แคมเปญผู้บริโภคที่รัก ชี้คะแนนการสำรวจนโยบายสาธารณะฯ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสูงขึ้น ย้ำพลังเสียงผู้บริโภคมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจห้างค้าปลีกฯ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?”

แคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทย จัดงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” เผยภาพรวม ของการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เปิดเผยต่อสาธารณะของผู้ประกอบการ ซูเปอร์มาร์เก็ต 8 รายใหญ่ของไทย มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในทุกหัวข้อตัวชี้วัด ชี้ให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคที่มีผลต่อการ พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขการดำเนินกิจการของซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น พร้อมร่วมเผยมุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ จากผลคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้อย่างเจาะลึก โดยหมอตั้ม – นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข เซเลบริตี้เชฟชื่อดัง ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ

          คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อผู้บริโภค สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่แคมเปญผู้บริโภคที่รักจึงมีการจัดทำ รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผย ต่อสาธารณะ” ซึ่งถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วในปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาพรวมในเชิงสถิติมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตลอดทุกปี โดยหลักเกณฑ์การประเมินในปี 2564 แบ่งออกเป็น 7 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิด, นโยบายแรงงาน, นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย, นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายด้าน ความปลอดภัยทางอาหาร และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทย 8 ราย ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์, ซีพี เฟรชมาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต”

            ผลจาก “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” พบว่า ภาพรวมของคะแนนการประเมินเฉลี่ยในทุกตัวชี้วัดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกหลายรายได้ประกาศนโยบาย ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น มีการประกาศนโยบายการจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โดยเมื่อรวมคะแนนทั้ง 7 ตัวชี้วัด โลตัสได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 35.83 คะแนน จาก 165 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.72 บิ๊กซีตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.54 และซีพี  เฟรชมาร์ท ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12

สำหรับหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนมากที่สุด คือ หมวดสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 25.54% ขณะที่หมวดเพศ เป็นหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนน้อยที่สุด ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 3.00% โดยมีเพียง โลตัส ท็อปส์ และแม็คโครที่ได้คะแนนบางส่วน ในหมวดนี้

oxfam infogtaphic5

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบคะแนนค่าเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกในปี 2561 (หมวดด้านสังคม) และ ปี 2562 (หมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค) จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยหมวดด้านสังคม คะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.58% ในปี 2561 เป็น 5.45% ในปี 2564 ส่วนหมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเพิ่มจาก 5.79% ในปี 2562 เป็น 13.29% ในปี 2564

info-เสียงผู้บริโภค-พัฒนาซูเปอร์ฯ-ได้เห็นๆ.jpg

“โดยการประเมินในครั้งนี้ เป็นเพียงเส้นทางที่จะยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใดบ้างที่กำลังเดินหน้าอยู่ในเส้นทางนี้ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพลังของผู้บริโภคในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นกระจกสะท้อนไปยังผู้ประกอบการ และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Movement) นำไปสู่สัญญาประชาคม (Social Commitment) ที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งการต่อยอดสิ่งที่ ทำได้ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขในจุดที่บกพร่องเพื่อสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่ อุปทานอาหารของเรา” คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ กล่าวเสริม

ในส่วนของมูลนิธีชีววิถี ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดย คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยากล่าวว่า “หลายๆ ปีที่ผ่านมามูลนิธีชีววิถีมีความมุ่งมั่นในการ สร้างการรับรู้เรื่องผลกระทบต่าง ๆ เกี่ยวกับอาหารผ่านแคมเปญ “กินเปลี่ยน โลก” ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยในอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาแวดล้อมในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นที่มา และกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการเพาะปลูก การเลี้ยง การขนส่ง การแปรรูป การจัดจำหน่าย ที่สามารถสร้าง ผลกระทบตามมาหลังจากการบริโภค เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตถือเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในวงจรของการอุปโภค บริโภค ที่ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของบริษัทเอง รวมถึงการคัดเลือกสินค้า ผู้ผลิต และคู่ค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และคุณธรรม จริยธรรมทางสังคมได้มากที่สุด ซึ่งการ “รายงานการประเมิน นโยบายและแนวทาง ปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” ถือเป็นตัวชี้วัด ที่จะช่วยเพิ่มข้อมูลข่าวสาร และสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีนโยบายและแนวทางในการดำเนินกิจการที่สอดคล้อง กับความต้องการ และอุดมการณ์ ของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น”

ด้านคุณทัศนีย์ แน่นอุดร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “พลังของ ผู้บริโภคมีส่วนอย่างยิ่ง ในการกำหนดนโยบายของ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยิ่งผู้บริโภค มีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ยิ่งมีพลังในการ ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต หันมารับฟังได้ง่ายขึ้น การออกนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ เป็นสิ่งที่ ซูเปอร์มาเก็ตทำอยู่แล้วแคมเปญของเราแค่เป็นการกำหนดกรอบและนำเสนอผลคะแนนจากการประเมินเพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ต ตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจน และนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของ ตนเองได้รวดเร็วและตรงจุด มากขึ้น ซึ่งจากผลคะแนนที่ปรากฏในปีนี้ทางแคมเปญผู้บริโภคที่รัก อยากขอเรียกร้องให้ ผู้ประกอบการค้าปลีกให้ความสนใจมิติด้านความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเรื่องเพศและสตรีมากขึ้น ในส่วนมิติด้านอาหารปลอดภัย ขอให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ ในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งถือเป็นแน้วโน้มที่ดีที่ปัจจุบัน มีห้างค้าปลีก หลายแห่งกำลังพัฒนาหรือนำไปใช้แล้วแต่ยังมีปัญหาในด้านการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอาจไม่ครบถ้วน จึงขอให้ห้างค้าปลีกมีการ เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะมากขึ้น เช่น ข้อมูลของคู่ค้า, แหล่งการผลิต ครอบคลุมไปยังอาหาร ประเภทต่างๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้น”

นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข หรือหมอตั้ม เซเลบริตี้เชฟชื่อดังในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคให้ความเห็นว่า “ในอดีตที่ผ่านมาผู้บริโภคอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องของนโยบายและแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบการค้าปลีกมากเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีการไปใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เป็นประจำในฐานะของเชฟ แต่หลังจากรับฟังการเปิดเผยผลคะแนนในวันนี้ ทำให้ทราบว่า ที่มาของอาหารสามารถสร้างผลกระทบได้ต่อหลายภาคส่วนได้มากมายจริงๆ นอกเหนือจากแง่มุมของความปลอดภัยของอาหาร หลังจากนี้ผู้บริโภคอาจจะต้องมองให้รอบถึงปัจจัยต่างๆ ในการใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตนอกเหนือ จากปัจจัยด้านความสะดวก เรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ความโปร่งใสของข้อมูล และที่มาของอาหารก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ ในเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ซึ่งหากทุกคนให้ความสำคัญสิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดเป็นพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทาง ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยโดยรวมอย่างแน่นอน”

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวิดิโอจากงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” ย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้บริโภคที่รัก

 

ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน