เวทีสภาผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ผลักดันนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด 3 ประเด็น ใบเสร็จรับเงิน ชัดเจน อ่านง่าย ตรวจสอบได้/จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ ผู้บริโภคอุ่นใจ ลดภัยมิจฉาชีพ /ฉลากถังแก็ซหุงต้ม…ต้องชัดเจน ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ทางสมาคมผู้บริโภคสงขลา หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลาสภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีสภาผู้บริโภคสงขลา ตอนการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล นายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวรายงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ของเวทีสภาผู้บริโภค วัตถุประสงค์เพื่อ 1. นำเสนอผลการดำเนินงานประจำจังหวัดสงขลาในรอบปีที่ผ่านมา แบะเชื่อมโยงการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายขิงสภาองค์กรของผู้บริโภค2. เพื่อนำเสนอข้อเสนอนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย 3. เพื่อสร้างกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานพลังงานจังหวัด ตำรวจภูธรหาดใหญ่ สำนักงานพานิชย์จังหวัดสงขลา สำนักงานสรรพสามิตรจังหวัดสงขลา ตัวแทนจากพรรคการเมือง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาธิปัตย์ และภาคีภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ เครอข่ายผู้ติดเชื้อจ.สงขลา เครือข่ายศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ และตัวแทนผู้บริโภค16 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ร่วมประชุม
นายรุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด โดยเน้นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน และพัฒนาการในกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคระดับท้องถิ่น ซึ่งจะมีการดำเนินให้เกิดความครอบคลุมทั้งระดับเทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบล ที่จะมีตัวแทนของผู้บริโภคร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงความเดือดร้อนและสร้างช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนให้มากขึ้น
ช่วงเช้าเป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานของหน่วยงานประจำจ.สงขลา ในภารกิจ การดำเนินงาน 6 ด้าน
1.เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานรัฐในระดับจังหวัด
2.การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การรับเรื่องร้องเรียนแก้ไขปัญหา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
3.ตรวจสอบติดตามการเฝ้าระวังปัญหาผู้บริโภคตามสถานการณ์ปัญหาของพื้นที่
4.สนับสนุนการรวมตัวการรวมกลุ่มของสมาชิก และองค์กรผู้บริโภคภายในจังหวัด
5.สนับสนุนให้องค์กรสมาชิกและองค์กรผู้บริโภคภายในจังหวัดร่วมกันผลักดันนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค
6.ดำเนินดคีตามระเบียบของสภาองค์กรของผู้บริโภค
จากการดำเนินงานของ หน่วยงานประจำจ.สงขลา ในช่วงปีงบประมาณ 2566 มีการจัดการรับเรื่องงร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค จำนวน 306 กรณี จากประเด็นปัญหา 8 ด้าน
อันดับที่ 1 ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 127 กรณี ปัญหาการส่ง sms รบกวน ที่แอบอ้างถึงหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และธนาคาร แก็งค์คอลเซ็นเตอร์รบกวน คุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ต
อันดับที่ 2 ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 71 กรณี พบปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊กแล้วได้รับสินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า การผิดสัญญาการซื้อสินค้าหรือบริการในบูธจำหน่ายสินค้าและในสถานบริการต่างๆ
อันดับที่ 3 การเงินการธนาคาร 33 กรณี พบปัญหากรณีถูกปัญหามิจฉาชีพแอบอ้างหน่วยงานรัฐ หลอกให้โอนเงิน ดูดเงินจากบัญชีธนาคาร แอพกู้ยืมเงินผิดกฎหมายที่หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หลอกให้โอนเงินค่าสมัครใช้บริการ การทวงหนี้ที่มีพฤติกรรมข่มขู่ผู้บริโภค
จากการทำงานรับเรื่องงร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคของสมาคมผู้บริโภคสงขลา หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา มีมูลค่าความเสียหายของผู้บริโภค จำนวน 50,052,750 บาท
จากนั้นเป็นการนำเสนอนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยหน่วยงาน พรรคการเมืองและ เครือข่ายผู้บริโภคในจังหวัดสงขลา ใน 3 ประเด็น คือ 1.ใบเสร็จรับเงิน ชัดเจน อ่าน 2.จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ ผู้บริโภคอุ่นใจ ลดภัยมิจฉาชีพ ง่าย ตรวจสอบได้ 3.ฉลากถังแก็ซหุงต้ม…ต้องชัดเจน ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
1.ใบเสร็จรับเงิน ชัดเจน อ่านง่าย ตรวจสอบได้
โดยมีข้อเสนอ
ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ออกประกาศว่าด้วยสัญญาเรื่องการกำกับการออกหลักฐานการรับเงินของร้านค้า โดยให้มีการกำหนด ให้แสดงหลักฐานการรับเงินที่ผู้ประกอบการออกให้ผู้บริโภค มีข้อความภาษาไทย ที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ให้กำหนดขนาดรูปแบบของตัวอักษร ความกว้างของใบเสร็จให้ง่าย และสะดวกต่อความเข้าใจของผู้บริโภค
2.จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ ผู้บริโภคอุ่นใจ ลดภัยมิจฉาชีพ โดยมีข้อเสนอ คือ
1. กำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ทุกประเภทต้องจดทะเบียนการค้าออนไลน์ และกำกับให้มีการแสดงเลขทะเบียนการค้าที่ปกเพจให้ชัดเจนเห็นได้ง่าย และให้แจ้งราคาสินค้าในขายสินค้าในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า
2.ทำระบบฐานข้อมูลร้านค้าออนไลน์ที่เข้าถึงได้สะดวกเป็นการเปิดเผย ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ เพื่อลดปัญหาการถูกหลอก จากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยมีการให้ข้อมูลเตือนภัยและการจัดเก็บข้อมูลการรายงานจากผู้บริโภคหากพบว่าร้านค้าดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียน เพื่อดำเนินการปรับสถานะข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
3.เพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายกับร้านค้าที่ไม่มีการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น โดยจัดระบบรายงานร้านค้าต้องสงสัยอย่างสม่ำเสมอ
3.ฉลากถังแก็ซหุงต้ม…ต้องชัดเจน ปลอดภัย ได้มาตรฐาน โดยมีข้อเสนอ คือ
1.เสนอให้มีการกำหนดข้อความบนตัวถังแก๊สเพิ่มเติม สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่
– ข้อมูลติดต่อโดยตรงของเจ้าของถังยี่ห้อต่างๆ และเบอร์สายด่วนกรมธุรกิจพลังงานลงบนถังแก๊สหุงต้ม ใน บริเวณที่เห็นได้ชัด เช่น ข้างตัวถัง หรือโกรงถัง
– ข้อความแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ขนาดใหญ่เห็นได้ชัด และใช้เหมือนกันทุกยี่ห้อ เช่น หมดอายุ พ.ศ. 2570 เดือน 5
2. การตรวจสอบและกำกับคุณภาพผู้ประกอบการที่มีการจัดจำหน่ายแก๊สหุงต้มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมให้สัญลักษณ์การรับรองแก่ร้านค้าที่ผ่านเกณฑ์ โดยมีการแสดงป้ายสัญลักษณ์ในลักษณะดังต่อไปนี้ เช่น
– ร้านที่มีการขออนุญาตจะต้องมีการแสดงเอกสารไว้ชัดเจน สังเกตเห็นได้ชัด
– แสดงเบอร์โทรติดต่อสำหรับการร้องเรียนไว้ภายในร้าน (กรมธุรกิจพลังงาน, สนง.พลังงานจังหวัด)
3.เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกใช้แก๊สหุงต้ม เสนอให้มีฐานข้อมูลของร้านค้าที่จัดจำหน่ายแก๊สทุกประเภท โดยที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้โดยง่ายผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน
4.จัดให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา “แก๊สถังขาว” (ถังที่ไม่มีการระบุชื่อเจ้าของถัง) เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งานถังที่สภาพไม่ปลอดภัย เช่น การจัดโครงการเรียกคืนถังแก๊ส
ในช่วงบ่ายมีการนำเสนอนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน 15 ประเด็น ที่มีการเสนอนโยบายโดยสภาองค์กรผู้บริโภคที่สอดคลองกับบริบถพื้นที่ของจังหวัดสงขลา ซึ่งทางเครือข่ายผู้บริโภคมีการโหวตประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อน 3 อันดับ คือ
1. ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ประเด็น พลังงานที่เป็นธรรม ราคาพลังงานที่เป็นธรรม ให้กำกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าให้เป็นธรรมต่อประชาชน
2. ด้านการเงินและการธนาคาร ประเด็น ให้มีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการในภัยทุจริตทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เงินในบัญชีถูกดูดต้องมีการชดใช้ / ธนาคารใช้อำนาจ พรก.ป้องกันปราบอาชญากรรมไซเบอร์ปิดบัญชีม้าเต็มประสิทธิภาพ ตั้งศูนย์ไซเบอร์รัฐจัดการปัญหาจัดการมิจฉาชีพเร่งด่วน
3.ด้านบริการสุขภาพ ประเด็น สิทธิสุขภาพมาตรฐานเดียว ผลักดันนโยบายบริการสุขภาพ ให้กองทุนรักษาพยาบาล 3 กองทุน ดูแลผู้บริโภคทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน
ทางสมาคมผู้บริโภคสงขลา หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา สภาองค์กรของผู้บริโภค จะนำข้อเสนอนโยบายทั้ง 3ประเด็นจากเวทีสภาผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ไปพัฒนาและส่งต่อข้อเสนอนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสงขลาต่อไป