สถิติร้องเรียนและข้อเสนอนโยบาย ปี 2564

สภาองค์กรของผู้บริโภค เผย ‘สถิติเรื่องร้องเรียน’ ครึ่งหลังปี 64 พบปัญหาการถูกยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิดมากเป็นอันดับ 1 ส่วนผลงาน ‘ด้านนโยบาย’ มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 9 ประเด็น

จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนั้น

วันนี้ (7 มกราคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภคเปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนประจำจังหวัด 10 จังหวัดได้รับ รวมไปถึงผลงานการให้ข้อเสนอนโยบายต่อหน่วยงานกำกับด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในช่วงครึ่งหลังปี 2564

สำหรับสถิติเรื่องร้องเรียนในช่วงครึ่งปีหลังของ สอบ. มีจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด 2,816 ราย โดยปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือด้านการเงินการธนาคาร มีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 1,460 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.85 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาการถูกยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด, ไม่จ่ายค่าสินไหม, จ่ายค่าสินไหมล่าช้า, ปัญหาแอปพลิเคชัน Gojek ปิดกิจการไม่คืนให้ผู้บริโภค และการจ่ายเงินล่าช้าของประกันบ้านพักอาศัยกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับผลกระทบเรื่องที่พักอาศัย และสภาพคล่องด้านการเงิน

ส่วนอันดับที่สอง เป็นเรื่องด้านสินค้าและบริการทั่วไป มีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 770 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.34 ของทั้งหมด โดยเป็นปัญหาเรื่องการซื้อบริการบัตรคอนเสิร์ต แต่ผู้จัดไม่ได้จัดงานคอนเสิร์ตตามวันเวลาที่แจ้ง และไม่สามารถคืนเงินให้ผู้บริโภคได้, ปัญหาการซื้อ Voucher ที่พักผ่านเอเจนซี่แล้วถูกโกง, ปัญหาการจองวัคซีนโมเดอร์น่าแล้วไม่ได้ฉีดตามวันที่กำหนด ซึ่งปัญหาเรื่องการซื้อ Voucher ที่พักผ่านเอเจนซี่ และปัญหาการจองวัคซีนโมเดอร์น่านั้น ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สอบ. กำลังรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อเตรียมฟ้องคดี

อันดับที่สาม ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย มีเรื่องร้องเรียน 149 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.33 โดยเป็นปัญหาการเช่าซื้อบ้านพักอาศัยไม่ปิดจำนอง ของบริษัท อีซี่โฮม มูลค่าความเสียหายกว่า  30 ล้านบาท กลุ่มผู้เสียหายปัญหาบ้านทรุดโครงการศุภาลัย และปัญหาการไม่จัดให้มีสาธารณูปโภคที่เพียงพอในโครงการบ้านจัดสรรของบริษัท เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เหลืออีก 437 ราย มีทั้งการของคำปรึกษาการใช้สิทธิจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล การร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือปฏิบัติงานล่าช้า จนทำให้เอกสารสำคัญล่าช้ามากขึ้น การขอคำปรึกษาเรื่องการฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลสถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2564 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานประจำจังหวัดของสอบ. โดยประเด็นปัญหาอันดับหนึ่ง คือเรื่องการได้รับ SMS และโทรศัพท์ก่อกวน ที่มีเนื้อหาหลอกลวงให้ใช้บริการแอปฯ กู้เงิน ผิดกฎหมาย และเว็บพนัน รวมถึงเนื้อหาอนาจาร ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเสียทรัพย์สินได้ ตามอ่านต่อได้ที่ https://bit.ly/32LGwd7

นอกจากบทบาทหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 สอบ. ยังได้ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอนโยบายต่อหน่วยงานกำกับด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีข้อเสนอนโยบายด้านนโยบายทั้งหมด 6 ด้าน 9 ประเด็น ดังนี้ (อ่านรายละเอียดข้อเสนอทั้งหมดได้ที่ https://bit.ly/3zytDPf)

  1. ข้อเสนอนโยบายด้านขนส่งและยานพาหนะ สอบ. ได้มีข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีใน 2 ประเด็น คือ
    – เรื่องการแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง และทำให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้
    – ประเด็นยุติการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องราคาและการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ
  2. ข้อเสนอนโยบายด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือเสนอให้ชะลอการเข้าร่วม CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบเสร็จสิ้น
  3. ข้อเสนอนโยบายด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม มี 3 ประเด็น ได้แก่
    – เสนอให้ลดภาษีน้ำมัน ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และดีเซล B20 รวมถึงมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด – 19
    – คัดค้านการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มจากปัจจุบัน รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และเสนอให้ทบทวนการทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
    – เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค เชื่อว่าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่แก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ แล้วตามข้อเสนอของสภาฯ จะสามารถลดความรุนแรงของทั้ง 4 ปัญหาสำคัญของชาติได้ แม้จะเป็นโครงการขนาดเล็ก แต่ก็สามารถขยายเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองของประชาชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริงได้
  4. ข้อเสนอนโยบายด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประเด็นการกำหนดมาตรการโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล
  5. ข้อเสนอนโยบายด้านการเงินและการธนาคาร คือเรื่องการแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีข้อเสนอถึงหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) รวมถึง บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย
  6. ข้อเสนอนโยบายด้านสินค้าและบริการทั่วไป เป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ยังมีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ อนามัย สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคอื่นๆ ที่นำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เช่น การหลอกหลวงผ่านการซื้อสินค้าหรือธุรกรรมการเงินออนไลน์ในยุคดิจิทัล ความสับสนและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพความปลอดภัยของอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ปัญหาคุณภาพของสินค้าและบริการที่ชำรุดบกพร่อง ดังนั้นการมีสภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีหน้าที่ให้ความเห็นต่อมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค จึงเป็นส่วนสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันที่จะช่วยสรรสร้างบรรทัดฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับทุกคนเท่าทันไม่เสียเปรียบถูกเอาเปรียบอีกต่อไป

ที่มา : https://www.tcc.or.th/complain-stat-2564/

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน