อย่ามองข้ามความปลอดภัย “ลาบูบู้” & “อาร์ตทอย” ต้องมี มอก.

เสนอ สมอ. เพิ่มเกณฑ์กำกับดูแล “อาร์ตทอย” ควบคุมความปลอดภัยพวงกุญแจขนนุ่มนิ่มและฟิกเกอร์ พร้อมแนะผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มี มอก. และเป็นร้านค้าที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการได้สินค้าปลอมที่ใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย หรือซื้อของไม่ได้ของ ของไม่ตรงปก

 

จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ตำรวจกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจยึดตุ๊กตาลาบูบู้ และอาร์ตทอยกว่า 100 ตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากตุ๊กตาเหล่านี้ไม่มีเครื่องหมาย มอก. ตามที่กฎหมายกำหนด นำไปสู่การตั้งคำถามจากประชาชนถึงความจำเป็นของการมี มอก. สำหรับตุ๊กตาหรือไม่ จนกระทั่งเลขาธิการ สมอ. ออกมาชึ้แจงเรื่องเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แบบบังคับสำหรับตุ๊กตา โดยระบุว่าไม่ครอบคลุมถึงพวงกุญแจ กับฟิกเกอร์ จึงมีประชาชนบางส่วนที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาว่าตุ๊กตาแบบใดต้องมี มอก. หรือไม่มี นั้น

ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้โทรศัพท์พูดคุยและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับนักวิชาการมาตรฐานของ สมอ. เกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาตุ๊กตา พวงกุญแจ อาร์ตทอย รวมถึงฟิกเกอร์ต่าง ๆ ว่าแบบใดต้องมี มอก. โดยนักวิชาการมาตรฐานของ สมอ. อธิบายว่า หากเป็นตุ๊กตาขนนุ่มนิ่มจะถูกจัดอยู่ในประเภทของเล่นทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องมี มอก.แบบบังคับ โดยไม่ต้องดูวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตและไม่นำเกณฑ์ด้านอายุของผู้ใช้งานมาพิจารณา เนื่องจากตุ๊กตานุ่มนิ่มเหล่านี้ มีลักษณะที่ดึงดูดให้เด็กเล่น แม้ในฉลากจะระบุว่าสำหรับคนอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าเด็กจะไม่เล่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีหน้าตาและลักษณะเหมือนกัน จึงดึงดูดให้นำไปเด็กเล่นหรือกอด

ทั้งนี้ มาตรฐานเกี่ยวกับตุ๊กตานุ่มนิ่มนั้น จะกําหนดเรื่องการทดสอบเกี่ยวกับความปลอดภัยไว้หลายข้อ เช่น วัสดุที่ยัดอยู่ในตุ๊กตาต้องไม่มีของมีคม สิ่งสกปรก เชื้อรา หรือแมลงอยู่ด้านใน เนื่องจากตุ๊กตาเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องกอด หรือสัมผัสอยู่ตลอด หากต๊กตามีส่วนที่เป็นของมีคม หรือมีสิ่งสกปรก ก็อาจทำให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้ใช้งานได้

“นอกจากวัสดุที่ใช้ยัดในตัวตุ๊กตาแล้ว วัสดุที่นํามาทำผิวด้านนอกของตุ๊กตา ก็จำเป็นต้องผ่านการทดสอบสารเคมีอันตราย รวมถึงการลามไฟว่าหากเกิดการติดไฟจะสามารถดับค่อย ๆ ดับไปเอง และไม่ทำให้ไฟลามไปที่อื่น เพื่อป้องกันกรณีที่มีไฟไหมในบ้านเรื่อน หรือกรณีอื่น ๆ ที่มีสะเก็ดไฟหล่นใส่ตุ๊กตา ก็จะมั่นใจได้ว่าเด็กน้อยที่อาจจะกำลังกอดตุ๊กตาจะได้รับความปลอดภัย” นักวิชาการมาตรฐานของ สมอ. ระบุ

นักวิชาการมาตรฐานของ สมอ. อธิบายต่ออีกว่า สำหรับฟิกเกอร์จะมีทั้งที่ต้องมี มอก. และไม่ต้องมี มอก. ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตว่าต้องการผลิตฟิกเกอร์ตัวนั้นสําหรับใคร หากบนบรรจุภัณฑ์ระบุว่าเป็นฟิกเกอร์สําหรับเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี จะเข้ข่ายเป็นของเล่น ต้องมี มอก. แต่ถ้าฟิกเกอร์นั้นระบุว่าสําหรับคนอายุ 15 ปีขึ้นไปก็จัดว่าไม่เข้าข่ายของเล่น

ส่วนพวงกุญแจไม่ต้องมี มอก. เนื่องจากวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตคือ ไว้สำหรับแขวน เพื่อตกแต่งกระเป๋า เพื่อความสวยงามต่าง ๆ จึงไม่จัดเป็นของเล่น ดังนั้นคนที่ซื้อไปก็ต้องใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ผลิตระบุ การนำไปเป็นตุ๊กตาจึงนับเป็นการใช้ผิดประเภท อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาแบ่งประเภทต้องดูด้วยว่าตุ๊กตานุ่มนิ่มที่ติดพวงกุญแจนั้นมีขนาดเหมาะสมหรือไม่ ในกรณีที่เป็นตุ๊กตาตัวใหญ่มากแล้วก็ใส่พวงกุญแจเล็ก ๆ ข้างบนก็จะนับเป็นตุ๊กตา เพราะพิจารณาแล้วไม่สามารถนำมาห้อยหรือแขวนได้จริง

สำหรับกรณีลาบูบู้ที่เป็นพวงกุญแจ ถือว่าเป็นพวงกุญแจ เพราะว่าขนาดผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ได้ใหญ่จนเกินไป ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องแบ่งประเภทอย่างชัดจน เนื่องจากคำว่า “ของเล่น” มีความหมายที่กว้างมาก หากไม่เจาะจงลงไปทุกสิ่งที่อย่างก็จะนับเป็นของเล่นทั้งหมด

“กรณีที่เป็นพวงกุญแจหรือฟิกเกอร์สำหรับผู้ใหญ่ แน่นอนว่าเด็กเล็ก ๆ จะยังไม่ทราบวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง  พ่อแม่จึงต้องเป็นผู้ดูแล และเลือกซื้อของเล่นที่ปลอดภัยและถูกวัตถุประสงค์ให้ลูกเล่น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วยว่าจะเลือกสรรของเล่นให้ลูกอย่างไร” นักวิชาการมาตรฐานของ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

ทางด้าน โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า เห็นด้วยกับการทำงานของ บก.ปคบ. และ สมอ. ที่ออกมาจัดการกับตุ๊กตาลาบูบู้ และอาร์ตทอยที่ผิดกฎหมายและละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากของเล่นเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นเด็กเล็ก จึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุมมาตรฐานของเล่นสำหรับเด็ก

อย่างไรก็ตาม การตีความบางประเด็น เช่น กรณีตุ๊กตาขนนุ่มนิ่มที่ถูกนำไปเป็นพวงกุญแจ หรือกรณีฟิกเกอร์ที่ระบุว่าสำหรับคนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปนั้น อาจะทำให้ทำให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงกับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ยกตัวอย่างกรณีตุ๊กตาลาบูบู้ที่ถูกนำไปเป็นพวงกุญแจ เรามองว่าวัสดุและขนาดทุกอย่างเท่ากับสินค้าที่ไม่ได้ติดพวงกุญแจเลย ซึ่งหากมองในแง่ความเป็นจริงก็มีโอกาสที่เด็กจะนำไปเล่น หรือนำเข้าปาก เช่นเดียวกันกรณีฟิกเกอร์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กเช่นกัน

“หากเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยง แม้วัตถุประสงค์บนฉลากจะเขียนว่าเป็นของสะสม หรือสำหรับคนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความของสะสมจะปลอดภัยทุกชิ้น และมองว่าผู้ใช้งานทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า ดังนั้นมองว่า สมอ. ควรดูแลเรื่องความปลอดภัยของสินค้านั้นด้วย” โสภณระบุ

ทั้งนี้ โสภณมีข้อเสนอเกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาการมีสัญลักษณ์ มอก. สำหรับสินค้ากลุ่มอาร์ตทอย ดังนี้

  1. ขอให้ สมอ. เพิ่มเกณฑ์ในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประเภทพวงกุญแจที่เป็นลักษณะตุ๊กตาขนนุ่มนิ่ม โดยอาจนับรวมเป็นของเล่น หรือแยกเป็นมาตรฐานเฉพาะสำหรับพวงกุญแจที่มีลักษณะขนนุ่มนิ่มก็ได้
  2. สำหรับสินค้าประเภทฟิกเกอร์ สมอ. ควรจะตรวจสอบวัสดุที่นำมาผลิตว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ และมีกฎเกณฑ์ที่จะกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยทั้งสินค้าสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี และสินค้าที่เหมาะสำหรับผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปด้วย
  3. ขอให้ตำรวจและสมอ. มีการสุ่มตรวจสินค้าในกลุ่มที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการขายสินค้าผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

โสภณกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจจะเลือกซื้ออาร์ตทอยแนะนำให้ซื้อจากแหล่งหรือร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และหากเป็นลักษณะตุ๊กตาขนนุ่มนิ่ม เช่น ลาบูบู้ แนะนำให้ซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์ มอก. เพื่อหลีกเลี่ยงการได้สินค้าที่เป็นของปลอม รวมทั้งป้องกันเหตุการณ์ซื้อของไม่ได้ของ ของไม่ตรงปก หรือการหลอกลวงอื่น ๆ ด้วย

สำหรับผู้บริโภคที่พบสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. คู่กับคิวอาร์โค้ด หรือไม่มีเครื่องหมาย มอก. แจ้งเบาะแสไปยัง สมอ. ได้ที่ เว็บไซต์ https://service.tisi.go.th/tisi-webboard/ หรือโทร 02 430 6815 และเมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว สมอ. มีรางวัลนำจับให้

ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ สั่งของไม่ได้ของ  ของไม่ตรงปก สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยเร็วที่สุดหรือแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/ หรือหากได้รับความไม่ปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการสามารถร้องเรียนมายังสภาองค์กรของผู้บริโภคตามช่องทางต่อไปนี้ เบอร์สายด่วน 1502 เว็บไซต์สภาผู้บริโภค www.tcc.or.th ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) @tccthailand อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค อีเมล complaint@tcc.or.th

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน