วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันการแถลงข่าวและนำเสนอผลการศึกษาเรื่องการปนเปื้อนของสาร PFAS “สารเคมีตลอดกาล (Forever chemicals)” ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ โดยได้แสดงผลการตรวจตัวอย่างสินค้าเสื้อผ้าจากประเทศไทย เพื่อจุดประกาย สร้างความเข้าใจต่อสังคมไทยที่ยังไม่ค่อยรู้จักสารเคมี PFAS และเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่สารเคมีกลุ่มนี้วนเวียนอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์เรา โดยอยู่ชิดติดร่างกายในชีวิตประจำวันกันเลยทีเดียว ในขณะเดียวกัน อันตรายของสารเคมีกลุ่มนี้ก็เป็นที่ค้นพบออกมาเรื่อยๆ โดยสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งต่อการเจริญพันธุ์ การพัฒนาการของทารก และการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ซึ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างเป็นปกติของมนุษย์ทั้งทางร่างกาย ระบบประสาท และจิตใจ ในปัจจุบัน ทั้งอเมริกาและยุโรปต่างมีการรณรงค์ให้เลิกการใช้สารเคมีกลุ่มนี้ ภายหลังจากที่ได้เคยพยายามกำหนดเกณฑ์การใช้แล้ว แต่ไม่เพียงพอที่จะหยุดอันตรายจากสารกลุ่ม PFAS หรือ สารเคมีตลอดกาลที่ยังคงมีการปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีอายุการคงอยู่ยาวนานอย่างไม่รู้จบสิ้น ในที่สุดแล้ว การห้ามใช้จึงเป็นคำตอบ
สาร PFAS หรือ Per-and Polyfluoroalkyl Substances เป็นสารเคมีกลุ่มใหญ่ที่ถูกใช้กันแพร่หลายในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของสินค้าอุปโภคต่างๆ ด้วยคุณสมบัติที่สะท้อนน้ำ ป้องกันคราบน้ำมัน หรือรอยเปื้อนต่างๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ได้ดี ดังนั้นจึงถูกใช้ในการผลิตอุปกรณ์กันฝนต่างๆ ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ภาชนะบรรจุอาหาร รวมถึงเครื่องครัวชนิดป้องกันการติด (nonstick) และโฟมดับเพลิง
ตามฐานข้อมูลระดับโลกของ OECD ปี ค.ศ. 2018 ระบุว่า มีสารเคมี PFAS มากกว่า 4,700 ตัวที่ใช้อยู่ในตลาด โดยสารเคมีในกลุ่ม PFAS ทุกตัวมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูออรีนที่ยึดเหนี่ยวกันแน่น จึงมีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก สารกลุ่มนี้จึงมักถูกเรียกว่า “สารเคมีตลอดกาล” ในความหมายที่ว่าค่อนข้างมีความเป็นอมตะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากจะสูญสลาย งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า PFAS จะถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดช่วงชีวิตของมัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้ และการกำจัด ด้วยเหตุนี้รวมกับการที่มันถูกกำจัดได้ยาก สารเคมีเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมจึงมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีผลการศึกษาที่ยืนยันว่า PFAS สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากมาย ทั้งต่อการเจริญพันธุ์ การพัฒนาการของทารก และการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ การทำงานที่เป็นปกติของฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่เป็นสิ่งสำคัญต่อหลายช่วงเวลาของชีวิต เช่น เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาตัวอ่อนและสมองช่วงก่อนคลอด และยังเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับอาการวัยทองในช่วงหลังหมดประจำเดือน อีกทั้ง PFAS ยังส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันและมีความเป็นไปได้ที่จะลดประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งประเด็นนี้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วงการระบาดของโควิด 19 นอกจากนี้ ระดับ PFAS ในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการติดเชื้อโควิด 19 ที่รุนแรงขึ้นด้วย
IPEN หรือเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ตั้งเป้าหมายว่าอนาคตของโลกเราควรจะต้องปลอดมลพิษเพื่อความปลอดภัยทั้งของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอื่น และระบบนิเวศ ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับ PFAS ทั้งในเสื้อผ้า ภาชนะบรรจุอาหาร และน้ำอุปโภคบริโภคในชุมชน โดยในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ IPEN ร่วมกับสมาคมอาร์ริก้า (Arnika) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านมลพิษของประเทศสาธารณรัฐเชก ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินการใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อแจ็กเก็ตและเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งใน 4 ทวีป ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ทำงานด้านมลพิษในประเทศ และเป็นสมาชิก IPEN ได้เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ ร้อยละ 50 ของ PFAS ที่ใช้ในโลกนี้ เป็นการใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยผู้ผลิตสิ่งทอจะใช้สารดังกล่าวเพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำและน้ำมันในการผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติกันฝนและกันรอยเปื้อน
ในการศึกษาครั้งนี้ มีสมาชิกของ IPEN จาก 13 ประเทศ ส่งตัวอย่างเข้าร่วม ประกอบด้วย ประเทศในยุโรป 7 ประเทศ (เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร) 4 ประเทศในเอเชีย (บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย) สหรัฐอเมริกา และเคนยา องค์กรจาก 13 ประเทศร่วมกันเก็บตัวอย่างเสื้อแจ็กเก็ตแบบบางและสิ่งทอชนิดอื่นที่ได้รับการออกแบบให้มีคุณสมบัติกันน้ำหรือกันรอยเปื้อน โดยส่วนใหญ่เป็นแจ็กเก็ตสำหรับเด็ก รวมจำนวนทั้งสิ้นมากกว่าหนึ่งร้อยตัว การเก็บตัวอย่างดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 – 2023 แตกต่างกันในแต่ละทวีป จากร้านออนไลน์และห้างทั่วไป รวมถึงตลาดนัดเสื้อมือสอง จากตัวอย่างทั้งหมดได้มีการคัดเลือกเหลือ 72 ตัวอย่าง เพื่อเฉลี่ยตัวอย่างจากโซนเดียวกัน แล้วนำไปทำการตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการของสถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชารล์ส สาธารณรัฐเชก โดยดำเนินการทดสอบ 2 ประเภท ได้แก่ การตรวจหาสารกลุ่ม PFAS ตัวที่ระบุ 58 ชนิด และการวัดระดับ EOF (Extractable Organic Fluorine) หรือ ปริมาณฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ ซึ่งผลที่ได้จะสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS
จากที่ทาง IPEN ได้แถลงผลการตรวจวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา โดยภาพรวมสรุปได้ว่า จากเสื้อผ้า 72 ตัวอย่าง (แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่นอีก 16 ตัวอย่าง) พบว่ามี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.3) ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้พบเสื้อกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด
นอกจากนั้น การศึกษาครั้งนี้ยังได้ตรวจพบสาร PFOA ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเคมี PFAS ที่รู้จักกันดีว่ามีความเป็นพิษสูงและถูกห้ามใช้แล้วทั่วโลก แต่กลับเป็นสารที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง และยังพบสารเคมีอีกหลายชนิดที่สหภาพยุโรปเสนอให้ห้ามใช้ในทุกประเทศแล้ว ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า สารเคมีกลุ่ม PFAS นั้นมีการใช้ในอเมริกาและยุโรป มายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แล้ว แต่เพิ่งเป็นที่ค้นพบว่าเป็นสารกลุ่มอันตรายต่อชีวิตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศยุติการใช้แล้ว และหลายประเทศกำลังรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้แล้วทั่วโลก สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ เมื่อทางมูลนิธิบูรณะนิเวศได้รับการติดต่อจาก IPEN จึงได้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยครั้งนี้ด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องของอันตรายใกล้ตัวประชาชน
“เราจัดส่งเสื้อแจ็กเก็ตที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าของบางยี่ห้อไปร่วมการตรวจ 6 ตัวอย่าง ปรากฏว่าพบสารเคมี PFAS ในทุกตัวอย่าง และมี 1 ตัวอย่างจากประเทศไทยที่พบสาร PFAS สูงติดอันดับสูงสุด 10 ตัวอย่างจากทั่วโลก ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชีย ตัวอย่างจากประเทศไทยดังกล่าวพบสารปนเปื้อน PFAS สูงเป็นลำดับที่ 2” ฐิติกร ผู้แทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวสรุปถึงผลการศึกษาในส่วนของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย
ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้เฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มเสื้อผ้า สิ่งทอมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งตรวจหาสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับ/ย่น) และค่าความเป็นกรด-ด่าง ในกลุ่มกางเกงชั้นในของผู้ชาย ชุดชั้นในหญิง ในปี 2556 และเฝ้าระวังต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งผลการทดสอบยังพบสารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ในตัวอย่างทุกครั้งของการตรวจ
ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายเผยแพร่ และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ แสดงความคิดเห็นว่า จากผลการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินการใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อแจ็กเก็ตและเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งครั้งนี้ นับได้ว่ามีความน่าห่วงกังวล เนื่องจากทั้งๆ ที่มีการรณรงค์เลิกใช้สารเคมีดังกล่าวในระดับโลก แต่ผลการตรวจยังพบการปนเปื้อนจำนวนมาก และที่สำคัญคือ พบว่าสินค้าส่วนใหญ่ที่ตรวจพบสารเคมีนั้นเป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำหรับเด็กด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องน่ายินดีที่ผลการทดสอบยังพบว่า มีแจ็กเก็ตกันน้ำกันเปื้อนถึง 21 ตัวอย่างที่ไม่ได้ใช้สารกลุ่ม PFAS แต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า PFAS นั้นมีอยู่ และมีบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมได้นำมาใช้แล้ว
“สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน นั่นคือการเลือกสรรเฉพาะวัตถุดิบที่ปลอดภัยมาใช้ในการผลิต ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยเลือกแนวทางเช่นนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความใส่ใจต่อผู้บริโภคแล้ว ยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังจะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าสิ่งทอของประเทศไทยโดยรวมด้วย” ทัศนีย์กล่าวทิ้งท้าย
ด้านฐิติกรให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของการควบคุมสารเคมี PFAS ในเชิงภาพรวมของประเทศไทยว่า “ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC กำลังให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้สารกลุ่ม PFAS ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสารดับเพลิง ซึ่งแสดงให้เห็นเรา สำหรับประเทศไทยแล้ว เรายังอยู่ในช่วงของการเริ่มเรียนรู้เท่านั้น ดังนั้น เรื่องของการกำหนดค่ามาตรฐานหรือการมีกฎหมายเข้ามาควบคุมการใช้สารเคมีกลุ่มนี้จึงนับว่าไม่ทันการณ์ ดังนั้น เราจึงควรกระโดดข้ามขั้นตอนดังกล่าวไปได้เลย นั่นคือตั้งเป้าหมายไปสู่การยุติการใช้ อย่างที่โลกตะวันตกต่างมีบทสรุปออกมาแล้ว พร้อมกันนี้ ผู้แทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศมีข้อเสนอว่า “เราอยากรณรงค์ให้เกิดการเลิกใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้า คือตั้งแต่ต้นทาง แต่หากผู้ผลิตยังไม่สามารถยกเลิกการใช้ได้ คำแนะนำของเราที่คิดว่าทำได้ในวันนี้เลยก็คือ ควรติดฉลากเพื่อบอกผู้บริโภคว่าสินค้าชิ้นไหนมีสาร PFAS เราร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคครั้งนี้ ไม่เพียงเพื่อร่วมกันเผยแพร่ข้อมูล แต่เรายังหวังว่า ในระดับนโยบาย ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน จะตระหนักถึงอันตรายและให้มีการเลิกใช้โดยสิ้นเชิงในประเทศไทย เพราะสารนี้สะสมอยู่สภาพแวดล้อมในระดับที่อันตรายแล้ว และจะไม่สลายตัวไปโดยง่าย การหยุดวงจรการใช้สาร PFAS ที่ต้นทาง จึงดีที่สุด”
ร่วมประกาศการไม่ใช้สาร PFAS ได้ที่ www.pfasfree.org.uk/pfas-free-products และ www.pfascentral.org/pfas-free-products
จากสิ่งที่พบในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ IPEN และเครือข่ายองค์กรสมาชิก ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศดำเนินการดังนี้
- ออกประกาศห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ
- สนับสนุนการพัฒนาข้อกำหนดในการควบคุมสารเหล่านี้ทั้งหมดในระดับสากล (รวมถึงฟลูออริเนตโพลีเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและฟลูออโรโพลิเมอร์) และปฏิบัติตามอย่างกลไก
- บังคับให้มีการเปิดเผยวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ออกกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในสินค้าต่อประชาชนทั่วไป ร้านค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล
- วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การสนับสนุนทางการเงิน และการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอด PFAS โดยดูแลให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อพนักงานและชุมชน
- เพิ่มทรัพยากรและศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร PFAS
ยืนยันว่า การใช้ PFAS ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่นั้นไม่มีความจำเป็น และมีสารอื่นที่ใช้ทดแทนได้ ตัวอย่างของทางเลือกโดยไม่ต้องใช้ PFAS ได้แก่ ผ้าที่ทอแน่นและวัสดุที่ทำจากพืช เป็นต้น สามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาฯ ได้ที่ : https://www.facebook.com/EarthEcoAlert