จับมือ คกก.กู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา เดินหน้าลดอุบัติเหตุทางถนน ดัน ‘รถรับส่งนักเรียนต้องปลอดภัย’

สภาผู้บริโภค หารือคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เห็นพ้องผู้บริโภคต้องได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย เดินหน้าผลักดันมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ลดอุบัติเหตุทางท้องถนน – รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย พร้อมเสนอติดตามความคืบหน้าการปรับเกณฑ์คัดแยก PA สิทธิ UCEP ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินสีเหลือง และกำกับราคาค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล โดยขอให้มีคิดราคากลางตามจริงตามที่ สปสช. กำหนด

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ประกอบด้วยบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ ฐิติพัฒน์ ไทยจงรักษ์ อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ และอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ร่วมประชุมกับสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ในการประชุมสัญจร ของคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ครั้งที่ 31/2566

เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านขนส่งยานพาหนะและความปลอดภัยทางถนน อาทิ ความร่วมมือการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ความร่วมมือการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ผู้บริโภค หลังที่ผ่านมาเกิดกรณีอุบัติเหตุบนท้องถนน และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ยังพบว่าการชดเชยเยียวยานั้นก็ยังไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร

ตัวแทนอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ได้อธิบายถึงภาพรวมการขับเคลื่อนงานขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมของผู้บริโภค ที่สภาผู้บริโภคกำลังดำเนินการอยู่ว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคกำลังผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดอัตราค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคต้องเดินทางหลายต่อกว่าที่จะถึงจุดหมาย อีกทั้งค่าโดยสารของแต่ละขนส่งสาธารณะยังมีราคาที่สูงเกินควร ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง

นอกจากนี้จากการสำรวจและศึกษาพบว่าขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศต้องเดินหลายกิโลกว่าจะพบกับขนส่งสาธารณะ ดังนั้นสภาผู้บริโภคจึงพยายามผลักดันการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้กับผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร (500 เมตร) หรือเดินไม่เกิน 15 นาที

รวมถึงผลักดันถึงประเด็นความปลอดภัยในการการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ลงพื้นที่บริเวณการก่อสร้างถนนพระราม 2 และพบว่าไม่เพียงแต่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยบริเวณนั้นได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมจากการถูกปิดกั้นทางไหลของน้ำ ฝุ่นจากการก่อสร้าง เป็นต้น

ตัวแทนอนุกรรมการด้านการขนส่งฯ เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคยังได้มีการผลักดันนโยบายเกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียน โดยสนับสนุนการจัดการให้เกิดโรงเรียนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนในระดับจังหวัด โดยเห็นว่า ‘ระบบการศึกษาจะต้องรวมถึงการเดินทางของเด็กในการเดินทางไปโรงเรียนและรัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิของเด็กเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย’ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีการทำงานในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการทำงานเป็นภาคีขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

โดยได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาโรงเรียนต่าง ๆ ให้เกิดระบบการจัดการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับโรงเรียน ทั้งหมดกว่า 168 โรงเรียนใน 33 จังหวัด แบ่งเป็นโรงเรียนที่สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้จำนวน 20 โรงเรียน โรงเรียนที่สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบจำนวน 142 โรงเรียน และโรงเรียนที่สามารถนำร่องได้จำนวน 6 แห่ง

โดยมีการนำข้อมูลการจัดการเชิงระบบที่ได้จากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางท้องถนน ของกระทรวงมหาดไทย (Road Safety Thailand) มาพัฒนา 9 องค์กรประกอบการจัดการรถรับรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย และที่ผ่านมาได้เข้าพบผู้ตรวจการแผ่นดินและยื่นข้อเสนอการจัดระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเพื่อให้เกิดระบบจัดการความปลอดภัย รวมทั้งหาแนวทางการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงาน สภาผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นอกจากการผลักดันนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคข้างต้น สภาผู้บริโภคได้มีการจัดทดสอบและผลักดันนโยบายมาตรฐานระบบเบรกห้ามล้อรถจักรยานยนต์ปลอดภัย (เอบีเอส ABS – ซีบีเอส CBS) ในรถจักรยานยนต์ และได้หารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพื่อให้เดินหน้าจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกห้ามล้อที่มีขนาดต่ำกว่า 125 ซีซีตามกำหนดการเดิม คือ 1 มกราคม 2567 เนื่องจากระบบเบรกแบบเอบีเอสและซีบีเอสได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถปกป้องชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ในระดับสากล หากจำหน่ายตามกำหนดการเดิมจะประโยชน์กับผู้บริโภคที่จะได้ใช้ระบบเบรกที่มีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการขับขี่และช่วยลดอุบัติเหตุให้ลดลงได้อีกด้วย

นอกจากนี้สภาผู้บริโภคได้ติดตามนโยบายการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นมินิบัส ส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านโดยการสนับสนุนของรัฐ รวมถึงการสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้งานรถโดยสารสองชั้นในเส้นทางเสี่ยง และผลักดันการใช้สัญญามาตรฐานเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง (รถทัศนศึกษา) ให้กับโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้ยื่นข้อเสนอและแนวทางความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ให้แก่คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน ดังนี้ 1. การเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการนำรูปแบบองค์ประกอบ การจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 9 ด้าน เป็นแนวทางหลักในการจัดการรถรับส่งนักเรียน 2. การจัดให้มีรถรับส่งนักเรียนที่มีมาตรฐานความปลอดภัย 20,000 คัน ทั่วประเทศภายใน 2 ปี โดยการสนับสนุนของรัฐ เช่น การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวแบบดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับปรุงสภาพรถ การลดหย่อนภาษีรถยนต์ประจำปี หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและสมัครใจแบบคนละครึ่ง 3. เสนอให้แก้ไขทบทวนระเบียบหรือข้อกำหนดการใช้เงินงบประมาณของกองทุนความปลอดภัยให้สามารถนำมาสนับสนุนการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย และ 4. ขอให้สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณด้านการเดินทางและบริหารจัดการระบบความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนในสังกัด

ท้ายสุด เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า อยากเห็นการปรับเชิงลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและทำให้เกิดการป้องปรามได้ แม้จะมีประกันชั้นหนึ่งแต่ยังเกิดปัญหาอุบัติเหตุอยู่อย่างต่อเนื่องและผู้ที่ได้รับความเสียหายยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือได้รับการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม โดยได้ยกตัวอย่างการชดเชยเยียวยาคนที่มาชุมนุมในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้ชดเชยเยียวยาถึง 7.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการผลักดันความรับผิดต่อบุคคลที่ 3 นั่นเอง

ขณะที่คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ได้มีการแลกเปลี่ยนและรับข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปหารือต่อ โดยบางข้อเสนอนั้นเป็นสิ่งที่คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฯ กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฯ ระบุว่า หลังจากนี้จะนำข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไปแลกเปลี่ยนกับกรรมการเพื่อทำให้การเดินทางของผู้บริโภคมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องรถรับส่งนักเรียนที่เห็นว่าควรนำวิธีการบริหารจัดการเข้าไปใช้แก้ไขปัญหารถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย และเห็นว่านโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่จะเพิ่มอัตราอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียนมากขึ้น เพราะเด็กนักเรียนจะต้องเดินทางไกลขึ้น

ทั้งนี้ สุรชัย ระบุอีกว่า ในช่วงปี 2566 นั้นมีสถิติมีผู้เสียชีวิตสะสมถึง 10,750 ราย บาดเจ็บ 606,183 ราย (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566) ซึ่งเหตุการณ์และตัวเลขของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุบนถนนนั้นลดลงกว่า 2565 ไปเป็นจำนวนน้อย ดังนั้นจึงต้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงต้องเร่งบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเด็ดขาดมากยิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน

“ที่ผ่านมาปัญหาอุบัติเหตุและจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน และเราเสียในสิ่งที่ไม่ควรสูญเสีย ดังนั้นจึงเห็นว่าความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรภาคประชาชน จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันและแก้ไขปัญหาเพื่อลดอุบัติเหตุลงได้ อีกทั้งเห็นว่าผู้บริโภคที่ได้เข้าไปใช้บริการขนส่งสาธารณะควรเข้าถึงการเดินทางได้อย่างปลอดภัย”

สุรชัย ระบุ

โดยในช่วงที่ผ่านมามองเห็นความตื่นตัวในการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) บริเวณทางม้าลายและถนนเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ล่าสุดได้หารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการใช้ระบบเอไอ (AI) ตรวจจับรถที่ไม่จอดบริเวณทางม้าลาย ซึ่งจะถูกเตือนด้วยเสียง รวมถึงในอนาคตจะมีการถ่ายภาพเพื่อดำเนินดคี อีกทั้งจะการตรวจจับผู้ที่ไม่สวมหมวกกันนิรภัยอีกด้วย ส่วนเรื่องกองทุนผู้ประสบภัยจากรถนั้น ปัจจุบันดำเนินการแล้วแต่เห็นว่าในแต่ละปีมีการใช้เงินไปกว่า 1 หมื่นกว่าล้าน เนื่องจากมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งรัฐไม่สามารถแบกรับภาระฝ่ายเดียวได้

ดังนั้นจึงได้ออกการประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) หรือ ‘พ.ร.บ.’ เป็นการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อแบ่งเบาภาระของกองทุน แต่พบกับปัญหาที่ว่าในสังคมมีรถกว่า 12 ล้านคันที่ไม่ต่อภาษีประจำปีและทำให้รถเหล่านั้นหลุดออกจากระบบพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้พยายามหาวิธีเพื่อดึงรถเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบ นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนจะสามารถช่วยลดอาชญากรรม การทุจริต และอุบัติเหตุลงได้

นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังได้หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์และการดำเนินการกรณีการเข้าถึงนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ โดยที่ตัวแทนอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยผลักดันให้เกิดระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ที่สภาผู้บริโภคได้เริ่มทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในด้านบริการสุขภาพ กว่า 2,564 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน ทั้งประเด็นการไม่ได้รับความสะดวกสบายตามสิทธิ หรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ หรือมีการถูกเรียกเก็บทั้งที่ไปใช้สิทธิบัตรทอง ขณะที่เมื่อลงในรายละเอียดในข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องการถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิยูเซ็ป (UCEP) กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่

พบว่า 1. โรงพยาบาลไม่มีการประเมินเกณฑ์คัดแยกระดับความฉุกเฉิน (Emergency Pre-Authorization : PA) และผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงิน 2. แพทย์ประเมินว่าไม่เข้าเกณฑ์ PA และผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงิน 3. แพทย์ประเมินเข้าเกณฑ์ PA แต่ผู้บริโภคยังถูกเรียกเก็บเงิน 4. แพทย์ประเมินว่าเข้าเกณฑ์ PA พ้นวิกฤติ 72 ชั่วโมง และยังเรียกเก็บเงิน

อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกรณีข้างต้น และได้พัฒนานโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการจัดทำข้อเสนอไปถึงสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้ทบทวนเกณฑ์ PA อีกทั้งขอให้คิดอัตรารักษาพยาบาลโดยใช้อัตราที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด รวมถึงการขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำกับสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้ใช้ระบบบันทึกการประเมินเกณฑ์ PA และตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเอกชนร่วมด้วย

นอกจากนี้ได้ขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กรมการค้าภายใน กำกับราคาค่ารักษาพยาบาล กรณียูเซ็ป โดยใช้อัตราที่ สปสช. กำหนดและเสนอให้มีผู้แทนสภาผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นกรรมการ และขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพานิชย์แสดงรายละเอียดงบการเงิน โดยสามารถสืบค้นการกำหนดราคาได้ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (UCEP)

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้มีข้อเสนอถึงคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ 1. การขอให้คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ ติดตามความคืบหน้าการปรับเกณฑ์ PA กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยขอให้สิทธิยูเซ็ปครอบคลุมในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินสีเหลือง และ 2. การผลักดันให้มีการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล กรณีสิทธิยูเซ็ปต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยขอให้มีการคิดราคากลางตามจริงตามที่ สปสช. กำหนด (Fee Schedule)

ด้าน นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า เสียงสะท้อนจากองค์กรที่ดูแลผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับบริการเหล่านี้ให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยจะนำข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปดำเนินการต่อเพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ารับบริการจากสิทธิยูเซ็ป ทั้งการเจรจาไกล่เกลี่ยเพิ่มเติม เพื่อผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ นอกจากนี้ยังจะผลักดันให้มีการประเมินเกณฑ์ PA นอกโรงพยาบาลตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยครั้งแรก เพื่อให้มีการรักษาได้อย่างรวดเร็วขึ้น ขณะที่ในประเด็นการรักษาครบตามสิทธิยูเซ็ป 72 ชั่วโมง จะมีการหารือถึงแนวทางและกลไกรองรับเพื่อการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สพฉ. พยายามนำเสียงเรียกร้อง เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อหาแนวทางแก้ไขได้ทันท่วงทีและเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้รับบริการได้รับความเดือดร้อนจากการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลต่าง ๆ

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน