ยื่นรัฐสภาตรวจสอบ ‘ประมูลคลื่นความถี่’ หวั่นผูกขาด-กระทบผู้บริโภค

ยื่น กมธ. พัฒนาเศรษฐกิจตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ กังวลการแข่งขันไม่เป็นธรรม ไร้มาตรการคุมค่าบริการ กระทบทางเลือกของผู้บริโภค

วันที่ 6 มีนาคม 2568 สภาผู้บริโภค นำโดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมเครือข่ายสมาชิกสภาผู้บริโภค เดินหน้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ ที่อาจเกิดการผูกขาดในอนาคต โดยมี นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้มารับหนังสือครั้งนี้

นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า จากกรณี การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบให้สำนักงาน นำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz และรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ก่อนเสนอต่อ กสทช. พิจารณารอบสุดท้าย ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีการประมูลแถบคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ปี 2568

ซึ่งพบว่า การประมูลครั้งนี้ครอบคลุมถึง 6 ย่านความถี่ ได้แก่ คลื่นที่กำลังหมดอายุใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT คลื่นว่างที่ไม่มีผู้ประมูลในรอบที่ผ่านมา คลื่นที่ไม่เคยถูกนำมาประมูลมาก่อน และคลื่นที่ยังไม่หมดอายุแต่ถูกนำมาประมูลล่วงหน้า ซึ่งการนำคลื่นทั้งหมดนี้มาประมูลพร้อมกัน อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมและสิทธิของผู้บริโภค

นายอิฐบูรณ์ ให้ความเห็นว่า แม้ว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกันอาจช่วยให้เกิดการบริหารจัดการคลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สภาผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในด้านปริมาณ คุณภาพของการให้บริการ และราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการลดการแข่งขันในตลาด เนื่องจากต้นทุนการเข้าประมูลที่สูงอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ ทำให้ตลาดถูกครอบครองโดยผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย และอีกประเด็นคือ ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมค่าบริการหรือกำหนดมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับค่าบริการที่สูงขึ้นและทางเลือกที่ลดลง สภาผู้บริโภคจึงแสดงความกังวลใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. การประมูลครั้งนี้ไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง เนื่องจากเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 ราย คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เท่านั้น โอกาสในการแข่งขันจึงแทบไม่มีเมื่อเทียบกับจำนวนย่านความถี่ที่ถูกนำมาเปิดประมูลพร้อมกันถึง 6 ย่านความถี่ ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและพัฒนา

2. ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุด เทียบกับปริมาณและคุณภาพของบริการที่ผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายย่อย (MVNO) ภายใต้เงื่อนไขการแข่งขันการประมูล ซึ่งอาจทำให้ไม่มีหลักประกันว่าผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมจากโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ จึงขอให้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 6 ย่านความถี่ของ กสทช. ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 60 กำหนดหรือไม่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ตลาดโทรคมนาคมยังคงเปิดกว้างและเอื้อต่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

ด้าน นางสาวสุภิญญาได้กล่าวถึง ประเด็นปัญหาการกระจุกตัวของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่เป็นผลจากการควบรวมกิจการที่ กสทช. ปล่อยปละละเลย ทั้งยังขาดความชัดเจนในกติกาการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. แสดงความชัดเจนในการออกกติกาการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการบริหารจัดการคลื่นความถี่จะสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ ประเด็นของเอ็นที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จะสูญเสียคลื่นความถี่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้และไม่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่อาจเข้าถึงบริการได้ยากหากการจัดสรรไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้ยังกังวลถึงอนาคตของดิจิทัลทีวีที่กำลังจะหมดสัญญาใบอนุญาตในอีก 5 ปีข้างหน้า หากไม่มีความชัดเจนจาก กสทช. อาจนำไปสู่การจอดดับของช่องทางการสื่อสารทางเลือก ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ของเอกชนเพียง 2 รายเท่านั้น

“ขอให้คณะกรรมาธิการช่วยติดตามและทวงถามถึงการดำเนินการของ กสทช. และการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังพัฒนา โดยเน้นการรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะในอนาคต” นางสาวสุภิญญากล่าว

ขณะที่ นายสิทธิพล เผยว่า คณะกรรมาธิการได้ติดตามการทำงานของ กสทช. อย่างใกล้ชิด และพบว่า กสทช. ยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการควบรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะในเรื่องของราคาค่าบริการและคุณภาพที่ได้รับจากผู้ให้บริการ จึงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ กสทช. จะต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยจะมีการเชิญ กสทช. มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการประชุมที่จะจัดขึ้นต่อไป และขอเชิญผู้แทนจากสภาผู้บริโภคเข้าร่วมประชุมครั้งหน้าด้วย พร้อมยืนยันว่า กรรมาธิการจะติดตามการปฏิบัติอย่างเข้มงวดเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน