อ่านฉลาก หวาน มัน เค็ม ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า สิ่งที่ผู้บริโภคต้องคำนึงเกี่ยวกับ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคมารับประทาน ที่นอกจากรสชาติความอร่อยแล้ว คือสารอาหารที่ได้รับ และปริมาณพลังงานที่เหมาะสม เพื่อควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม ไม่ให้มากจนเกินไป แต่ปัญหาที่พบคนส่วนใหญ่ ไม่ทราบว่าจะเลือกอาหารสำเร็จรูป ที่พร้อมบริโภคต้องรับประทานอย่างไร และควรดูปริมาณพลังงานที่เหมาะสมตรงไหน ดังนั้นประโยชน์ของฉลาก หวาน มัน เค็ม จึงเป็นสิ่งที่คนรักสุขภาพควรให้ความใส่ใจ

สำหรับฉลาก “หวาน มัน เค็ม” หรือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts : GDA) คือการแสดงปริมาณและปริมาณสูงสุด เป็นร้อยละของพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ (ถุง ซอง กล่อง) โดยแสดงบนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (front of pack)

โดยฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts : GDA) พบได้ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที 13 กลุ่ม ดังนี้

1.อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอด หรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่ว ทอด หรืออบกรอบ ข้าวเกรียบทอด หรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตหรือเมล็ดพืชทอด หรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือปรุงรส และเนื้อสัตว์ที่ทำเป็นเส้น เช่น ปลาเส้นทอด ปลาเส้นอบกรอบ หรือปรุงรส
2.ช็อกโกแลต และขนมหวานรสช็อกโกแลต
3.ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ หรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้
4.อาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง
5.อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น หรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย
6.เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
7.ชาปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง
8.กาแฟปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง
9.นมปรุงแต่ง
10.นมเปรี้ยว
11.ผลิตภัณฑ์ของนม
12.น้ำนมถั่วเหลือง
13.ไอศกรีมที่อยู่ในลักษณะพร้อมบริโภค

และในแต่ละวันควรจำกัดการบริโภค พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ไม่เกิน 100% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคได้ต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ได้แก่ บริโภคพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี ,น้ำตาล 65 กรัม,ไขมัน 65 กรัม,โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม

“ดังนั้นฉลาก หวาน มัน เค็ม ช่วยให้เราสามารถเลือกรับประทาน ผลิตภัณฑ์อาหารให้เหมาะสมกับความต้องการได้ เช่น หากต้องการควบคุมน้ำหนัก ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่แสดงค่าพลังงานน้อย ๆ หากกังวลเรื่องน้ำตาล หรือเป็นโรคเบาหวาน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อย หากกังวลเรื่องไขมันหรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันน้อย และหากกังวลเรื่องโซเดียม หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคไต ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง นอกจากนี้ยังสามารถเปรียบเทียบ เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน โดยเลือกยี่ห้อที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าและเหมาะสมกับตนเอง”

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน