ผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟเดือนก.ย. 2566 ไปแล้ว ไม่ต้องกังวลและไม่ต้องทำอะไร “การไฟฟ้า” จะคืนส่วนลดค่าไฟให้ในเดือนถัดไปทันที ภายหลัง “กกพ.” ประกาศ ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามมติ ครม. มีผลตั้งแต่ ก.ย. 66
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนก.ย. – ธ.ค. 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้กระทรวงพลังงาน และ กกพ. พร้อมรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น
ล่าสุด ในการประชุม กกพ. วันที่ 5 ต.ค. 2566 มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) เรียกเก็บในงวดเดือนก.ย. – ธ.ค. 2566 ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมติ ครม.
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะส่งหนังสือแจ้งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อประกาศค่าเอฟทีค่าใหม่ในรอบเดือนก.ย. -ธ.ค. 2566 ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟฟ้าที่ได้เรียกเก็บค่าไฟของเดือนก.ย. 2566 ไปแล้ว จะได้รับการหักส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวในรอบบิลเดือนต.ค. 2566
รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 สำนักงาน กกพ. ได้กฟผ. และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น การกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามมติกกพ. เดิมที่หน่วยละ 4.45 บาทนั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ.2565
แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ ซึ่ง กฟผ. เสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงต้องร่วมรับภารประมาณ 25.52 สตางค์ต่อหน่วย ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง
ดังนั้น การปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่กำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้าง ซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ ทั้งนี้ เมื่อ ครม. มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ. จึงสามารถเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวที่ประมาณ 7.69 สตางค์ต่อหน่วย หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท จากเดิมที่ควรจะได้งวดละกว่า 2 หมื่นล้านบาท