ย้ำ “สิทธิบัตรทอง” จ่ายไม่เกิน 30 บาท สภาผู้บริโภค จับมือ สปสช. แก้ปัญหา ปชช. ถูกเก็บเงินเพิ่ม

สภาผู้บริโภคชี้ การเก็บค่ารักษาพยาบาล ‘สิทธิบัตรทอง’ เพิ่มเติม ทำให้เกิดการรักษาพยาบาลหลายมาตรฐาน เสนอกระทรวงสาธารณสุขกำกับดูแลโรงพยาบาลในสังกัด ด้าน สปสช. ยืนยัน ‘สิทธิบัตรทอง’ ต้องจ่ายค่าบริการไม่เกิน 30 บาท

 

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แถลงข่าวเรื่องความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประชาชนสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing) เป็นปัญหาสำคัญที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จึงอยากเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ทบวงมหาวิทยาลัยที่ดูแลโรงพยาบาลตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ควรมีข้อสั่งการไปถึงโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดของตัวเองเพื่อไม่ให้เรียกเก็บเงินผู้ใช้บริการเกินกว่าอัตราที่กำหนด

เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า การเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนดนั้น ทำให้เกิดมาตรฐานการรักษาพยาบาลหลายมาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนควรได้รับการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“สภาผู้บริโภคมีเป้าหมายที่อยากเห็นว่า ถึงแม้เราจะมี 3 กองทุนในปัจจุบันก็คือ บัตรทอง ประกันสังคม และบัตรข้าราชการ แต่เราก็อยากเห็นว่ามาตรฐานการรักษาเหมือนกันในทั้ง 3 ระบบ เพราะฉะนั้นก็หวังว่าสิ่งที่ได้สะท้อนในวันนี้คงจะได้ยินไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลของรัฐทั้งหลายผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมที่จะทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ยุติการเรียกเก็บเงินกับคนไข้ซึ่งเป็นสาเหตุหรือเป็นต้นต่อที่จะทำให้เกิดการรักษาพยาบาลหลายมาตรฐาน ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สารี ระบุ

สารีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพทั้งหมด 1,778 กรณี เป็นกรณีบัตรทองมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 38.58 หรือ 686 กรณี และส่วนใหญ่เป็นกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บเกินกว่าอัตราที่กำหนด (Extra Billing)  สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ตรงกัน หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้มีการเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มเติมจากผู้ป่วย

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บนั้น เบื้องต้นต้องชี้แจงว่า ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ. 2545 หน่วยบริการสามารถเรียกเก็บค่าบริการสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) กำหนด

ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้ผู้ที่เข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพต้องเสียค่าบริการไม่เกิน 30 บาทต่อครั้ง ยกเว้นผู้ที่รับการยกเว้น ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในภาวะที่สังคมต้องช่วยเหลือเกื้อกูลต่าง ๆ รวมถึงผู้ใช้บริการที่ไม่สะดวกจะจ่ายค่าบริการในครั้งนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของปัญหาการสื่อสารไม่ตรงกัน หรือหน่วยบริการบางหน่วยอาจจะไม่ได้ทราบกติกาที่เปลี่ยนไปของ สปสช. บางครั้งสิทธิประโยชน์ออกมาใหม่ ๆ ก็ตามไม่ทัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน สปสช. มีรายการที่โรงพยาบาลสามารถเบิกได้ประมาณ 5,800 รายการ และจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเป็นระยะ โดยที่จะรับฟังจากผู้เข้ารับบริการและโรงพยาบาลผู้ให้บริการ

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพรับทราบปัญหานี้ และมอบให้ สปสช. เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่ง สปสช. ได้มีการขับเคลื่อน เช่น จัดสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2564 เป็นการปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริการสุขภาพ นอกจากนี้ ปัจจุบัน สปสช. อยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์บริการสำหรับหน่วยบริการ (Provide Center) ซึ่งจะเป็นเหมือนกลไกกลางที่จะรับเรื่องจากหน่วยบริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยบริการและการประสานงานที่รวดเร็ว

“หากสามารถทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและปฏิบัติตามกติกาได้ ก็อาจจะช่วยลดปัญหาเรื่องการเก็บค่าบริการเกินอัตราที่กำหนดลงได้ ขณะเดียวกัน สปสช. จะทำหน้าที่ในการที่จะดูแลเรื่องงบประมาณที่จะสนับสนุนให้กับหน่วยบริการต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ราคาที่เราตกลงกันไว้ล่วงหน้าก็จะเป็นราคาที่หน่วยบริการพอใจ หรือถ้าไม่พอใจอย่างไรก็ต้องมีเวทีพูดคุยเพื่อจะหาแนวทางหรือราคาที่เหมาะสมต่อไป”

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน