“เด็กต้องไม่ตายเพราะไปโรงเรียน” เรียกร้องออกมาตรการคุมเข้มรถนักเรียน

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ โรงเรียนต้องเป็นจุดจัดการสร้างมาตรฐานการเดินทางที่ปลอดภัย เรียกร้อภาครัฐสนับสนุน ออกมาตรการคุมเข้มรถนักเรียน กำหนดกติกาที่ชัดเจนสำหรับโรงเรียนและพนักงานขับรถ แนะต้องกำกับให้พนักงานขับรถมีการตรวจทานซ้ำ (Double Check) หลังเด็กลงจากรถ – ควบคู่การนำเทคโนโลยีเข้าแก้ปัญหาให้ตรงจุด

 

จากกรณีเด็กนักเรียนถูกลืมบนรถตู้รับ – ส่งนักเรียนที่จอดกลางแดด จนทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกและเสียชีวิต เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น

วันนี้ (2 กันยายน 2565) นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า เหตุการณ์การลืมเด็กหรือนักเรียนไว้ในรถในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นทั้งกับรถรับ – ส่งนักเรียน และ รถส่วนตัวของผู้ปกครอง จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในแต่ละปีมีเด็กหรือนักเรียนถูกลืมไว้บนรถจนเสียชีวิต เฉลี่ยปีละ 1 คน ขณะที่สถิติการลืมเด็กไว้บนรถย้อนหลังประมาณ 5 – 6 ปี มีมากกว่า 130 กรณี

จำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปริมาณมากนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนต้องหาแนวทางจัดการระบบรถรับ – ส่งนักเรียนในทันทีและต้องผลักดันให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัย โดยให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการ และสร้างความร่วมมือนำภาครัฐ ท้องถิ่น ผู้ประกอบการรถรับ – ส่งนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภคอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศมาร่วมกันระดมสมองเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยประเด็นหลักต้องคำนึงถึงการออกแบบรถรับ – ส่งนักเรียน ที่สามารถป้องกันการลืมเด็กไว้ในรถอย่างเป็นมาตรฐาน การกำหนดกติกาที่ชัดเจนสำหรับโรงเรียน พนักงานขับรถ รวมทั้งการจัดอบรมเรื่องความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

“บางครั้งจากความเคยชิน เราจะเหลียวดูเด็กเพียงเสี้ยวเดียว จากนั้นจึงปิดประตูและล็อกรถ โดยคิดว่าเราทำทุกอย่างเหมือนปกติก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์อะไร แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้ว คิดว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันออกกฎ กติกาที่ชัดเจนหากมีการรับเด็กขึ้นรถไปด้วย

อีกทั้งออกมาตรการฝึกให้พนักงานขับรถหรือพนักงานดูแลประจำรถมีการตรวจทานซ้ำ (Double Check) เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบทั้งเด็กและสิ่งของที่ตกค้างไว้ในรถได้ ซึ่งต้องรวมถึงการกำหนดการออกแบบรถที่มองผ่านเข้าไปได้ง่าย ไม่มืดทึบ หรือให้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหา เช่น ระบบสัญญาณเซ็นเซอร์เพื่อจับความเคลื่อนไหวในรถ หรือปุ่มส่งสัญญาณฉุกเฉินที่ติดตั้งไว้ภายในตัวรถ เพื่อให้เด็กสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้” นายแพทย์อนุชา กล่าว

ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ลืมเด็กในรถนักเรียนเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งในประเทศที่เคยผ่านปัญหาในลักษณะนี้มีการหาแนวทางการจัดการเพื่อคุ้มครองเด็กจากความไม่ปลอดภัย

ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการออกแบบรถรับ – ส่งนักเรียนเพื่อให้ท้องถิ่นหรือเอกชนนำไปใช้ และมีการปฏิบัติตามกติกาที่รัฐกลางกำหนด เช่น พนักงานขับรถต้องเดินตรวจทานซ้ำเพื่อตรวจสอบว่ามีเด็กหรือสิ่งของตกค้างอยู่หรือไม่ อีกประเทศหนึ่งที่เข้างวดเรื่องคือประเทศญี่ปุ่นที่มีการใช้รถตู้มารับส่งนักเรียน และพยายามทำให้รถโปร่งแสงมากที่สุด โดยใช้กระจกใส มีสัญญาณเซ็นเซอร์ เมื่อรถจอดสนิทประตูทั้งซ้ายและขวาจะเปิดออกเพื่อให้พนักงานขับรถตรวจสอบได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นต้น

ขณะที่ในประเทศไทยมาตรฐาน และความรับผิดชอบของบริการรถรับ – ส่งนักเรียนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่จะมากระทบกับการให้บริการ เช่น เมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด – 19 หรือช่วงโรงเรียนปิดเทอม หรือ เมื่อจำนวนนักเรียนน้อยลง ที่ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ทำให้เกิดการบริการที่บกพร่อง หรือในบางกรณีจะพบว่าครูประจำโรงเรียนซื้อรถตู้มารับส่งนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วยตัวเอง ซึ่งอาจทำให้การบริการรับส่งนักเรียนไม่ได้มาตรฐานและก่อให้เกิดอุบัติเหตุตามที่เห็นในข่าวอยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้น จึงเห็นว่าการสร้างความร่วมกับหลายภาคส่วน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ทำให้ผู้ให้บริการรู้สึกว่ามีที่พึ่ง มีแหล่งเรียนรู้ และสามารถประกอบกิจการรถรับ – ส่งนักเรียน ที่มีคุณภาพ และสร้างความมั่นใจได้ว่านักเรียนจะเดินทางไปถึงโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ การผลักดันให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำให้รถรับ – ส่งนักเรียนมีมาตรฐานความปลอดภัยจะช่วยทำให้ภาระกิจนี้สัมฤทธิ์ผล เพราะหากทิ้งภาระให้ผู้ประกอบการดำเนินการเพียงลำพัง จะมีโอกาสที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดิมซ้ำได้

ที่ผ่านมา มีกรณีตัวอย่างความร่วมมือกันสร้างมาตรฐานบริการรถรับ – ส่งนักเรียนที่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นที่เชียงราย โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการรถรับ – ส่งนักเรียนในจังหวัดเชียงราย รวมตัวกันเป็นชมรม ออกแบบและผลิตรถรับ – ส่งนักเรียนที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสำหรับนักเรียน รวมถึงต้นแบบการพัฒนาระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 9 ด้านให้กับโรงเรียนเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ที่เป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ท้องถิ่น โรงเรียนและผู้ปกครอง ใน 33 จังหวัดของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น พะเยา สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ฉะเชิงเทรา และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

จากบทเรียนของความสูญเสีย สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนให้ทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนี้

1. สนับสนุนการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษาด้วยการนำระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียน 9 ด้าน จากการทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมเป็นองค์ประกอบและแนวทางปฏิบัติให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษา

2. กำหนดบทบาทหน้าที่ให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ให้งานความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนเป็นแผนหลักของโรงเรียน พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน

3. ปรับปรุงระเบียบหรือข้อกฎหมาย หรือแนวทางปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงคมนาคมให้มีความสอดคล้องสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

4. สนับสนุนกลไกการจัดการและมาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับผู้บริหารโรงเรียน และควรกำหนดเป็นเกณฑ์ประเมินของผู้บริหารโรงเรียนในการจัดการความปลอดภัยของนักเรียน ตลอดจนการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย

5. สนับสนุนให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัด โดยให้กำหนดโครงสร้างที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนทำงาน ที่ประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานท้องถิ่น และนักวิชาการ เป็นต้น

 

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน