ผ่านไปเพียง 1 เดือนในปี 2567 มีรถรับส่งนักเรียนที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นถึง 6 ครั้ง สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย และอาจกลายเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเกิดถี่สูงขึ้นเรื่อย ๆ หากหน่วยงานไม่มีการบูรณาการความร่วมมือเข้าด้วยกัน
จากกรณีอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2567 ถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 เกิดอุบัติเหตุที่ อ.ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 11 เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีนักเรียนแขนขาด 1 ราย วันที่ 21 ถนนสายบ้านแพ้ว-สมุทรสาคร อุบัติเหตุครั้งนี้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย วันที่ 22 เกิดอุบัติ 2 ครั้ง ที่ อ.ภูกามยาว จังหวัดพะเยา และ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และวันที่ 29 อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ การเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเดือนมกราคม 67 นี้สามารถคิดเป็นร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในปี 2566 ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจำนวน 30 ครั้ง
.
อุบัติเหตุเดือนมกราคมมีกรณีรุนแรงถึงขั้นแขนขาด 1 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งจัดการอย่างเร่งด่วน ขณะที่สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมาจากความประมาทของพนักงานขับรถรับส่งนักเรียน สภาพของรถรับส่งนักเรียนที่เป็นรถดัดแปลง ไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น ถนนลื่น ทัศนวิสัยไม่ดี สาเหตุจากรถคันอื่นบนท้องถนน เป็นต้น
.
แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ต่างพยายามหาแนวทางในการกำหนดมาตรฐานและผลักดัน ‘ระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย’ แต่ปัจจุบันยังพบว่าระบบดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ต่างฝ่ายต่างทำในส่วนของตัวเอง โดยเฉพาะการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการบูรณาการความร่วมมือเข้าด้วย จนนำมาสู่ความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง
.
สภาผู้บริโภคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมมือกันภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม กำหนดเป้าหมายดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนา ‘ต้นแบบโรงเรียนศูนย์เรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย’ ในโรงเรียนจำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดพะเยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสงขลา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานในการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อขยายผลการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ
.
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้เกิดต้นแบบโรงเรียนศูนย์เรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยข้างต้นไม่เพียงปกป้องชีวิตเด็กนักเรียนจากอุบัติเหตุเท่านั้น แต่เพื่อทำให้สังคมไทยมีความหวังที่จะเห็นเด็กที่เกิดมาไม่ว่าจะในยุคหรือสมัยใดมีชีวิตอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่เช่นนั้นเด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนทุกวันและผู้ปกครองจะเกิดความกังวลและไม่มั่นใจในการเดินทางโดยรถรับส่งนักเรียน หากรัฐไม่สามารถสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้