ภาคีเครือข่าย ประสานเสียงเรียกร้องความปลอดภัยของเด็กไทยบนท้องถนน

เวที “อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน” ทุกหน่วยประสานเสียงเรียกร้อง ระบบขนส่ง รถรับส่งนักเรียน สาธารณะ ลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมเน้นย้ำต้องกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ

 

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา  คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  ได้จัดเสวนา เรื่อง “อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน” ณ โรงแรม เดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ (ถนนรัชดาภิเษก) โดยมีการเปิดตัวนิทานเด็กในงานด้วย

ผศ. สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในวันนี้ ว่า ความเศร้าสลดที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เกิดขึ้น สะท้อนภาพความจริงอย่างหนึ่งว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับเด็กมีมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการมาทัศนศึกษา การเดินทางของเด็กมาโรงเรียนในแต่ละวัน ดังนั้นความปลอดภัยของเด็กต้องเกิดจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โรงเรียนเด็กเล็กจำนวนมาก ไม่มีรถนักเรียนที่ปลอดภัยในการรับส่ง สิ่งที่ท้าทายของทุกหน่วยงาน คือ ความปลอดภัยบนท้องถนนของเด็กๆ ที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันเคลื่อนไหว ซึ่งบางเรื่องทำได้ทันที ดังนั้นวัตถุประสงค์ของงานครั้งนี้ คือการหาแนวทางการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า วันนี้เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดน้อยลงทุกปี การเกิดน้อยลงหมายความว่าแรงงานน้อยลงด้วย แต่ประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีประชากรน้อยต้องทำให้มีคุณภาพ ในขณะที่อัตราความปลอดภัยก็ลดน้อยลง จากสถิติการประสบอันตรายบนท้องถนนมีอัตราสูงมาก และเป็นแบบนี้มาเป็นเวลาสิบ ๆ ปี โดยเฉพาะการประสบอันตรายของเด็กและเยาวชน ซึ่งสสส. ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีนโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน โดยมีภาคีเครือข่าย ท้องถิ่นจำนวนมากเข้าร่วมโครงการนี้ ชุดความรู้ต่างๆ มีรูปแบบให้ทุกท่านไปดูงาน

“เพียงแต่ท่านลงมือทำ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ความปลอดภัยบนท้องถนน ต้องเป็นบริการสาธารณะ รถรับส่งนักเรียนต้องไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องไม่ปล่อยให้เกิดความสูญเสียแบบที่ผ่านมา ”

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเริ่มจากเรื่องรถรับ-ส่งสาธารณะ โดยผู้บริโภคที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะได้รับการเยียวยาค่าชดเชยอย่างไรบ้าง และขยับมาทำเรื่องรถรับส่งนักเรียน  และการทำงานกับมาตรฐานของการขับขี่มอเตอร์ไซด์ โดยมีการทดสอบหมวกกันน็อกให้มีคุณภาพ เพราะเราพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาจากรถมอเตอร์ไซต์

เลขาธิการ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า หากจะทำงานความปลอดภัยทางถนน ต้องทำงานด้านขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ โดยราคาค่าโดยสารต้องไม่เกิน 10   เปอร์เซ็นต์ของค่าครองชีพ  สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเรียกร้องให้มีการลดราคาค่ารถไฟฟ้า

 

“ไม่ใช่ว่าประชาชนจะไม่จ่ายค่าโดยสารขนส่งสาธาณะ แต่ควรจะต้องจ่ายอย่างเหมาะสม แต่ขณะนี้ประชาชนต้องจ่ายเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์”

 

นอกจากนี้ สารี ยังเสนอด้วยว่า ต้องผลักดันให้ อบจ.แต่ละจังหวัดจัดการด้านขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพ และเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงนี้  และที่สำคัญในภาพรวมรัฐต้องมีการจัดงบประมาณให้เหมาะสมกับการจัดการขนส่งมวลชนให้กับประชาชน

 

รศ.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะสามารถแก้และบรรเทาได้ หากรัฐบาลดำเนินการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แบ่งมาให้ท้องถิ่นเท่าที่จำเป็น การแก้ไขปัญหาจึงค่อนข้างยาก แต่ท้องถิ่นก็พยายามทุกอย่าง โดยเฉพาะทำทุกอย่างให้เด็กปลอดภัย ทั้งที่บางเรื่องไม่ใช่หน้าที่ อย่างเช่นน้ำท่วมโรงเรียนจะสร้างสะพานทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่

 

“ขอให้รัฐบาลเขียนระบุให้ชัดเจน ว่าอะไรทำได้ไม่ได้ อย่างไร อยากให้เด็กปลอดภัยอย่างแท้จริงต้องกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ ท้องถิ่นไม่ใช่รากหญ้า แต่เป็นฐานรากของประเทศชาติ”

ในขณะที่ ดร.ศรีสุข แสนยอดคำ รองเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างความปลอดภัยให้เด็กมีหลายวิธี หน่วยงานท้องถิ่น มีความสามารถในการจัดการต่างกัน ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อร่วมกันในการแก้ปัญหา ทำอย่างไรเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว หน่วยงานต่างๆต้องลงมือทำในบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างจริงจัง

ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น รัฐมนตรีสั่งการให้มีการช่วยเหลือเยียวยาไปจนถึงครอบครัว ไม่ใช่เพียงผู้ที่เสียชีวิต นอกจากนี้ สพฐ.มีศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย เพื่อร่วมป้องกันและแก้ปัญหาภัยต่าง ๆ ในโรงเรียนจะมีแผนเผชิญภัยต่าง ๆ เช่นเด็กจมน้ำจะดำเนินการอย่างไร การสร้างจิตสำนึกให้เด็ก

“นอกจากนี้เมื่อเด็กเข้าสู่โรงเรียน ข้อความจะแจ้งเตือนในมือถือผู้ปกครอง เพื่อแจ้งให้ทราบว่าลูกถึงโรงเรียนแล้ว เมื่อออกจากบ้านกลับถึงโรงเรียนก็จะแจ้งเตือน”

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน