ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แนะบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ แก้ปัญหาด่วน! เหตุมติโอนงบผู้ป่วยนอกให้ รพ.สต.ถ่ายโอนไปอบจ.ทำประชาชนเดือดร้อนเต็มๆ ยกเคสผู้ป่วยเอชไอวีกาญจนบุรีร้องทุกข์ ไปรพ.รับยาต้านฯแต่ถูกให้กลับไปเอาใบส่งตัว รพ.สต. สวนทางนโยบายบัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่
ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการ โดยจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า บอร์ดชุดนี้มีแต่พรรคเพื่อไทย จะเกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนจริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) ในฐานะภาคประชาชนแวดวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมา ยังไม่แน่ใจว่าจะมีภารกิจหลักอะไร แต่เท่าที่ทราบอาจไม่ได้มองถึงการบริหารจัดการ แต่อาจมองในเชิงนโยบายมากกว่า ซึ่งจริงๆแล้วนโยบายสาธารณสุขดีอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องการการปฏิบัติการ หรือคำสั่งที่จะช่วยให้คนทำงาน ทำงานได้ดีกว่านี้ แต่โดยหลักการของบอร์ดถือว่าควรมีหน้าที่ในการบูรณาการทุกภาคส่วนได้จริงๆ อย่างเรื่องแรกที่ควรต้องทำ และกำลังเป็นปัญหามาก คือ การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) กลายเป็นว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณ เนื่องจากเดิมที่การบริหารจัดการจะเป็นเขตสุขภาพ หรือที่เรียกว่า CUP แต่ล่าสุดมีการปรับเปลี่ยน
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า การบริหารเรื่องงบประมาณที่จะโอนไปรพ.สต. มีหลายความคิดเห็น อย่างค่าโอพี เงินค่าผู้ป่วยนอกที่สปสช.ต้องจ่ายให้ชุมชน ซึ่งเมื่อย้ายก็ควรโอนตามรพ.สต.ที่ไปท้องถิ่นด้วย หมายความว่า หากประชาชนจะไปหาหมอ จะต้องไปรพ.สต.ก่อนเพราะเงินผู้ป่วยนอกอยู่ตรงนั้น แต่ต้องถามกลับว่า ขีดความสามารถของรพ.สต. ที่เท่ากับรพ.ชุมชน รพ.อำเภอที่เคยดูแลผู้ป่วยนอก ณ ปัจจุบันมีกี่แห่ง แต่หากกรณีรพ.สต.ยังไม่พร้อม ก็มีการออกระเบียบว่า ประชาชนที่จะรักษาและต้องไปที่รพ.ชุมชน ต้องมาเอาใบส่งตัวจาก รพ.สต.ก่อน เพื่อที่จะได้ไปรักษารพ.ชุมชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และรพ.สต.ก็ต้องไปตามจ่าย
“ความเดือดร้อนไปอยู่ที่ประชาชน เพราะเดิมไม่มีใบส่งตัว ก็ไปรักษาที่รพ.ชุมชนได้ เพราะอยู่ระบบเดียวกัน เมื่อออกกติกาแบบนี้ขึ้นมา กลายเป็นผลกระทบ บางที่ออกใบส่งตัวเป็นรายครั้ง บางที่ออกเป็น 6 เดือน ออกเป็น 1 ปีก็มี คนที่ไม่รู้ไปรักษารพ.ชุมชน ก็ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งมติบอร์ดสปสช.ออกมาแล้ว ตอนนี้เริ่มเกิดปัญหาแล้ว อย่างเช่นจ.กาญจนบุรี มีการถ่ายโอนรพ.สต.100% ซึ่งมีข้อตกลงว่า ผู้ป่วยนอกต้องขอใบส่งตัวจากรพ.สต.ก่อไปรักษา ปัญหาคือ ใครจะมาแก้ไขเรื่องนี้ กลายเป็นว่าต้องมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ เรื่องนี้หากบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นำไปพิจารณาแก้ไข จะเป็นเรื่องที่ดีมาก และควรดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายนิมิตร์ กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีนี้จะสวนทางกับนโยบายรัฐบาลเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ไม่มีใบส่งตัว นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ใช่ เพราะรัฐบาลบอกว่าบัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้ แบบนี้ก็ไม่จริง ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติต้องเข้ามาดูเรื่องนี้ด่วน เพราะอย่างที่ตนได้รับเรื่องก็จะมีผู้ป่วยเอชไอวีต้องไปรับยาที่รพ.ชุมชน แต่ทางรพ.บอกว่า ให้ไปเอาใบส่งตัวที่รพ.สต. ซึ่งเดิมไม่เคยมีมาก่อน ตรงนี้มองว่าปัญหาจะค่อยๆขยายไปพื้นที่อื่นๆ ไม่ใช่แค่กาญจนบุรี ดังนั้น ต้องรีบแก้ไขทันที