สภาผู้บริโภคชนะ 10 คดี เงินกู้ ‘ศรีสวัสดิ์’ หนุนดีเอสไอจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ

สภาผู้บริโภค ชนะ 10 คดี กรณีเงินกู้ ‘ศรีสวัสดิ์’ เอาเปรียบผู้บริโภค หนุนดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ พร้อมเชิญชวนผู้เสียหายร่วมกันร้องเรียนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นระบบ

จากกรณีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากปัญหาการทำสัญญาเงินกู้กับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จํากัด เช่น ถูกคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ให้ลงลายมือชื่อบนกระดาษเปล่า ได้เงินไม่ครบจำนวนที่ขอสินเชื่อ ไม่ส่งมอบสัญญา เป็นต้น ซึ่งสภาผู้บริโภคได้สนับสนุนการฟ้องคดีจนผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) ให้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นั้น

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาเงินกู้ หรือปัญหาธุรกิจสินเชื่อบ้าน – ที่ดิน ไม่จดจำนอง เป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐควรเข้ามากำกับดูแล โดยสภาผู้บริโภคได้จัดหาทนายความเพื่อสนับสนุนการถูกฟ้องคดีของผู้บริโภคทุกคดีจนได้รับความเป็นธรรม และได้ประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพื่อให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เสนอให้ยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอดำเนินคดีอาญา กรณี คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และรับเป็นคดีพิเศษ ทั้งยังเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภคที่ไม่ดำเนินการส่งมอบสัญญากู้ยืมเงิน ไม่มีการแสดงรายละเอียดสัญญากู้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งล่าสุด  สคบ. ได้มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กรณี กลุ่มบริษัท“ศรีสวัสดิ์” ไม่ส่งมอบสัญญากู้แก่ผู้บริโภค เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522

สารี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ดีเอสไอพิจารณารับคำร้อง กรณี บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นคดีพิเศษ เลขที่ 47/2567 พร้อมหนุนดีเอสไอทำคดีนี้อย่างเต็มที่ และยินดีสนับสนุนข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี และเชิญชวนผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบในลักษณะเดียวกัน มาร้องเรียนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาครัฐยังไม่ได้กำกับดูแลให้เป็นระบบ ผู้ประกอบการในแบบเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นได้อีก หากรัฐยังมุ่งแก้ไขเฉพาะผู้ประกอบการเป็นรายบุคคล และเมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครองและผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตก็ยังสามารถหาช่องทางเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคอยู่ในจุดที่ไม่มีความสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับข้อสัญญาของตัวเอง ดังนั้น การมีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแลผู้ประกอบการจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองได้มากขึ้น

จิณณะกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคารจะมีการติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กระทรวงการคลังเร่งกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อบ้าน – ที่ดินเช่นเดียวกับที่กำกับดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาซึ่งกระทบต่อผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิผู้บริโภค สร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเองผ่านการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วย และหากปล่อยให้มีเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จะสร้างความเสียหายที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ

นันณภัชสรณ์ เตชปัญญาพิพัฒน์ ทนายความซึ่งรับผิดชอบคดีเกี่ยวกับเงินกู้ศรีสวัสดิ์ 5 คดี กล่าวถึงพฤติกรรมของบริษัทสินเชื่อมีการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก โดยยกตัวอย่างคดีที่หนึ่งที่ตัวเองได้รับผิดชอบ บริษัทฯ ฟ้องร้องว่าผู้บริโภคกู้เงิน 140,000 บาท ทั้งที่โอนเงินเข้าบัญชีของผู้บริโภครายดังกล่าวเพียง 130,726 บาท และอ้างว่าที่เหลือจำเลยรับเป็นเงินสด 9,274 บาท จึงมีข้อพิรุธว่าเหตุใดจึงไม่โอนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน จึงเชื่อได้ว่าผู้บริโภคได้รับเงินกู้เพียง 130,726 บาท นอกจากนี้ผู้บริโภคได้ชำระเงินรายงวดให้บริษัทไปแล้วจำนวน 70,901 บาท ศาลจึงพิพากษาให้ผู้บริโภคต้องชำระเฉพาะส่วนที่เหลือ คือ 59,825 บาท

นอกจากนี้ เป็นปัญหาการคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบริษัทจะคิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประกอบกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ดังนั้น การที่บริษัทคิดดอกเบี้ยร้อยละ 24 ต่อปี จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมีผลทำให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ จึงไม่สามารถคิดดอกเบี้ยจากผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ ในบางคดี ทางบริษัทมีความพยายามจะเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ศาลไม่ต้องวินิจฉัยคดี อย่างไรก็ตาม ในแต่ละคดีทนายความได้หารือกับสภาผู้บริโภคและผู้เสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือดำเนินคดีเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด

ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่านับตั้งแต่ช่วงปี 2565 ถึงปัจจุบัน สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคมากกว่า 126 ราย ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการทำสัญญาเงินกู้กับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบ้าน – ที่ดิน ไม่จดจำนอง ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ  ถูกคิดค่าธรรมเนียมโดยไม่เป็นธรรม โดนคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 ต่อปี ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารเปล่าที่ยังไม่มีข้อความที่สมบูรณ์จะไปทำสัญญาโดยผู้กู้ไม่ได้มีโอกาสรับทราบเนื้อหา ไม่ได้รับคู่สัญญา ซึ่งต่อมาผู้ประกอบธุรกิจได้ฟ้องร้องผู้บริโภคซึ่งเป็นคดีที่สภาผู้บริโภคได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือจนชนะคดี จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คดี

ภัทรกร กล่าวอีกว่าช่วงปลายปี 2566 สภาผู้บริโภคได้มีการแถลงข่าวเปิดเผยคำพิพากษาของศาลเพื่อชี้แจงข้อมูล และมีตัวแทนบริษัทศรีสวัสดิ์เข้ามาร่วมชี้แจงด้วย โดยตัวแทนของบริษัทฯ ระบุว่าจะรับข้อคิดเห็นไปพิจารณา แก้ไขปัญหา และปรับปรุงกระบวนการให้กู้เงิน แต่ภายหลังจากนั้น สภาผู้บริโภคยังคงได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทฯ ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะผู้เสียหายที่เข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค แต่ไม่ได้ปรับปรุงกระบวนการให้กู้เงินให้เป็นไปตามกฎหมาย

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน