“สภาองค์กรผู้บริโภค” แนะ สคบ.ออก 3 มาตรการคุมธุรกิจขายวอชเชอร์ล่วงหน้า กันซ้ำรอย “ดารุมะ”

“สภาฯ ผู้บริโภค” แนะภาครัฐออกระเบียบควบคุมการขายวอชเชอร์-ตั๋ว-คูปองล่วงหน้า ผู้ประกอบการ-คนที่นำมาขายต่อต้อง “จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” เพื่อยืนยันตัวและสามารถตรวจสอบได้ มีการออกระเบียบควบคุมจำนวนวอชเชอร์ที่ขาย ระยะเวลาการใช้บริการ จำกัดจำนวนการซื้อต่อราย ป้องกันเจ้าของธุรกิจหลอกขาย-เชิดเงินหนี ดูแลผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

จากกรณีที่ร้านดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi) บุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง ซึ่งปิดขายคูปองบุฟเฟต์ในราคาถูกผ่านระบบออนไลน์ทำให้มีลูกค้าแห่ซื้อเพื่อจองสิทธิในการใช้บริการเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายร้านดารุมะทั้ง 24 สาขา กลับปิดกิจการโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ลูกค้านับหมื่นรายที่ซื้อคูปองบุฟเฟต์ไปแล้วแต่ไม่สามารถใช้บริการได้

กล่าวได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปัญหาลักษณะเดียวกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีร้านบุฟเฟต์อาหารทะเล “แหลมเกต” ซึ่งแม้จะมีการจับกุมดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจซึ่งได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการขายวอชเชอร์-คูปองล่วงหน้าของธุรกิจต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคแต่อย่างใด

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ซื้อคูปองบุฟเฟต์ของดารุมะ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจุบันธุรกิจที่มีการขายวอชเชอร์-คูปองไม่มีกฎหมายกำกับคนขายว่าใครที่จะประกอบธุรกิจนี้จะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ ทั้งที่ตามระเบียบนั้นพ่อค้าค้าแม่ค้าที่ขายของผ่านระบบออนไลน์ ทั้งที่ขายผ่านช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันไลน์ หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่มียอดขายเกินกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนเป็น “ผู้ค้าตลาดแบบตรง” ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2560 เพื่อยืนยันว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ขณะที่ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

แต่วอชเชอร์-คูปองเหล่านี้ขายผ่านออนไลน์เหมือนกันแต่ไม่ได้มาจดทะเบียน ซึ่งจริงๆ ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะโดยพื้นฐานไม่ว่าจะขายอะไรผ่านระบบออนไลน์จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ธุรกิจที่มีการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าไม่มีการกำกับเป็นการเฉพาะ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีการกำกับตลาดขายตรง และการขายของออนไลน์เป็นตลาดขายตรงรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นโดยหลักธุรกิจที่มีการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ต้องไปจดทะเบียนกับ สคบ.

“สคบ.มีกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง มีการกำกับตลาดขายตรง โดยกำหนดว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านต่อปี ต้องจดทะเบียนผู้ค้าตลาดแบบตรง แต่มีช่องว่างตรงที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านต่อปีก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจด แต่เขาต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ข้อดีของ สคบ.ซึ่งมีกรมจดทะเบียน คือ ถ้าดึงผู้ค้าเข้ามาอยู่ในระบบจะมีเกณฑ์เรื่องการวางหลักประกัน สามารถกำหนดกติกาได้ว่าต่อไปนี้ใครที่จะขายวอชเชอร์ คูปอง ส่วนลด ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟต์ต่างๆ ถ้าจะขายต้องจดทะเบียน ต้องวางหลักประกัน เช่น กรณีที่มีปัญหาอย่างดารุมะ ผู้บริโภคสามารถไปรับเงินเยียวยาจากหลักประกันที่วางไว้ได้” นายโสภณ ระบุ

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อาศัยอำนาจตามกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์หรือ Social Media ต้อง “จดทะเบียนพาณิชย์การประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” เพื่อให้ผู้ประกอบการแสดงตนอย่างเปิดเผยต่อทางราชการ และเพื่อให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือจากการมีสถานะตัวตนทางกฎหมาย อันจะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคด้วย

โดย “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2553 มาตรา 5” ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่ กิจการที่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การขายสินค้าออนไลน์จึงนับเป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว

นายโสภณ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาการซื้อคูปองบุฟเฟต์ล่วงหน้าแต่ไม่สามารถใช้บริการได้เนื่องจากผู้ประกอบการปิดกิจการหนีไปแล้ว ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการซื้อบัตรล่วงหน้าเพื่อใช้บริการในอนาคต ทั้งวอชเชอร์ แพกเกจทัวร์ และตั๋วคอนเสิร์ต เช่น จองวอชเชอร์โรงแรม โดยจองไว้ก่อนโควิด แต่พอจะใช้จริงกลับใช้ไม่ได้เนื่องจากธุรกิจโรงแรมประสบปัญหาเศรษฐกิจ การซื้อแพกเกจทัวร์ซึ่งลูกค้าซื้อไว้แล้วพอถึงวันนัดหมายกลับติดต่อเอเยนต์ทัวร์ไม่ได้ ซึ่งสาเหตุมาจากพิษโควิดเช่นกัน ส่วนกรณีดารุมะนั้นช่วงแรกเป็นเรื่องการประกอบธุรกิจตามปกติ แต่พอเกิดปัญหาเศรษฐกิจและสินค้าราคาแพงขึ้นทำให้แบกรับต้นทุนไม่ไหวและไม่สามารถบริหารจัดการได้ปิดกิจการหนีและมีการฉ้อโกง

อีกทั้งที่ผ่านมา ผู้บริโภคยังได้รับความไม่เป็นธรรมจากธุรกิจหรือผู้ค้าที่มีการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ต้องซื้อตั๋วหรือคูปองที่ขายล่วงหน้าในราคาที่สูงกว่าราคาหน้าตั๋วหรือคูปองเนื่องจากมีการกว้านซื้อตั๋วหรือคูปองมาขายต่อเพื่อเอากำไรส่วนต่าง ปัญหาตั๋วปลอม ซึ่งมักเกิดกับสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าสูง เช่น ตั๋วคอนเสิร์ต บางกรณีผู้ซื้อมองว่าราคาคูปองบุฟเฟต์ที่มีผู้นำมาขายต่อเป็นราคาที่พอรับได้ เพราะเจ้าของธุรกิจตั้งราคาคูปองไว้ต่ำมาก แม้จะซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาหน้าคูปอง ก็ยังถูกกว่าการซื้อคูปองหน้าร้าน ลูกค้าบุฟเฟต์ต้องจองคิวโต๊ะล่วงหน้าเป็นเวลานาน สุดท้ายหลายคนใช้ Voucher ไม่ทัน อาหารในไลน์บุฟเฟต์บางเมนูต้องจ่ายเพิ่ม คุณภาพอาหารต่ำกว่าที่ลงโฆษณาไว้

“เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าคนที่ขายคูปองส่วนลดต่างๆ มีตัวตนจริง อาจจะเจอตั๋วหรือคูปองปลอมก็ได้ สินค้าหรือบริการอะไรที่ได้รับความนิยมมักเจอปัญหานี้ เช่น ตั๋วคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ซึ่งมักมีการพิมพ์ตั๋วปลอมและขายผ่านออนไลน์ อีกทั้งยังมีการกว้านซื้อตั๋วคอนเสิร์ตหรือคูปองบุฟเฟต์มาขายในราคาสูงเพื่อฟันกำไร บางครั้งผู้จัดคอนเสิร์ตหรือผู้ประกอบการเองรู้ว่ามีการดำเนินการลักษณะนี้ เพราะมีการซื้อตั๋วหรือคูปองในจำนวนมากๆ แต่ไม่วางมาตรการป้องกัน บางรายมองว่าแค่ขายได้ก็จบ ยิ่งขายได้มากยิ่งดี ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม” นายโสภณ กล่าว

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังได้เสนอแนวทางในการควบคุมดูแลการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าของธุรกิจต่างๆ ว่า สคบ.ซึ่งกำกับดูแล “กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง” กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการควบคุมดังนี้

1) กำหนดให้ธุรกิจที่มีการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยืนยันตัวตน ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อและในกรณีที่มีปัญหาสามารถติดตามทวงถามได้

2) ต้องมีการออกระเบียบเพื่อควบคุมการนำตั๋วหรือคูปองล่วงหน้ามาขาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอันจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่น คูปองที่ขายล่วงหน้าสามารถใช้ได้ภายในระยะเวลาเท่าไร จำนวนที่จะขายล่วงหน้าควรเป็นเท่าไหร่ กำหนดจำนวนคูปองที่จะขายต่อครั้ง-ต่อคนให้ชัดเจนว่าควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อป้องกันการกว้านซื้อเพื่อนำมาขายฟันกำไร อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าของธุรกิจใช้การขายวอชเชอร์ล่วงหน้าเป็นช่องทางในการหลอกเอาเงินจากลูกค้าแล้วปิดกิจการหนีอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

3) ต้องมีหลักประกันให้แก่ผู้ซื้อตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าว่าหากซื้อไปแล้วไม่สามารถใช้ได้จะเรียกร้องเงินคืนจากเจ้าของธุรกิจหรือหน่วยงานไหน อย่างไร และต้องกำหนดว่าผู้เสียหายได้เงินคืนภายในระยะเวลาเท่าไหร่

“ต้องตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเรามีปัญหากรณีการซื้อคูปองบุฟเฟต์ล่วงหน้าของร้านบุฟเฟต์อาหารทะเลแหลมเกต ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคอย่างมากให้เห็นมาแล้ว ล่าสุด มีกรณีดารุมะที่มีผู้เสียหายนับหมื่นคน มูลค่าความเสียหายถึง 30 ล้านบาท เกิดขึ้นอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอำนาจทางกฎหมายจะออกมาตรการกำกับได้หรือยัง?” นายโสภณ กล่าว

 

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน