ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว และขอให้เปิดพิจารณาคดีควบรวมทรู-ดีแทคใหม่

สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว พร้อมขอให้เปิดพิจารณาคดีควบรวมทรู-ดีแทคใหม่กับที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองชั้นต้น

สืบเนื่องจากการที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา กรณีขอให้ชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ลงวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคและผู้ฟ้องรวม 5 คนได้ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางเมื่อวานนี้ (วันที่ 16 ธันวาคม 2565)

เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการพิจารณาคำขอให้ศาลออกคำสั่งผิดระเบียบตาม มาตรา 55 วรรคหนึ่ง และมาตรา 57 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 พร้อมกันนั้น ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องใหม่กับที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองชั้นต้น

วันนี้ (17 ธันวาคม 2565) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา กรณีการควบรวม ทรูและดีแทค โดยเห็นว่ากระบวนพิจารณาดังกล่าวอาจขัดต่อระเบียบ เนื่องจากที่ผ่านมาศาลมีคำสั่งยกคำขอดังกล่าวก่อนที่สภาองค์กรของผู้บริโภคจะได้รับคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ร้องสอดทั้งสอง คือ ทรูและดีแทค ดังนั้นจึงทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภค และผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 รายที่เป็นผู้บริโภคที่มีผู้มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสได้ทราบคำชี้แจงและยังไม่มีโอกาสได้โต้แย้งพยานหลักฐานเพื่อนำไปต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เลย

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ทั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ล้วนปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลเรื่องการควบรวมกิจการ ดังนั้น เมื่อศาลยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว จึงหมายความว่าปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวเลย

“กขค. บอกว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมไม่อยู่ภายใต้อำนาจของ กขค. ขณะที่ กสทช. ระบุว่าตัวเองมีอำนาจเพียงรับทราบการควบรวมกิจการเท่านั้น เมื่อทั้ง 2 หน่วยงานปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจพิจารณา ‘ดีลแสนล้าน’ นี้ ประชาชนจึงต้องมาพึ่งพาศาล แต่เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว ก็แปลว่าในประเทศนี้ไม่มีใครมีอำนาจดูแลเรื่องดังกล่าวเลย ทั้งที่การควบรวมกิจการขนาดใหญ่แบบนี้ กระทบกับผู้บริโภคมากขนาดนี้ อย่างน้อยก็ควรมีหน่วยงานหรือใครที่ต้องเข้ามาจัดการได้หรือไม่” สารี ระบุ

สารี กล่าวต่ออีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคยังคงติดตามกรณีการขอรวมธุรกิจของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ที่มีการยื่นขออนุญาตต่อ กสทช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลของการฟ้องคดีปกครองครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับคดีลักษณะเดียวกันที่มีการขอควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และอาจรวมไปถึงกรณีการขอรวมธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งการแข่งขันทางการค้า การผูกขาดเป็นเรื่องที่สำคัญ

ดังนั้นเมื่อคดีนี้อาจเป็นตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานแก่คดีอื่นศาลจึงควรที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานอย่างรัดกุมและรอบคอบ ทั้งนี้ การยื่นคำร้องรวมถึงการคัดค้านการควบรวมกิจการทั้ง 2 กรณี สภาองค์กรของผู้บริโภคมุ่งเน้นประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

ด้าน ทนายสมชาย อามีน ทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมทั้งผู้ฟ้องคดีรวม 5 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่ได้ส่งมาถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค และขอให้ศาลพิจารณาคำร้องวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นไปในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยขอให้พิจารณาคดีโดยที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองชั้นต้น

ทั้งนี้ ทนายสมชาย กล่าวว่า สาเหตุของการขอเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านนั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลได้มีคำสั่งรับคำชี้แจงของ กสทช. ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง และมีคำสั่งรับคำชี้แจงของทรูและดีแทค ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ในฐานะผู้ร้องสอดทั้งสอง

ต่อมาศาลได้มีคำสั่งส่งสำเนาคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองให้ผู้ฟ้องคดีทราบในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 โดยผู้ฟ้องคดีได้รับสำเนาคำชี้แจงดังกล่าวในวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ในขณะที่คำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองยังไม่ถึงผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเลย

ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองกลางได้มีการแจ้งคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาทางอีเมลให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ทำให้ก่อนศาลมีคำสั่งยกคำขอ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่อาจโต้แย้งคัดค้านหรือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ทราบถึงข้ออ้างหรือข้อแย้งในคำชี้แจงคัดค้านคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา

อีกทั้งในการออกคำสั่งยกคำขอดังกล่าว ศาลปกครองมีการรับฟังพยานหลักฐานคำชี้แจงคัดค้านคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและของผู้ร้องสอดทั้งสอง โดยที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าซึ่งเป็นคู่กรณีและเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสทราบและแสดงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้างพยานหลักฐานจากคำชี้แจงคัดค้านคำขอทั้งสองฉบับของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและของผู้ร้องสอดทั้งสอง อย่างไรก็ตามเห็นว่ากระบวนพิจารณาดังกล่าวอาจขัดต่อระเบียบ ดังนั้น จึงมีการยื่นคำร้องดังกล่าวเพื่อให้สภาองค์กรของผู้บริโภคและผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สามารถโต้แย้งและแสดงหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ส่วนเรื่องการ ‘ขอให้พิจารณาคดีโดยที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองชั้นต้น’ นั้น จิณณะ แย้มอ่วม ทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภค อธิบายว่า ประเด็นของการฟ้องคดีปกครองในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่คำสั่งทางปกครองของหน่วยงานรัฐกระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นส่วนรวมและการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม อีกทั้งยังมีข้อเท็จจริงและเอกสารที่ต้องตรวจสอบจำนวนมาก ควรที่จะมีการพิจารณาคดีนี้ในศาลอย่างรัดกุม สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงมีหนังสือไปถึงอธิบดีศาลปกครองกลางเพื่อขอให้พิจารณาคดีนี้โดยที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองชั้นต้น ตามข้อ 94 (1) และ (2) ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เนื่องจากคดีนี้มีลักษณะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมากหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ มีผลกระทบเป็นวงกว้าง

จิณณะ อธิบายเพิ่มเติมว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ มีเอกสารจำนวนมาก และมีประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่เคยมีการตีความมาก่อน ประกอบกับคำพิพากษาในคดีลักษณะนี้ไม่ว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาไปในทางใดทางหนึ่ง คำพิพากษาคดีนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากถึงหลายสิบล้านคน หากได้รับการพิจารณาพิพากษาจากคณะที่ประชุมใหญ่จะทำให้มีความรัดกุมละเอียดถี่ถ้วนทั้งในด้านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

“การที่สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงอธิบดีศาลปกครองกลางเพื่อขอให้พิจารณาคดีควบรวมทรูดีแทคโดยคณะที่ประชุมใหญ่ เนื่องจากเป็นคดีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมคดีแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยและยังส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก และเพื่อให้คณะที่ประชุมใหญ่ได้ใช้เวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ละเอียด ครบถ้วนให้มากขึ้น แต่ศาลใช้เวลาไม่ถึงสองเดือนในการพิจารณาคำฟ้องของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวไป และก็ได้มีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565” จิณณะ ระบุ

นอกจากนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคยังได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกพยานเอกสาร ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารที่เป็น มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม 2561 วาระการประชุม รายงานการประขุมและมติที่ประชุมทั้งรายบุคคลและทั้งคณะของ กสทช. ซึ่งรวมทั้งรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาขน) และบริษัท โทเทิ่ลแอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาทั้งหมด เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาในคำฟ้องและคำร้องขอทุเลาคำสั่งทางปกครอง ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ต่อศาลปกครอง


รับชมการแถลงข่าวย้อนหลังได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค คลิกลิงก์ : https://fb.watch/hsWITpyLVU/?mibextid=cr9u03

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน