เช็ก 16 กลุ่มอาการป่วย “สิทธิบัตรทอง” รับยาร้านยาได้

สปสช. จับมือ สภาเภสัชกรรม เพิ่มทางเลือกใหม่ดูแลผู้มี “สิทธิบัตรทอง” บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ ที่ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ครอบคลุมบริการ 16 กลุ่มอาการ พร้อมให้คำปรึกษา รับยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ร้านยาชุมชนอบอุ่น” นับเป็นช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพเบื้องต้นให้กับประชาชนในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงติดตามผู้ป่วยที่บ้านที่มีปัญหาการใช้ยา ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วม จะต้องเป็น ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  คือ เปิดบริการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน มีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดเวลาที่เปิดบริการ และมีเภสัชกรผู้ให้บริการที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ

เพื่อดำเนินกิจกรรมบริการสุขภาพ อาทิ คัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มภาวะโรคเมตาบอลิก, ให้สุขศึกษา ความรู้ แนะนำด้านสุขภาพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล, ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นในการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน โดยทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยบริการประจำในพื้นที่ คลินิกหมอครอบครัว และดำเนินกิจกรรมอื่นที่ อปสข. กำหนด เช่น บริการคลินิกอดบุหรี่ บริการยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เภสัชกรเป็นหนึ่งในผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่มีบทบาทในการร่วมดูแลและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ โดยเภสัชกรส่วนหนึ่งทำหน้าที่ประจำอยู่ในร้านยาที่กระจายอยู่ในชุมชนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่ครอบคลุมดูแลการรักษาพยาบาลคนไทย 48 ล้านคน และครอบคลุมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคนไทยทุกคนหรือทุกสิทธิการรักษาทั่วประเทศ

 

ที่ผ่านมา สปสช. จึงให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับทุกวิชาชีพด้านสุขภาพ รวมถึงเภสัชกรร้านยา เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับบริการสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท ได้อย่างสะดวก ทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานบริการ ตามบริบทของแต่ละวิชาชีพ

ทั้งนี้ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในระบบบัตรทอง 30 บาท ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามที่บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 และในปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรมขยายการให้บริการบัตรทอง 30 บาท ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นเพิ่มเติม โดยเพิ่มบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือ Common Illness

นพ.จเด็จ กล่าวว่า บริการเภสัชกรรมปฐมภูมินี้ จะครอบคลุมการดูแลภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการที่เป็นไปตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม ได้แก่

  • อาการปวดหัว
  • เวียนหัว
  • ปวดข้อ
  • เจ็บกล้ามเนื้อ
  • ไข้
  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • ท้องผูก
  • ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก
  • ปัสสาวะเจ็บ
  • ตกขาวผิดปกติ
  • อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล
  • ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา
  • ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน ซึ่งประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจาก สปสช. ได้สนับสนุนการจ่ายชดเชยให้ร้านยา ทั้งค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ และค่าติดตามอาการและผลการดูแล โดยเหมาจ่ายในอัตรา 180 บาทต่อครั้ง

 

เช็ก 16 กลุ่มอาการป่วย "สิทธิบัตรทอง" รับยาร้านยาได้

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า บริการเภสัชกรรมปฐมภูมินี้ คาดว่าระบบจะมีความพร้อมและให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ โดย สปสช. จะประกาศและแจ้งให้ทราบอีกครั้ง โดยร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ร่วมให้บริการ จะต้องผ่านการอบรมและควบคุมโดยสภาเภสัชกรรม ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 500 แห่งแล้ว

ขั้นตอนรับบริการ

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน

2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช.

หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์

“กรณีที่รับยาจากร้านยาแล้ว เภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล กรณีอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีระบบการจัดการเพื่อส่งต่อเข้าสู่การรักษาต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน