ตามที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อมูลที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (DTAC) ออกแพ็กเกจ dtac Safe : บล็อกลิงก์ปลอมจาก SMS หลอกลวง จ่ายเพียงวันละ 1 บาท โดยระบุว่าความรับผิดชอบและการดูแลผู้บริโภคควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการนั้น
ล่าสุด (25 พฤษภาคม 2565) สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา DTAC ได้ส่งหนังสือชี้แจงมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค
โดยระบุว่า แพ็กเกจ DTAC Safe ดังกล่าวเป็นบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าของบริษัทที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต จะทำหน้าที่ในการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีอันตรายร้ายแรง เช่น เว็บไซต์มัลแวร์อันตรายที่หลอกลวงขโมยข้อมูล ปิดกั้นลิงก์ปลอมหรือลิงก์หลอกลวงที่ถูกส่งผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในโทรศัพท์เคลื่อนที่
นอกจากนี้ ยังชี้แจงอีกว่า บริษัทฯ ได้เปิดช่องทางรับแจ้งภัยจากมิจฉาชีพ และข้อความสั้นที่ส่งมาหลอกลวง (SMS) ผ่านช่องทาง 1678 อีกทั้งบริษัทฯ ได้ทำงานประสานกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาการหลอกลวงผ่านทาง SMS และแก๊งคอลเซ็นเตอร์
อย่างไรก็ตาม สุภิญญา กล่าวอีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังยืนยันว่าหน้าที่ในการดูแลและปกป้องผู้ใช้บริการ รวมถึงผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการของ DTAC สมควรได้รับการปกป้อง และไม่ควรต้องเสียเงินเพิ่มตลอดระยะเวลาที่มีสัญญาในการให้บริการ
ปัจจุบัน ปี 2565 DTAC มีลูกค้าใช้บริการรวม 19.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น เติมเงิน 13.4 ล้านเลขหมาย รายเดือน 6.2 ล้านเลขหมาย หากมีผู้ใช้บริการจ่ายเงินใช้ซื้อแพ็กเกจดังกล่าว แค่เพียง 5 ล้านเลขหมาย จะทำให้ DTAC สามารถเก็บค่าบริการจากแพ็กเกจนี้ได้ถึง 150 ล้านบาท
“แม้ DTAC จะแจ้งว่าแพ็กเกจนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ แต่ DTAC ก็ไม่ควรเก็บเงินจากผู้ใช้บริการในค่ายของตนเอง แต่ควรเป็นการใช้งานฟรีเพื่อดูแลและป้องกันให้กับลูกค้า ขณะที่เลขหมาย 1678 ที่ DTAC อ้างถึงนั้น ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้ฟรีแต่กลับต้องจ่ายค่าบริการทุกครั้ง” สุภิญญา กล่าว
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะประสานไปยัง กสทช. เพื่อจัดเวทีหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหา SMS หลอกลวงและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรมาหลอกลวงผู้บริโภค โดยมีการเชิญผู้ให้บริการเครือข่ายที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค