29 พ.ค. 67 ไข่ไก่ปรับราคาขึ้นเป็นฟองละ 4 บาท ด้านสภาผู้บริโภคเรียกร้อง พร้อมเดินหน้าผลักดันตัวแทนผู้บริโภคนั่งใน ‘เอ้กบอร์ด’ (Egg Board) ดันนโยบายที่เป็นธรรม คุมราคาไข่ไก่ ผู้บริโภคไม่ถูกเอาเปรียบ
หลังข่าวที่ปรากฎออกมาว่าตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ เนื่องจากเหตุผลการเปลี่ยนฤดูกาลทำให้ไก่ป่วยและออกไข่น้อยลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น ทำให้ในปัจจุบันราคาไข่ไก่อยู่ที่ฟองละ 4 บาทนั้น
จากข้อมูลเผยแพร่จากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า ปัจจุบันราคาของไข่ไก่มีการปรับเปลี่ยนแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง ภายในปี 2567 ซึ่งมีทั้งการปรับขึ้นและปรับลดลง และในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 มีการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ทำให้ราคาปัจจุบันของไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 4 บาท โดยในประเด็นนี้สภาผู้บริโภคมีความคิดเห็นว่าการปล่อยให้ราคาขึ้นลงและไม่คงที่ มีการปรับเปลี่ยนอยู่อย่างต่อเนื่องสร้างภาระให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลกระทบกับค่าครองชีพ เนื่องจากเมื่อราคาไข่ไก่มีการปรับขึ้น ทำให้ราคาค่าอาหารปรับขึ้นตาม แต่เมื่อราคาไข่ไก่ปรับลดลง ราคาค่าอาหารกลับไม่ปรับลดลงตาม ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมานี้
ดังนั้น สภาผู้บริโภคเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ร่วมพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด (Egg Board) เพื่อให้เกิดนโยบายที่คุ้มครองผู้บริโภค ควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และราคาไข่ไก่ของประเทศ ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากกยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเอ้กบอร์ดยังไม่มีการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคร่วมพิจารณาในคณะกรรมการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการปรับราคาไข่ไก่ข้างต้น ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมไปยังสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ – ลำพูน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยผู้จัดการของสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฯ อธิบายถึงสาเหตุการปรับขึ้นราคาว่า ช่วงที่จะเข้าฤดูฝนนั้น อุณหภูมิค่อนข้างสูงและมีอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้อุณหภูมิภายในเล้าไก่สูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทำให้แม่ไก่เกิดความเครียดและส่งผลถึงผลผลิตที่ลดลงกว่าครึ่ง รวมถึงคุณภาพและขนาดของไข่ไก่ที่ลดลงตามมาด้วย นอกจากสาเหตุข้างต้น ปัจจัยอื่นที่ทำให้มีการปรับราคาขึ้น ได้แก่ ต้นทุนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีการปรับราคาสูงขึ้น ความต้องการบริโภคไข่ไก่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียน สวนทางกับปริมาณการผลิตไข่ไก่ที่ลดลง
ผู้จัดการของสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฯ ระบุว่า การปรับราคาไข่ไก่ที่ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลข่าวสารนั้นในภาพรวมทั่วประเทศ จะมีการกำหนดใช้ในราคาเดียวกันคือ ฟองละ 4 บาท ขณะที่เมื่อขายไข่ไก่ตามความจริงนั้น ในแต่ละพื้นที่จะมีการสำรวจว่าผู้บริโภคว่าสามารถรับได้ในราคาเท่าไร บางพื้นที่ไม่ได้ขายในราคาตามประกาศในทันที เช่น โซนพื้นที่ภาคเหนือที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฯ ดำเนินการอยู่ยังขายราคาหน้าฟาร์มไม่ถึง 4 บาทต่อฟอง
เมื่อถามถึงราคาที่ปรับขึ้นมาจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง ผู้จัดการของสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฯ ได้ย้ำว่า ราคาของไข่ไก่ในอดีตและปัจจุบันไม่เคยมีการคงราคาไว้ที่ราคาใดราคาหนึ่งเป็นระยะเวลานานมากเท่าไร แต่เป็นการปรับเปลี่ยนราคาตามกลไกตลาดในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ดังนั้นผู้บริโภคยังไม่ต้องเป็นกังวลมากนัก หากผลผลิตของไข่ไก่มีมากพอ ราคาอาจจะลดลงกว่าที่เป็นอยู่จากเดิมได้
ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้หยิบยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อ้างอิงจากบทความ ‘ราคาไข่ในรอบ 20 ปี ตัวชี้วัดปากท้องคนไทย รัฐบาลไหนขายแพงสุด’ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ไทยรัฐพลัส ระบุว่า ไข่ไก่ช่วงที่โรคไข้หวัดนกระบาดมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.10 – 3.30 บาท สุดท้ายในปี 2548 ตกฟองละ 2.68 บาท และปี 2549 ฟองละ 2.18 บาท ส่วนในช่วงปี 2554 – 2557 ไข่ไก่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.00 – 3.50 บาท แต่ราคาในปี 2554 มีราคาสูงที่สุด โดยราคาขายปลีกเคยขายตกฟองละ 7 บาท เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ผลผลิตน้อยมาก แต่ต่อมาราคาไข่ไก่ลดลง เพราะอยู่ในภาวะไข่ล้นตลาด
ทั้งนี้ ปัจจุบันไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุมราคาที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่ อีกทั้งปัจจุบันสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามาควบคุมภาพรวมต้นทุนการผลิตร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ผลิต ส่วนประเด็นการปรับขึ้นราคาอาหารในร้านอาหารต่าง ๆ นั้น ผู้จัดการของสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ฯ แจงว่า จากสาเหตุข้างต้นที่ทำให้ไข่ไก่มีราคาที่ปรับเปลี่ยนขึ้นและลงเป็นระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้ร้านอาหารหลายร้านตัดสินใจใช้ขนาดของไข่ไก่ที่เล็กลงแต่ไม่ได้ปรับขึ้นราคาอาหาร หรือบางร้านมีการปรับขึ้นราคาอาหารทันที ในขณะเดียวกันเมื่อราคาไข่ไก่ปรับลดลงแต่ร้านอาหารกลับไม่ได้ปรับราคาลดลงตามด้วย
จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้นนั้น ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกซื้อหาสินค้าและบริการ (The Right To Choose) ที่มีคุณภาพในราคายุติธรรม และสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้อง เพื่อประกอบการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (The Right To Be Informed) ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบว่าราคาไข่ไก่ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อมานั้นมีราคาที่สูงมากเกินไป โดยเฉพาะหากซื้อที่หน้าฟาร์มไก่ไม่ควรเกิน 4 บาทต่อฟอง สามารถส่งข้อมูลการปรับราคาให้กับผู้ผลิต แต่หากผู้ผลิตยังเพิกเฉย สามารถแจ้งเบาะแสไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่เบอร์สายด่วน 1569 หรือแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502 หรือผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th ได้อีกทาง