สภาผู้บริโภคเสนอตั้งคนนอกร่วมสอบ ปม ‘ดิไอคอน กรุ๊ป – สคบ.’ เพื่อความมั่นใจผู้เสียหาย

สภาผู้บริโภค เสนอเพิ่มบุคคลภายนอกจาก 4 องค์กร ร่วมเป็นคณะกรรมการ สอบ ปม ‘ดิไอคอน กรุ๊ป  – สคบ.’ เพื่อเป็นหลักประกัน ย้ำชัดผู้เสียหาย ต้องได้รับการเยียวยาอย่างถึงที่สุด

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงนามคำสั่งแต่งตั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 369/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ โดยโครงสร้างของคณะกรรมการ  มีตัวแทนอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีรายชื่อคนนอกนั้น

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เพื่อสร้างความมั่นใจ โปร่งใส ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของ สคบ.เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ และประชาชนเชื่อถือผลการตรวจสอบ  สภาผู้บริโภค  เสนอให้สำนักนายกฯ แต่งตั้งบุคคลภายนอกเพิ่มจาก 4 องค์กร ได้แก่ สภาทนายความฯ สภาผู้บริโภค  เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน  และตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

“การที่โครงสร้างของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีแต่ข้าราชการนั้น อาจทำให้เกิดข้อครหาได้ เพื่อให้ผลสอบที่จะออกมาสาธารณชนยอมรับ ไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู ต้องมีการแต่งตั้งภาคประชาสังคม และองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการเข้าร่วมด้วย” ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว พร้อมกับยืนยันว่า ผู้เสียหายจากกรณีนี้ต้องได้รับการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐคนใดมีส่วนร่วมกับขบวนการบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ก็ต้องถูกลงโทษจากผลของการตรวจสอบข้อเท็จจริง


สำหรับ คำสั่งแต่งตั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 369/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ระบุว่า ด้วยปรากฎเป็นข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ และรายการโหนกระแส ซึ่งออกอากาศสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ได้มีการเผยแพร่คลิปเสียงบันทึกการสนทนามีเนื้อหาทำให้เข้าใจได้ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์รายหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องที่ถูกร้องเรียน

ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอันจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ประกอบกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 313/2567 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 ข้อ 6 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ประกอบด้วย

  • ชาติพงษ์ จีระพันธุ์  อัยการอาวุโส ประธานกรรมการ
  • พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
  • นิรันด์ ยั่งยืน รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กรรมการ
  • กฤช เอื้อวงศ์ ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพรสินธุไพร) กรรมการ
  • พ.ต.ต.จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการ
  • วิทยา นิติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการ
  • ปวริษ ผุดผ่อง  คณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) กรรมการ
  • วิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  กรรมการ

หน้าที่และอำนาจ

ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

  1. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมกาารคุ้มครองผู้บริโภค หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ข้อเท็จจริงและมีอำนาจเรียกเอกสารใดๆ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานใดๆ เพื่อประกอบการพิจารณา และให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรวงทอง) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง ในกรณีจำเป็นรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรวงทอง) อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควร
  2. คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
  3. ให้คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักนายกรัฐมนตรี
  4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
ร้องทุกข์ - ร้องเรียน