เปิดผลศึกษา ‘ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม’ ผู้บริโภคเซ็นด้วยภาวะจำยอม-ไร้อำนาจต่อรอง

นักวิจัย ชี้สถิติร้องทุกข์ผู้บริโภคเฉพาะด้านสัญญา ตั้งแต่ปี 62 – 65 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ระบุผลศึกษา กม.คุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ เทียบกับไทย ห่วง ‘สัญญาสำเร็จรูป’  แม้มีข้อดี แต่ข้อเสียคือผู้ประกอบการเท่านั้นที่มีอำนาจกำหนดเนื้อหาในสัญญา แนะสภาผู้บริโภคจัดทำคู่มือแนะนำ พร้อมกับผลักดันให้เกิด มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

วันที่ 9 กันยายน 2567 สภาผู้บริโภคร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีนำเสนอผลการวิจัย เรื่องแนวทางพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาในทุกด้าน ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก โดยมี สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเปิดงาน

สารี อ๋องสมหวัง

เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาข้อร้องเรียนจำนวนไม่น้อยเกิดจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการซื้อบ้านที่อยู่อาศัย คอนโดมีเนียม พบว่าบางกรณีข้อสัญญาไม่เป็นคุณกับผู้บริโภค จนท้ายสุดผู้บริโภคถูกริบเงินจอง ซึ่งจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคตรวจสอบสัญญาก่อน ไม่ใช่ทำสัญญาในภาวะจำยอมหรือทำสัญญาแล้วเกิดความเสียหาย ดังนั้น สภาผู้บริโภคอยากให้มีหลักการกลางในการทำสัญญาเหมือนในต่างประเทศ

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวถึงเสริมถึงสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม บางสัญญานำไปสู่เรื่องของการฉ้อโกง การหลอกลวงได้ โดยตั้งคำถามระบบสัญญาที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นเพียงพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งหากดูจากสถิติเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาที่สภาผู้บริโภค พบว่า มีกว่า 1,300 เรื่อง ที่มีปัญหาข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ทั้งในหมวดของสินค้าและบริการ การซื้อรถ ซื้อสินค้าออนไลน์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ และการเงินการธนาคาร สินเชื่อจำนวนทะเบียนรถ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ประกันที่มีข้อสัญญาสำเร็จรูป

“ผู้บริโภคหลายคนคิดว่า เรื่องของเงินมัดจำ หากผิดสัญญาจะโดนริบเงินมัดจำ แต่ในข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มีการคุ้มครองผู้บริโภค หากเป็นเงินมัดจำที่จำนวนสูงเกินไป มีสิทธิได้เงินคืนบางส่วนได้ แต่ข้อเสียคือต้องให้ศาลสั่ง”

โสภณ หนูรัตน์

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิฯ กล่าวต่อเรื่องประกันปิดบัญชีเงินกู้กับบริษัทศรีสวัสดิ์ มีผู้บริโภคไม่ได้สัญญา ไม่ได้เล่มทะเบียน และเมื่อติดตามทวงเล่มกลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ประเด็นเหล่านี้ไม่มีเขียนไว้ในสัญญาจึงเกิดคำถาม สินเชื่อส่วนบุคคลลักษณะแบบนี้ มีหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่ หรือในประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีประกาศที่เกี่ยวกับการปิดยอดหนี้  ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ อีกได้หรือไม่ ก็พบว่า สคบ.ไม่ได้เขียนครอบคลุมเรื่องนี้เอาไว้ ดังนั้น เรื่องสิทธิในการได้รับความเป็นธรรมในสัญญาผู้บริโภคจึงยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองที่ชัดเจน

“พฤติการณ์ของทางกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ สภาผู้บริโภคเจอประเด็นความไม่เป็นธรรมในการทำสัญญานี้เกิดขึ้นหลายส่วน ส่วนแรกก็คือเรื่องของการคิดดอกเบี้ย ส่วนที่สอง คือไม่มีสัญญากู้ให้กับผู้บริโภค และส่วนที่สามการโฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียม แต่เมื่อเกิดสัญญาแล้วมีการเก็บค่าธรรมเนียม และยังมีเรื่องของการให้เงินไม่ครบตามสัญญา นี่คือ รูปแบบของการเกิดสัญญาที่ไม่เป็นธรรม”

 

เปิดกฎหมายหลักในแต่ละกลุ่มประเทศ

ดร. กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ทำงานวิจัยเรื่อง “แนวทางพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาในทุกด้าน” กล่าวถึงสถิติการร้องทุกข์จากผู้บริโภคเฉพาะด้านสัญญา รวบรวมจากทางเว็บไซต์ของสคบ. ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 จะเห็นว่า ในปี 2562 มีเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคเฉพาะด้านสัญญา 3,902 เรื่อง ปี 2563 จำนวน 3,102 เรื่อง เป็นการรวบรวมข้อมูลเฉพาะในส่วนกลาง จนมาปี 2564 มีเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคเฉพาะสัญญาจำนวน 3,969 เรื่อง และเริ่มมีสถิติการร้องทุกข์ในส่วนของภูมิภาคเข้ามา 850 เรื่อง ปี 2565  มีข้อร้องเรียนในเรื่องของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในส่วนกลาง  2,964 เรื่อง จากส่วนภูมิภาค 1,149 เรื่อง ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านข้อสัญญาในประเทศไทย ที่มีปัญหาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

แผนภูมิเปรียบเทียบสิถิติการร้องทุกข์จากผู้บริโภค

สำหรับผลการศึกษาแนวทางพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาในทุกด้านกฎหมายของประเทศไทย มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ขณะที่สหภาพยุโรป มีข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยการแสดงราคาสินค้าที่มีการเสนอขายต่อผู้บริโภค (Directive 98/6/EC) ข้อบังคับสหภาพยุโรปด้านข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (Council Directive 93/13/EEC) ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้บริโภค (Directive 2011/83/EU on consumer rights) และ ข้อบังคับสหภาพยุโรปว่าด้วยแนวปฏิบัติทางการค้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคที่ไม่เป็นธรรมในตลาดภายใน (Directive 2005/29/EC)

ส่วนเครือรัฐออสเตรเลีย มีพระราชบัญญัติการแข่งขันและผู้บริโภค ค.ศ. 2010 (the Competition and Consumer Act 2010) the Australia Consumer Law Schedule 2 และพระราชบัญญัติคณะกรรมการการลงทุนและความมั่นคงแห่งออสเตรเลีย ค.ศ. 2011(the Australian Securities and Investments Commission Act 2001) และสหราชอาณาจักร มีพระราชบัญญัติข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ค.ศ. 1977 พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ค.ศ. 2015

ส่วนแนวการวินิจฉัยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สหภาพยุโรป มีการกำหนดลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไว้ในภาคผนวกท้ายข้อบังคับ จำนวน 17 ลักษณะ เครือรัฐออสเตรเลีย มีการกำหนดลักษณะของสัญญาที่อาจมีความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยเป็นสัญญาที่ขัดต่อกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือแนวปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ จำนวน 14 ลักษณะ สหราชอาณาจักร มี “บัญชีเทา” (A grey list) หรือบัญชีข้อแนะนำ และข้อไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพื่อใช้ในการรวบรวมลักษณะของข้อความที่อาจมีความไม่เป็นธรรมในข้อสัญญาเพื่อผู้บริโภค

กฎหมายไทยมีเพียบ แต่ทำไมผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ   

ดร. กฤษฎา กล่าวว่าถ้าดูจาก 3 กลุ่มประเทศ จะพบว่า ทั้งอียู ออสเตรเลีย อังกฤษ จะมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นแนวการวินิจฉัยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมซึ่งคล้ายกับการกำหนดแนวทางหรือไกด์ไลน์ในการช่วยศาลในการพิจารณาว่า ข้อสัญญาที่คู่สัญญาได้ทำกันขึ้นมานั้น มีความเป็นธรรมหรือไม่ นอกจากนี้ไกด์ไลน์ ยังเป็นประโยชน์กับตัวคู่สัญญาในการทำความตกลงกันตั้งแต่ตอนเริ่มทำสัญญาใหม่ระหว่างทาง คือตอนทำสัญญา ปลายทางคือหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายสามารถดึงเอาไกด์ไลน์ไปใช้ร่วมเป็นดุลพินิจในการพิจารณาข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตรงนั้นได้

ประเทศไทยการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  ดร. กฤษฎา ตั้งเป็นคำถาม เพื่อให้หาคำตอบ “ทำไมถึงยังมีปัญหาอยู่”

ดร. กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

จากการศึกษาแนวทางพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาในทุกด้าน พบปัญหา 3 ข้อ ได้แก่ 1. ปัญหาด้านข้อจำกัดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สคบ.สามารถออกประกาศควบคุมสัญญาได้เฉพาะแต่ข้อสัญญาที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นตัวหนังสือ 2. สภาพบังคับของประกาศธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 3. การให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ อัตรากำลัง การทำงานอยู่ในลักษณะที่เป็นงานฝากไว้กับหน่วยงานอื่น เช่น ศูนย์ดำรงธรรม

ขณะเดียวกันข้อจำกัดอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการตีความได้เฉพาะในกรณีที่กฎหมายเปิดช่องให้เท่านั้น และปัญหาการใช้ดุลพินิจที่อาจเป็นการแทรกแซงการแข่งขันทางการค้า

 

ในดีมีเสีย สัญญาสำเร็จรูป

ปัญหาการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา  ดร. กฤษฎา เห็นว่า เกิดจากอำนาจทับซ้อนของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ปัญหาเกิดจากผู้ประกอบธุรกิจ ที่ไม่เปิดโอกาสให้แก่ผู้บริโภคในการเจรจา หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในข้อสัญญา

“ทุกวันนี้เราใช้ข้อสัญญาสำเร็จรูป (standard form) แม้จะมีข้อดีทำให้สัญญาเป็นรูปแบบเดียวกัน แต่ข้อเสียคือ ผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ที่มีอำนาจกำหนดเนื้อหาในสัญญา นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขข้อสัญญาที่ตนเป็นฝ่ายแพ้คดี เพื่อหลบเลี่ยงด้วย”

นอกจากนี้ ปัญหายังเกิดจากผู้บริโภคบางส่วนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาในสัญญา มุ่งที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสัญญา บางรายที่มีพฤติการณ์ไม่สุจริต เช่น ผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคที่สุจริตต้องร่วมรับภาระการปฏิบัติตามสัญญาที่มีเงื่อนไขความรับผิดเช่นว่านี้ด้วย และปัญหาที่เกิดจากข้อสัญญา ปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดี และปัญหาการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคด้านเทคโนโลยี

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุด้วยว่า  วันนี้กฎหมายของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ยอมรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่มีผลตามกฎหมาย ขณะเดียวกันกฎหมายของไทยหลายฉบับยังตามหลังสภาพปัญหา ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี  ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือทางแอพลิเคชั่นต่าง ๆ บางราย มีข้อกำหนดให้ผู้บริโภคจำต้องกด “ยอมรับ” (accept)เนื้อหา ข้อตกลงในสัญญาที่มีการแก้ไขก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้  นี่อาจจะเป็นปัญหาสัญญาไม่เป็นธรรม  เพราะการปรับปรุงข้อสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นปัจจุบัน (update)  ไม่อาจหาสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ฉบับที่มีเนื้อหา หรือข้อกำหนดในสัญญาเดิมมาใช้เป็นพยานหลักฐานได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล  ปัญหาการไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซง หรือมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ให้บริการ Platform หรือ Social Media แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานชุมชนให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในของประเทศไทยได้

ทั้งนี้ ผลการศึกษามีข้อเสนอ อาทิ

  • ให้สภาผู้บริโภคพิจารณาดำเนินการ ทำการศึกษาเพื่อจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่  กำกับดูแล ตรวจสอบ ให้คำรับรองข้อสัญญา  จัดทำรวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมข้อแนะนำหรือคู่มือให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจในการจัดทำสัญญา ให้คำปรึกษา แนะนำ อธิบายข้อสัญญา ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักถึงผลเสียจากการเข้าทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค
  • ควรผลักดันให้เกิดแนวทางหรือมาตรการในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคจากการทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์
  • สภาผู้บริโภคควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือในทางระหว่างประเทศ
  • ประกาศหรือเผยแพร่ผลของคำพิพากษาโดยสรุปให้ผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงลักษณะของข้อสัญญาที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ร้องทุกข์ - ร้องเรียน