เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยให้อำนาจธนาคารระงับธุรกรรมได้ทันที ส่วนบัญชีม้าเจอโทษหนักปรับ 300,000 บาท
![](https://consumersouth.net/wp-content/uploads/2023/03/337415785_597045382284543_3633089787916562705_n.png)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่รอช้า ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคทดลองใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมฯ ทันที พบว่ายังมีปัญหา อุปสรรคมาก ทำให้ไม่สามารถคุ้มครองประชาชน ผู้บริโภคได้ทันท่วงที จึงเป็นที่มาของการจัดไลฟ์สด รายการเม้าท์แหลก แตกปมข่าว ชวนคุยกันเรื่อง “พ.ร.ก.ปราบแก๊งค์โกงออนไลน์” ในวันที่ 23 มีนาคม เผยแพร่ทาง Facebook Live แฟนเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินรายการโดยนิชานันท์ ธัญจิราโชติ เพื่อชวนประชาชนพิสูจน์กฎหมายฉบับนี้จะปราบแก้งโกงออนไลน์ได้จริงหรือไม่ (สามารถรับชมย้อนหลังได้ตามลิงก์นี้ :
Live https://fb.watch/jrysDhO5fI/?mibextid=DcJ9fc )
![📍](https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/t86/1.5/16/1f4cd.png)
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ฉบับนี้คือ ผู้เสียหายสามารถโทรแจ้งให้ธนาคาร ระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันที และยับยั้งการโอนเงินทุกธนาคารที่รับโอนเงินต่อ ประชาชนแจ้งความที่สถานีตำรวจใดก็ได้ทั่วประเทศ หรือออนไลน์ก็ได้ ธนาคารระงับบัญชีต้องสงสัยได้เป็นการชั่วคราว ไม่ต้องรอเกิดเหตุ ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตแลกเปลี่ยนข้อมูล ธุรกรรมต้องสงสัยได้รวดเร็ว ผู้เปิดบัญชีม้า ซิมม้า มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300, 000 บาท ผู้เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาบัญชีม้า มีโทษจำคุก 2 – 5ปี หรือปรับ 200,000 -500,000 บาท เกิดระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้เทคโนโลยี AI ตรวจสอบและระบุธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อป้องกัน ตัดวงจรอาชญากรรมก่อนเกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ต้องการใช้สิทธิจริงในฐานะผู้เสียหายของคุณ เบญจวรรณ รัตตกุล ผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าและโอนเงินไปบัญชีปลายทางที่เป็นบัญชีม้ากลับพบว่า เมื่อโทรสอบถามธนาคารเพื่อขออายัติบัญชีปลายทางเจ้าหน้าที่ธนาคารกลับให้เข้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจดตามปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบความถูกต้อง และดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารยังให้ข้อมูลอีกว่า การถูกหลอกให้ซื้อสินค้าและโอนเงินไปยังบัญชีปลายทาง แม้เป็นบัญชีม้าก็ยังไม่เข้าข่ายให้ดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ฉบับนี้คือ โดยย้ำว่าให้เข้าแจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเองโดยตรง วันต่อมาเมื่อคุณเบญจวรรณเข้าไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถอายัติบัญชีปลายทางให้ได้
คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารยังให้ประชาชนดำเนินการตามกระบวนการเดิมที่ให้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจซึ่งเป็นจุดล่าช้าทำให้เงินในบัญชีปลายทางยังคงเคลื่อนไหวได้ และทำให้ติดตามได้ยากซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบัน กรณีการทดลองใช้จากเหตุการณ์จริงของเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตรงกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งการโฆษณาซื้อขายสินค้าออนไลน์ แล้วเจอปัญหาลักษณะนี้มีเยอะมาก ทั้งเฟสบุ๊ค และไลน์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีความห่วงกังวล เพราะกระบวนการ การให้ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความชัดเจน แม้กฎหมายจะผลบังคับใช้แล้ว
“พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค หรือช่วยเหลือประชาชน แต่ยังพบว่ามีปัญหาอยู่มากมาย ส่วนในภาคประชาชน ฝากเตือนประชาชนให้เปิดบัญชีเพื่อประโยชน์ของตัวเอง คนที่เอาบัญชีไปใช้ในทางที่ผิดถือเป็นการสมรู้ร่วมคิด หากประชาชนรู้ตัววันนี้แล้วจึงรีบไปปิดบัญชี”
ปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยี หลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีความหวังว่า พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566จะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อหยุดแก๊งค์โกงออนไลน์ คุ้มครองผู้บริโภคได้จริง เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ จนถึงความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ หากผู้บริโภค ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ 02 248 3737 หรือ Line ID : @Consumerthai