- นายอนวัทย์ วงศ์ช่วย นวก.ชำนาญการ สำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา
“สำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา มีการพัฒนาเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งมวลชนอื่นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายเส้นทางรถโดยสารประจำทาง การเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งสาธารณะและการแก้ไขปัญหารถสาธารณะ มีการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงคมนาคม ให้เชื่อมต่อการเดินทางทุกรูปแบบ ระหว่างสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ และท่าอากาศยาน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชน คือ DLT Smart Queue เป็นแอพพลิเคชั่นคิวอัตโนมัติของกรมการขนส่งทางบก ใช้สำหรับการรับคิว ดูคิว การจองคิว สำนักงานฯลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ควบคุม กำกับ ดูแลการให้บริการ ณ จุดบริการรถสาธารณะ การแก้ไขปัญหารถรับจ้างสาธารณะ ทำความเข้าใจการให้บริการที่ดีในกลุ่มผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างและผู้ขับรถตู้ให้บริการกลุ่มทัวร์”
- นายสัมฤทธิ์ บุญรัตน์ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่
“การจัดการระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหาดใหญ่ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) น่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน เพิ่มศักยภาพการศึกษาและเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต ภาคีหลายภาคส่วนต้องร่วมกันทำ สถานการณ์ในเมืองหาดใหญ่ ตำรวจจราจรมีความสำคัญในการจัดการจราจรในเมือง โดยเทศบาลฯมีการจัดการจราจรแต่ละจุดร่วมกับตำรวจจราจร การจัดระเบียบสถานีขนส่ง1และ2 โดยกำหนดจุดจอดรถรับส่งผู้โดยสารเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจัดระเบียบการรุกล้ำพื้นที่ทางเท้า และการปรับภูมิทัศน์ทางเดินส่วนล่างของสถานีรถไฟหาดใหญ่ให้มีความสว่าง เทศบาลฯมีแผนปรับปรุงพื้นที่ทางเท้า การปรับพื้นผิวจราจรเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ การปรับภูมิทัศน์ให้มีความสว่างเพียงพอ และจัดระเบียบต่างๆให้ดีขึ้น”
- นายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล ประธานมูลนิธิทักษิณคดีศึกษาและหัวหน้าโครงการวิจัยคลองเตยลิ้งก์ : การวิจัยและพัฒนาเทศบาลนครหาดใหญ่สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้
“ระบบขนส่งมวลชนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบขนส่งสาธารณะจะให้บริการวิ่งรถตามใจผู้ใช้บริการ เช่นรถรับจ้าง รถสามล้อ แต่ระบบขนส่งมวลชนคือกำหนดการให้บริการวิ่งรถตามเส้นทางที่กำหนดและขนส่งคนทีละเยอะๆ หากต้องการให้เมืองหาดใหญ่มีการพัฒนา ต้องมีผู้รับผิดชอบ กำหนดบทบาทความรับผิดชอบชัดเจน ขนส่งมวลชนเป็นระบบนึงที่รัฐต้องจัดบริการให้ประชาชน เทศบาลนครหาดใหญ่ต้องกำหนดเขตเมือง เพื่อการพัฒนาเมืองโดยให้มีเขตธุรกิจใหม่ หากกฎหมายใดที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ ต้องมีการแก้ไขข้อเสนอกฎหมายใหม่ ให้มีการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเติบโตได้และให้ผู้ใช้บริการจ่ายค่ารถที่เป็นธรรม รวมถึงต้องมีผู้ชำนาญด้านการออกแบบเมือง เพื่อคิดออกแบบระบบขนส่งฯตอบโจทย์ สอดคล้องต่อการพัฒนา โดยจัดเส้นทางการเดินเท้าที่มีความปลอดภัย และการจัดการเรื่องการสัญจรของเมืองได้อย่างเป็นระบบ พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัยและเป็นธรรม”
- นายวรพงศ์ ราคลี เครือข่าย Smart Growth Thailand
“จะทำอย่างไรให้ระบบขนส่งสาธารณะอยู่ได้และมั่นคง ข้อจำกัดที่เจอคือการเมืองท้องถิ่นและการตัดสินใจด้านข้อกฎหมาย หากต้องการพัฒนาระบบขนส่งในเมืองใหญ่ อปท.ในจังหวัดสงขลาร่วมกันและวางแผนแม่บท ปรับแผนผังเฉพาะ สามารถนำไปสู่การแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง และการสร้างความเจริญไปพร้อมกับสุขภาวะที่ดีของคนเมืองได้ “
- ผศ.ดร.วชรินทร์ แก้วอภิชัย รอง ผอ.สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิตัล ม.อ. / ที่ปรึกษา บ.โพธิ์ทองขนส่ง-2505 จำกัด
“เดิมเมืองหาดใหญ่ มีรถไฟ เครื่องบิน และมีขนส่งมวลชน ขนส่งส่วนบุคคล สิ่งที่เป็นปัญหาคือภาครัฐไม่ได้มองขนส่งมวลชนเป็นหนึ่งในโครงสร้างของเมืองและไม่สนับสนุนการจัดการระบบขนส่ง ส่วนแผนการจัดการในเขตธุรกิจใหม่ยังไม่มีอะไรมารองรับและไม่เชื่อมกับระบบราง เขตธุรกิจใหม่เป็นการรักษาลูกหลานให้อยู่ในเมืองหาดใหญ่ ส่งเสริมเมืองแห่งการเดิน ลดปัญหารถติด มลพิษอากาศ ให้มีรถรับส่งนักเรียน ต้องดึงคนจากภายนอกโดยเฉพาะต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย และควรกำหนดจุดเด่นคือการกำหนดค่าโดยสารอย่างสมเหตุสมผล มีความสมาร์ท ออกแบบให้รองรับผู้สูงวัยและผู้ป่วยเข้าถึงบริการขนส่งได้ง่าย”
- รศ.ดร.ชลัท ทิพากรเกียรติ อาจารย์สาขาวิศวะกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
“การพัฒนาระบบขนส่งฯในเมืองหาดใหญ่ ต้องมีข้อมูลลักษณะการเดินทางและการออกแบบให้ตรงตามความต้องการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะตอบสนองอย่างไร ซึ่งตอนนี้มีข้อมูลเพียงพอแล้ว แต่ยังขาดกลไกการเชื่อมโยงการนำส่งข้อมูลทั้งสองฝั่งคือผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการ”