‘นมผง’ กำลังขย่ม ‘นมแม่’ จัดโปรโมชั่นรุกหนักถึงลูกถึงคน สธ.ประกาศเข้มคุมโฆษณา-การตลาด หลังพบทัศนคติ ‘แม่’ ชื่นชอบนมผง

สธ. พร้อมบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 อย่างเข้มงวด หลังพบว่าบริษัทนมผงทำการตลาดแบบถึงลูกถึงคนกับ ‘แม่’ จนบางกลุ่มมีทัศคติที่เริ่มชื่นชอบนมผงมากกว่าแล้ว


นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2566 ตอนหนึ่งว่า นมแม่ดีที่สุดเพราะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ แนะนำให้เด็กทารกควรได้รับนมแม่ครั้งแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด และควรได้กินนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสมจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น

อย่างไรก็ดี พบว่าปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เช่น การโฆษณา การลดราคา การที่บริษัทหรือตัวแทนติดต่อกับแม่โดยตรง

ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบว่าการส่งเสริมการตลาดรูปแบบใดที่ส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมผง จึงมีผู้ทำการศึกษาเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และปัจจัยทางสังคมของแม่ กับการเลี้ยงลูกด้วยนมผง” โดยมีการสำรวจการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก จากแม่จำนวน 330 คน ในกรุงเทพมหานคร (กทม.)

สำหรับผลการสำรวจ พบว่าแม่ที่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ เช่น บุคคลในครอบครัว เพื่อน และบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติที่ดีและชื่นชอบนมผงมากกว่าแม่ที่ไม่เคยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่า แม่ที่เป็นแม่เลี้ยงเดียว หรือแม่ที่มีฐานะครอบครัวปานกลาง มีแนวโน้มที่จะชื่นชอบนมผงมากกว่าเช่นกัน

ผลสำรวจ ระบุอีกว่า แม่ที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล มีแนวโน้มที่จะใช้นมผงในการเลี้ยงลูกของตนเองมากกว่าแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ หรือได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล ส่วนแม่ที่ต้องทำงานก็มีแนวโน้มที่จะป้อนนมผงให้ลูกมากกว่าแม่ที่ไม่ทำงาน

จากผลการศึกษาดังกล่าวจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 1. สธ. ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 โดยการติดตามการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ทั้งช่องทางออนไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ ทุกช่องทางอย่างสม่ำเสมอ และมีการตัดสินบังคับใช้บทลงโทษกับผู้ละเมิด พ.ร.บ. อย่างจริงจัง

2. สถานพยาบาลทุกแห่งทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (Baby-Friendly Hospital Initiative, BFHI) โดยอาจกำหนดให้เป็นเกณฑ์ในการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล

3. ควรมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน เช่น การขยายวันลาคลอดเป็น 6 เดือน หรือการพัฒนามุมหรือสถานที่สำหรับบีบ ปั๊ม เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ให้เป็นสวัสดิการตามกฎหมาย และ 4. การให้ความรู้กับแม่และครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจถึงประโยชน์ และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน