มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สงสัยเจตนา กขค. ปกปิดข้อมูลบางส่วน ในรายงานการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ ซีพี-โลตัส ทำให้ได้ข้อมูลล่าช้า เพราะเสียเวลายื่นอุทธรณ์ ทั้งที่เป็นสิทธิโดยชอบของประชาชน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สงสัยเจตนา กขค. ปกปิดข้อมูลบางส่วน ทำให้มูลนิธิฯ ได้ข้อมูลล่าช้า กรณีส่งหนังสือขอข้อมูลการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ ซีพี-โลตัส เมื่อปี 64 แต่ได้รับรายงานที่ปกปิดรายชื่อกรรมการและสัดส่วนของบริษัทในเครือซีพี ทำให้ต้องยื่นอุทธรณ์และเพิ่งได้รับแจ้งจากคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ที่ให้ กขค. เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ชี้ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะรับทราบและเข้าถึงข้อมูลของราชการ

จากการที่เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ขอข้อมูลข่าวสารกรณีการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจของซีพีและเทสโก้ โลตัส 3 รายการ ได้แก่ 1.รายงานและเอกสารประกอบการรายงานทุกฉบับของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ ที่เสนอความเห็นต่อ กขค. 2.คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและรายชื่อคณะอนุกรรมการและที่ปรึกษาทุกฉบับกรณีการขออนุญาตควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส 3.รายงานการประชุมและเอกสารประกอบการประชุมของ กขค. ทุกฉบับกรณีอนุมัติการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 กขค. ส่งสำเนาคำวินิจฉัย และรายงานผลการศึกษามาให้ แต่ปกปิดรายชื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอให้รวมธุรกิจของซีพีกับโลตัส และรายชื่อบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดังนั้น ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 มพบ.จึงส่งหนังสือขอให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว หลังจากนั้นคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) แจ้งรับเรื่องอุทธรณ์ไว้พิจารณา และให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กวฉ. ในที่ประชุม พร้อมส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ชี้แจงส่งให้อีกครั้ง จนในที่สุดวันที่ 11 มกราคม 2565 กวฉ. แจ้งผลคำวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้

 

วันนี้ (20 มกราคม 2565) นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ทำหนังสือขอข้อมูลไปที่สำนักงาน กขค. โดยขอข้อมูลรายงานของคณะกรรมการเรื่องการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจของซีพีและเทสโก้ โลตัส แต่เมื่อคณะกรรมการส่งรายงานมาให้ กลับปกปิดรายชื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจและคณะทำงานที่ไปศึกษารายงานไว้ทั้งหมด และปกปิดข้อมูลบางอย่างในรายงาน ได้แก่ ข้อมูลสัดส่วนของบริษัทในเครือซีพี ทำให้ไม่รู้สัดส่วนเหล่านั้น มูลนิธิฯ จึงขออุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทำให้คณะกรรมการประชุมและวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1, 2 และ 3 ได้ พร้อมให้สำเนา ที่มีคำรับรองถูกต้อง และให้เปิดเผยชื่อกรรมการได้ เว้นไว้แต่รายชื่อบุคคลที่แสดงความคิดเห็นในรายงานที่ปรากฏอยู่ในวาระการพิจารณาขออนุญาตรวมธุรกิจในรายการที่ 1

“การที่กขค.ปกปิดข้อมูล ทำให้มูลนิธิฯ ต้องเสียเวลาในการยื่นอุทธรณ์และได้ข้อมูลล่าช้า ทั้งที่เป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่จะมีสิทธิรับทราบและเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ยังปิดรายชื่อผู้ที่แสดงความเห็น โดยไม่รู้สาเหตุการปกปิด ทั้งที่น่าจะเปิดเผยได้ ทางเราก็อยากจะทราบว่าผู้ที่แสดงความคิดเห็นเป็นใครบ้าง ทำไมถึงมีสิทธิเข้าไปแสดงความคิดเห็นในคณะกรรมการนี้ได้ด้วย” นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ.กล่าว

          นางสาวณัฐวดี กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรรมการอนุญาตให้เปิดเผยแล้ว ต้องไปตรวจสอบรายงานว่าครบหรือไม่ ซึ่งกำลังดำเนินการนัดหมายกับ กขค. เพื่อขอรับเอกสารต่อไป ในการนี้ประชาชนทั่วไปก็มีสิทธิที่จะขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของราชการได้เช่นกัน ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 9, 14 และ 15 ที่บังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการที่ให้ประชาชนเข้าไปตรวจดูได้ ไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม เว้นก็แต่ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือรายงานทางการแพทย์ ซึ่งหากไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จะต้องระบุสาเหตุว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเหตุใด และเพราะเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใด

 

ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน