สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ใช้ชื่อว่าคุณจีน่า ที่ถูกชักชวนให้ซื้อสินค้าเสริมความงามไม่เหมาะสม เธอเล่าว่าขณะที่เดินผ่านบูธขายผลิตภัณฑ์ความงามยี่ห้อหนึ่งในห้างสรรพสินค้า และพนักงานได้เรียกให้ทดลองสินค้าและเมื่อได้ทดลองก็มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว จำนวน 2 ชิ้น จึงรูดบัตรเครดิตซื้อมาเป็นจำนวนเงิน 6,375 บาท และได้ฝากผลิตภัณฑ์ไว้ที่บูธก่อน ต่อมาเมื่อเข้าไปรับผลิตภัณฑ์ มีพนักงานของบูธ 3 – 4 คน เข้ามาเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเสนอให้คุณจีน่าทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น การมาส์กหน้าหรือเครื่องมือนวดหน้า
และระหว่างนั้นพนักงานมีการหยิบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้คุณจีน่าทดลองใช้งาน และยังใช้วิธีชักชวนกล่อมจนคุณจีน่าคล้อยตามไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจ จนสุดท้ายได้ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าอีก 2 ครั้งในยอด 70,000 บาท และยอด 29,999 บาท รวมทั้งบิลรอบแรกเป็นเงิน 106,374 บาท
ในวันต่อมาคุณจีน่าได้ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต และพบว่าผลิตภัณฑ์ที่รูดซื้อมามีการในขายราคาสูงเกินจริง ต่างจากราคาในอินเทอร์เน็ตเป็นเท่าตัว อีกทั้งยังมีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยที่มีพนักงานบริษัทจำนวน 3 – 4 คน หว่านล้อมให้ทดลองสินค้าและซื้อสินค้า ดังนั้น คุณจีน่าจึงเข้ามาร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค
หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้แก้ไขปัญหาโดยการเชิญผู้ประกอบการมาร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกับคุณจีน่า และให้สองฝ่ายได้คุยปัญหาของแต่ละฝ่าย ฝั่งคุณจีน่าแจ้งความประสงค์ชัดว่าต้องการคืนสินค้าและขอเงินคืนในจำนวน 2 บิล ที่ซื้อครั้งหลัง ยอด 70,000 บาท และยอด 29,999 บาท รวมเป็นเงิน 99,999 บาท ท้ายที่สุดแล้ว คุณจีน่าได้รับเงินคืน 99,999 บาท และได้คืนสินค้าให้กับ อีกทั้งบริษัทฯ ระบุว่ายินดีที่จะปรับปรุงวิธีการขายและการบริการต่อไป
สำหรับผู้บริโภคที่พบเจอเหตุการณ์ในลักษณะข้างต้น เบื้องต้นสภาองค์กรของผู้บริโภคแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ถูกหลอกขายหรือถูกชักจูงให้ซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่เหมาะสม ดังนี้
1. เมื่อซื้อสินค้าและสงสัยในราคาของสินค้านั้น ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคาเบื้องต้นผ่านทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ของสินค้านั้น ๆ รวมถึงเปรียบเทียบราคาในหลาย ๆ ร้าน หากพบว่าราคาสูงเกินจริงผู้บริโภคต้องติดต่อสอบถามไปยังร้านค้าที่สั่งซื้อเพื่อสอบถามว่าราคาที่สูงนั้นเพราะเหตุใด
2. หากยังมีข้อสงสัยในราคาสินค้า สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแล กำกับ ควบคุมราคาสินค้า โทรศัพท์ 0 2507 5530 หรือ สายด่วน 1569
3. ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญา โดยระบุเหตุผลว่า ‘การเข้าซื้อสินค้าหรือบริการถูกจูงใจ ชักชวนในลักษณะบังคับหรือชักจูงให้ซื้อสินค้าหรือบริการโดยไม่เป็นธรรม ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค’ และขอเงินคืนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522* ทั้งนี้ การส่งหนังสือให้กับร้านค้าจะต้องส่งโดยไปรษณีย์ตอบรับ และจะต้องเก็บหลักฐานใบตอบรับไว้ด้วย
4. หากไม่ได้รับการตอบกลับหรือได้รับการตอบกลับ แต่บริษัทฯ หรือร้านค้า ไม่ตอบรับข้อเสนอตามหนังสือบอกเลิกสัญญา ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือสภาองค์กรของผู้บริโภค ตามช่องทางดังต่อไปนี้