‘องค์กรผู้บริโภค’ ชี้ ผู้มีกำลังซื้อน้อยถูกปิดกั้น ”โปรลับ” กลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เรียกร้อง กสทช. เข้ามากำกับดูแลให้ ผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นธรรม
“โปรลับ” เป็นโพรโมชันของค่ายโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ด้วยการให้สิทธิพิเศษเฉพาะลูกค้าที่มีกำลังจ่ายราคาแพง เช่น แพคเกจ 4G ราคา 1,029 บาท ต่อเดือน แต่ ”โปรลับ”ได้ราคาถูก 529 บาท ต่อเดือน เท่ากับได้ราคาลดถึง 50 เปอร์เซ็นต์
เภสัชกรหญิงชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ผู้ที่มีกำลังจ่ายมากย่อมมีอำนาจต่อรอง ส่วนคนที่มีกำลังจ่ายน้อยซื้อแพคเกจได้แค่เดือนละ 100 -200 บาท นอกจากไร้อำนาจต่อรอง ไม่ได้ส่วนลด ยังถูกแย่งช่องทางของสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ กลุ่มที่ซื้อแพ็กเกจแพงแต่ได้ส่วนลด เหมือนรถวิ่งไปบนถนนโล่งที่เปิดทางให้ทะยานไปด้วยความเร็วสูง แต่กลุ่มที่ซื้อแพ็กเกจต่ำไม่มีทางจะวิ่งแซง เพราะยิ่งจ่ายเงินน้อยสัญญาณยิ่งต่ำ เข้าถึงยาก
ถือเป็นประเด็นหลักที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพราะจ่ายแพงจึงได้ส่วนลด แต่จ่ายน้อยกลับไม่ได้ราคาส่วนลด ทำให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต้องซื้อรายวัน หากเทียบให้เห็นชัด ๆ คนที่ซื้อสินค้าราคาส่ง จะได้ของถูก ส่วนคนที่ซื้อปลีกจะได้ของแพง ซึ่ง คนจน คนกลุ่มเปราะบาง ต้องซื้ออินเทอร์เน็ตแบบรายวัน นี่คือสถานการณ์ของปัญหาของ ”ส่วนลด” ที่ค่ายมือถือให้เฉพาะกลุ่มที่มีกำลังจ่ายแพง
ทางผู้ประกอบการเครือข่ายมือถือพยายามทำให้มี “ส่วนลดเฉลี่ย” หมายถึง “ถัวเฉลี่ยลด” นั่นคือ เอาลูกค้าที่มีกำลังจ่ายมาหารเฉลี่ย แต่ในข้อเท็จจริงผู้บริโภคทุกคนต้องมีสิทธิ์ได้ส่วนลดค่าบริการอย่างเท่าเทียมกัน
อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา ยังบอกอีกว่า เวลานี้ยังเจอประเด็นที่ผู้บริโภคดูเหมือนถูกค่ายมือถือบังคับกลาย ๆ ให้ใช้เครือข่าย 5G เพราะค่าบริการสูงกว่า ซึ่งแพ็กเกจนี้ น่ากลัว เพราะแม้มีความเร็วมากกว่า 4G ถึง10 เท่า แต่กลับหมดเร็วมาก หากไม่เลือก Unlimited แล้วเปิดไปใช้งาน YouTube หรือ สตรีมมิง คอนเทนต์ ต่าง ๆ รับรองว่า อินเทอร์เน็ต ไม่เหลือไว้ใช้งานจนถึงสิ้นเดือนแน่นอน อีกทั้ง เสาสัญญาณ 5G ยังไม่ครอบคลุม ใช้ได้แค่บางพื้นที่ แถมยังต้องซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ที่สเป็กสูงราคาแพงเพื่อใช้รองรับ 5G สำหรับใช้งานใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ให้การเชื่อมต่อไม่ติดขัด แต่หากผู้บริโภคมีพฤติกรรมใช้งานระหว่างวัน ใช้ทั่วไป เล่นเกม หรือ เล่นโซเชียล การใช้งานแบบนี้เหมาะกับ 4G มากกว่า แถมราคาแพ็กเกจถูกกว่า ซึ่งจากหลายประเด็นปัญหาข้างต้น จึงสะท้อนถึงความไม่จริงใจ ของ กสทช. ในการกำกับดูแลค่ายโทรศัพท์มือถือ
ดังนั้น องค์กรผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. เข้ามากำกับดูแลให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ให้นักเรียน นักศึกษา หรือ กลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ตามข้อกำหนดของ กสทช. ที่ต้องจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ “USO “ Universal Service Obligation รวมถึง กำกับดูแลคุณภาพอินเทอร์เน็ต เพราะหลังจากควบรวม TRUE- DTAC มีผู้บริโภคร้องเรียนเจอปัญหาถูกลดความเร็ว ทั้งที่ซื้อแพคเกจแพงขึ้น แถมตอนนี้อินแทอร์เน็ตบ้านเริ่มได้รับผลกระทบ จากที่มีข่าว AIS เตรียมควบรวม 3BB
ที่สำคัญต้องกำกับนโยบายไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายใช้งาน ข้อมูล (DATA ) ของลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสม ตามนโยบาย Fair Usage Policy (FUP) เนื่องจากมีการใช้เน็ตไม่จำกัด 3G/4G ไปใช้งานอย่างอื่น ได้แก่ บิตทอร์เรนต์ ( Bit Torrent ) แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยกันโดยตรง ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต, ใช้มือถือเป็นโมเด็ม แชร์เน็ต, ต่อแอร์การ์ด แชร์เน็ต ซึ่งล้วนเป็นตัวการทำให้เน็ตช้าลง ส่งผลกระทบให้ผู้ใช้เน็ตจำนวนมาก
ในส่วนของการใช้งบฯ USO ต้องให้เกิดประโยชน์ในกลุ่มคนเปราะบาง โดยเฉพาะเราได้ผ่านวิกฤติ Covid-19 ทำให้เด็กต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ปัญหาเด็กเข้าไม่ถึงเครื่องมือเช่น แท็บเล็ตที่เหมาะกับการเรียนก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การเข้าถึงเน็ตเป็นเรื่องที่กสทช. ต้องเร่งลดความเหลื่อมล้ำและดำเนินการเร่งด่วน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกกลุ่มที่จะเข้าถึง ในส่วนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เตรียมหารือกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม