธุรกิจของบริษัทให้กับ กสทช. ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. ทุก ๆ 6 เดือน ในระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี
ทางด้าน พูลศิริ นิลกิจศรานนท์ รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กสทช. ชี้แจงว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการได้ส่งข้อมูลและรายละเอียดการลดค่าบริการ 12% แล้ว และกำลังจะนำเสนอคณะกรรมการ กสทช. ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 และพร้อมจะเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้บริโภค รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ผู้ประกอบการควรชี้แจงแก่ผู้บริโภค