สปสช. ยืนยัน 8 นวัตกรรมบริการพื้นที่นำร่อง “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” เบิกจ่ายได้ภายใน 3 วัน การันตีมีระบบตรวจสอบ-ป้องกันพฤติกรรมช็อปปิ้งยา
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวว่า ขอให้ความมั่นใจแก่หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ที่เป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มความสะดวก ลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย ร้านยา คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น และรถทันตกรรมเอกชนเคลื่อนที่ ที่ขณะนี้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้แล้วใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับคลินิกนวัตกรรมฯ ที่ได้ลงพื้นที่มาเยี่ยมชมในวันนี้ พบว่ามีความพร้อมสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเสียบเข้าระบบของ สปสช. เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าประชาชนมารับบริการ โดยเมื่อรับบริการเสร็จแล้วข้อมูลก็จะวิ่งเข้าไปสู่ระบบกลางของ สปสช. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ใน 2 ส่วน คือ 1. ไม่มีประชาชนคนใดจะเข้าไปรับบริการเกินความจำเป็น เพราะมีการดูตลอดเวลา 2. เมื่อพิสูจน์ว่าประชาชนเข้ามารับบริการตามที่ตกลงกันไว้ ทาง สปสช. ก็จะจ่ายเงิน ซึ่งหน่วยบริการสามารถรับเงินค่าบริการได้ภายในไม่เกิน 3 วัน
“กระบวนการเบิกจ่ายจะสามารถดำเนินการได้เลยทันทีตั้งแต่เปิดโครงการ คือเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ม.ค. 2567 ซึ่งระบบการเสียบบัตรประชาชน ทันทีที่ท่านเสียบบัตร ข้อมูลจะวิ่งเข้าไปที่ส่วนกลาง แล้วจะมีการส่งข้อมูลกลับมาให้ สสจ. สสอ. และ สปสช.เขต เพื่อพิจารณาป้องกันการช็อปปิ้งยา หรือ Shopping Around ตามที่บางส่วนอาจมีข้อกังวลว่านโยบายบัตรประชาชนรักษาทุกที่ จะทำให้ประชาชนเข้าใช้บริการไปทั่ว ซึ่งระบบที่ออกแบบไว้นี้เป็นไปเพื่อป้องกันและคลี่คลายข้อกังวลเหล่านั้น” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมขั้นตอนการเสียบบัตรประชาชนเข้ารับบริการวันนี้ พบว่าผ่านไปได้โดยง่ายและใช้เวลาไม่นาน ส่วนการจ่ายเงินให้หน่วยบริการภายไม่เกิน 3 วัน ก็ครอบคลุมไปยังโรงพยาบาลรัฐด้วย แต่ทางโรงพยาบาลก็จะต้องมีการเชื่อมข้อมูลกับ สปสช. ซึ่งย้ำว่าเป็นการเชื่อมข้อมูล ไม่ใช่การส่งข้อมูล เพราะขั้นตอนในอดีตคือการที่โรงพยาบาลต้องไปรวบรวมข้อมูลมาก่อนแล้วจึงส่งมาเบิกกับ สปสช. ซึ่งกระบวนการจ่ายจะเริ่มหลังจากที่โรงพยาบาลส่งข้อมูลมา
“ฉะนั้นหัวใจสำคัญคือการเชื่อมข้อมูล ไม่ใช่ส่งข้อมูล ถ้าท่านส่งข้อมูลมันจะช้า แต่ถ้าเป็นการเชื่อมข้อมูล สปสช. จะดึงข้อมูลส่วนที่เบิกได้ออกมาดำเนินการเพื่อเบิกจ่ายได้ทันที โดยเฉพาะหน่วยบริการภาคเอกชน ถ้าเชื่อมข้อมูลกับ สปสช. และมีระบบเสียบบัตรประชาชน หากให้บริการเมื่อไรเราก็พร้อมจ่ายได้ภายใน 3 วัน สำหรับภาพรวมของการให้บริการวันแรก มีหน่วยบริการใน 4 จังหวัด เข้าร่วมให้บริการทั้งหมด 1,130 แห่ง และมีประชาชนเข้ารับบริการแล้วจำนวน 1,751 คน แยกเป็นจังหวัดแพร่ 1,545 คน เพชรบุรี 1,108 คน ร้อยเอ็ด 1,888 คน และนราธิวาส 1,091 คน รวมเป็น 6,292 คน” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ ยังกล่าวถึงการออกประกาศฯ สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ฯ อีก 3 รายการ ซึ่งขณะนี้รายละเอียดของประกาศฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษา ถ้อยคำ ก่อนที่จะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งในตัวประกาศฯ จะมีบทเฉพาะกาลย้อนหลังครอบคลุมการให้บริการตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. เป็นต้นไป ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ดังนั้นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ฯ อีก 3 รายการ จึงสามารถให้บริการไปก่อน แล้วเบิกย้อนหลังกับ สปสช. ได้
นอกจากนี้ นพ.จเด็จ ยังกล่าวถึงความพร้อมภายหลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ประกาศเตรียมขยายนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เพิ่มเติมอีก 8 จังหวัดในเดือน มี.ค. 2567 ว่าทาง สปสช. จะเร่งดำเนินการในส่วนต่างๆ ได้แก่ 1. ชักชวนหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ฯ 8 รายการในจังหวัดนั้นๆ เข้ามาเพิ่มให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล 2. จัดระบบการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด 3. จะมีกลไกที่สนับสนุนนโยบาย คือ สายด่วน สปสช. 1330 ที่จะคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้เข้าถึงบริการ
“มั่นใจว่า สปสช. มีความพร้อมในการขยายนโยบายอีก 8 จังหวัดอย่างแน่นอน ส่วน 4 จังหวัดนำร่องที่ดำเนินการแล้ว สปสช. จะประเมินผลดำเนินการอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ให้บริการ ผ่านระบบแดชบอร์ดที่จะแสดงให้เห็นจำนวนผู้เข้ารับบริการ ปริมาณงานที่เกิดขึ้น ตลอดจนอุปสรรคที่พบในระบบ เช่น ระบบอินเตอร์เนทขัดข้องหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และหน่วยบริการก็จะได้รับเงินเร็วขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนี้ในปี 2567 สปสช. ยังเตรียมขยายร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ โดยจะเพิ่มจำนวนร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง ให้เป็น 5,000 แห่งภายในปี 2567 จากร้านยาที่มีทั้งหมดทั่วประเทศราว 1.5 หมื่นแห่ง ขณะเดียวกันหน่วยบริการทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คลินิกทันตแพทย์ 5,000 แห่ง คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 5,000 แห่ง ฯลฯ ก็จะต้องเอาเข้ามาในระบบให้ได้ทั้งหมด ซึ่งหากทำได้เชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะไม่เข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว
“เชื่อว่าพี่น้องประชาชนไม่อยากวิ่งเข้าไปที่โรงพยาบาลใหญ่ แต่เขาสามารถเข้ามารับบริการเบื้องต้นได้ที่หน่วยบริการต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งประชาชนไม่ต้องกังวล เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลได้เชื่อมต่อกันหมดแล้ว หรือหากเกินศักยภาพก็จะมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งก็จะทราบข้อมูลการรักษาเบื้องต้น” นพ.จเด็จ กล่าว