สภาผู้บริโภค หารือ สนข. ตั้งเป้าพัฒนาการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมทั่วประเทศ

สภาผู้บริโภค หารือ สนข. ตั้งเป้าพัฒนาการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมทั่วประเทศ

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้ประชุมร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อร่วมหารือ และแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานโดยมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และครอบคลุมทั่วประเทศ โดยประเด็นหลักในการพูดคุยเป็นเรื่องการผลักดันให้เกิดระบบตั๋วร่วม ออกแบบให้มีระบบขนส่งย่อยที่เชื่อมต่อกับระบบใหญ่ (Feeder) และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น

เดินหน้าผลักดันตั๋วร่วม – พัฒนาขนส่งในต่างจังหวัด

จิรโรจน์ ศุกลรัตน์

จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า หากต้องการให้ระบบตั๋วร่วมเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ปัญหาหนึ่งที่ต้องเร่งจัดการคือเรื่องค่าแรกเข้าของระบบรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ซึ่งพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องนำสถิติจำนวนผู้ใช้บริการของรถไฟฟ้าแต่ละสายมาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อดูว่ามีสายใดที่ขาดทุนหรือไม่ และจะเข้าไปช่วยเหลือเขาอย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ส่วนเรื่องระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดนั้น ปัจจุบันมี พ.ร.บ. พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งมีเนื้อหาที่ระบุถึงเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ แต่ปัญหาที่พบคือท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม และต้องการการสนับสนุนจากส่วนกลางต้องเข้าไปให้คำแนะนำ ทั้งนี้ หากระบบกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้จริง ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งพร้อม ๆ กันทั้งประเทศ ทั้งส่วนกลางที่จะพัฒนาขนส่งระบบใหญ่ (Mass Transit) และหน่วยงานในพื้นที่ที่จะพัฒนาเรื่องระบบขนส่งในท้องถิ่นควบคู่กันไป

“โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้เห็นว่าการใช้ระบบขนส่งสาธารณะสะดวกและปลอดภัยกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งอาจรวมถึงทำจุดจอดรถ และมอเตอร์ไซค์ฟรี เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้บริโภคในเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย”

พรชัย พัฒนาพงษ์สถิต

ด้าน พรชัย พัฒนาพงษ์สถิต หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการขนส่งและจราจร พื้นที่ 1 สนข.  นำเสนอภาพรวมการวางแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะ ที่เน้นเรื่องการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมยกตัวอย่างการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะใน 8 พื้นที่ ได้แก่ 1) เขตเมืองเชียงใหม่ 2) จังหวัดพิษณุโลก 3) จังหวัดอุดรธานี 4) จังหัวดขอนแก่น 5) จังหวัดนครราชสีมา 6) จังหวัดภูเก็ต 7) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 8) พื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC : Eastern Economic Corridor) ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยได้เล่าถึงภาพระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่เดิม ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงโควิด ซึ่งทำให้จำนวนรถและเส้นทางการเดินรถลดลง รวมทั้งแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งในพื้นที่

สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะใน 8 พื้นที่นั้น จะพิจารณาประเภทของขนส่งตามลักษณะและบริบทของพื้นที่ รวมถึงมีการออกแบระบบขนส่งหลัก – รอง และเพิ่มเส้นทางการเดินเพื่อให้ครอบคลุมสนามบิน สถานีขนส่ง ตัวเมือง รวมถึงสถานที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยมีทั้งพื้นที่ที่จะสร้างระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา (LRT) รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ระบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (EV bus)

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของ สนข. ยังมีการนำเสนอข้อมูลเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาคจำนวน 11 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยมีการศึกษาข้อมูลการเดินทาง ระบบขนส่งและจราจร รวมทั้งได้ระดมความเห็นจากประชาชนด้วยการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) ในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ มีเสียงสะท้อนของประชาชนที่อยากให้ภาครัฐเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ และออกแบบระบบที่ใช้ระยะเวลาสร้างไม่นานเพื่อรองรับความต้องการของคนในพื้นที่ในปัจจุบันด้วย เช่น การสร้างรถไฟ้รางเบาอาจต้องใช้ระยะเวลา 3 – 5 ปี แต่ระหว่างนั้นจะมีระบบขนส่งที่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างไร

ส่วนประเด็นเรื่องตั๋วร่วมนั้น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องตั๋วร่วมโดยตรงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ. ตั๋วร่วมได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอเรื่องเข้าที่สู่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาได้ภายในเดือนกรกฎาคม โดยเงินทุนที่จะใช้สนับสนุนการทำระบบตั๋วร่วม มาจากแหล่งเงินทุนที่รัฐจัดสรรให้ เช่น กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หมวด 5

ทั้งนี้ ระบบตั๋วร่วมที่กำลังผลักดันนั้น จะเป็นไปในลักษณะที่เชื่อมโยงกันทั้งประเทศ กล่าวคือ ประชาชนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและใช้ตั๋วร่วมในการเดิมทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ก็สามารถนำบัตรดังกล่าวไปใช้กับระบบขนส่งในจังหวัดนำร่องอื่น ๆ ได้เช่นกัน และในอนาคตก็จะพัฒนาให้สามารถใช้เชื่อมโยงกันได้ทั้งประเทศ

ย้ำ! ระบบขนส่งต้อง “เข้าถึงได้ – ราคาเป็นธรรม”

สารี อ๋องสมหวัง

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การพัฒนาเรื่องขนส่งสาธารณะจำเป็นต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงในราคาที่เป็นธรรม ให้ความสำคัญการผู้ใช้บริการ และทันต่อสถานการณ์ ซึ่งการสร้างขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบใหญ่อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนไม่สะดวก ต้องพึ่งตัวเองมาก และไม่เลือกใช้รถสาธารณะในที่สุด ดังนั้น หากย่อยระบบให้เล็กลง แต่ผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้นอาจจะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากกว่า และที่สำคัญคือต้องให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาระบบขนส่งในพื้นที่ด้วย

“เราเชื่อว่าถ้าบริการราคาไม่ถูกพอ จะไม่มีใครใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ทุกคน คนที่จนที่สุดต้องเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ รวมถึงรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าต้องไม่ใช่แท็กซี่ของคนรวย และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ภายใน 500 เมตร”

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคกล่าวถึงทิศทางการทำงานร่วมกันว่า การพัฒนาระบบขนส่งใน 11 พื้นที่นำร่องนั้น เป็นจังหวัดที่สภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกอยู่และสามารถร่วมสนับสนุนงานได้ นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคเพิ่งจัดตั้งคณะกรรมการผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้บริโภคที่มีเป้าหมายและความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนขึ้นได้

และเรื่องหนึ่งที่ตัวแทนผู้บริโภคจากกรุงเทพมหานครสนใจ คือเรื่องตั๋วร่วม ซึ่งอาจต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาของ พ.ร.บ. ที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคณะกรรมการผู้ใช้ระบบขนส่งฯ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมกับสภาผู้บริโภค สนข. และหน่วยงานอื่น ๆ ในการผลักดันเรื่อขนส่งสาธารณะต่อไป

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร

ส่วน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมี 3 ประการ ได้แก่ 1) ราคา ต้องเป็นธรรมและเข้าถึงได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐมีวิธีการบริหารจัดการและระบบที่ดี 2) การออกแบบระบบขนส่งให้เอื้อต่อผู้ใช้งาน ซึ่งจากการนำเสนอพบว่า สนข. พยายามพัฒนาและออกแบบระบบในแต่ละพื้นที่ แต่อาจมีข้อติดขัดหรือข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัด นำไปสู่ปัจจัยที่ 3) การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และครอบคลุมทั่วประเทศ

“หากนำแนวคิดของ พ.ร.บ. ตั๋วร่วม มาบวกกับการให้ท้องถิ่นช่วยออกแบบ และประกอบกับการมีแหล่งทุนสนับสนุน น่าจะช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ ถ้า พ.ร.บ.ตั๋วร่วมถูกประกาศใช้ได้เร็ว นโยบายต่าง ๆ ขับเคลื่อนได้ทันท่วงที จำนวนรถสาธารณะและเส้นทางครอบคุลมเพียงพอ ก็น่าจะทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น” นพ.อนุชาระบุ

 ภญ.ชโลม เกตุจินดา

ขณะที่ ภญ.ชโลม เกตุจินดา หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาผู้บริโภค ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาเรื่องระบบขนส่งสาธารณะในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยมีข้อมูลที่ค่อนข้างสอดคล้องกับการนำเสนอของ สนข. คือหลังจากช่วงโควิด 19 มีการเปลี่ยนแปลงข้องจำนวนรถโดยสารและเส้นทางเดินรถ อย่างไรก็ตาม การจะปรับปรุงหรือพัฒนาระบบขนส่งก็ยังพบอุปสรรคเรื่องการรื้อเส้นทางสัมปทานเดิมที่มีอยู่แล้ว และการกำกับดูแลผู้ประกอบการ อีกปัญหาหนึ่งที่พบในเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งคือการไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ได้ทราบ และไม่ได้รับฟังความเห็นของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

“จากการนำเสนอแผนงานของ สนข. จะเห็นว่าจะทำ Monorail ในสงขลา แต่กว่าจะสร้างเสร็จคนอาจจะไม่ต้องการแล้ว หรือในอนาคตที่มีข่าวว่ารถไฟรางคู่จะมาถึงสงขลา แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะย้ายสถานีไหม หรือจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ทุกคนตื่นตัวเรื่องระบบขนส่งย่อย (feeder) ดังนั้นทำอย่างไรให้องค์กรในท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ และพัฒนาขนส่งโดยคำนึงถึงบริบทที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัด เช่น ทุกวันนี้หาดใหญ่เป็นอำเภอที่มีการจัดเทศกาลคอนเสิร์ตมากมาย ทำอย่างไรให้สามารถออกแบบระบบขนส่งสาธารณะในเมืองที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นต้น”

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค มีข้อเสนอเพิ่มเติมให้ สนข. และสภาผู้บริโภค ทดลองร่วมกันนำร่องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะร่วมกันในจังหวัดสงขลาและพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบจำลอง (Model) ในเรื่องระบบขนส่งมวลชนในระดับพื้นที่ ซึ่งสภาผู้บริโภคมีเครือข่ายในพื้นที่ที่มีศักยภาพการทำงานที่จะสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้จัดประชุมแผนคณะกรรมการผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยในที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางการขับเคลื่อนคณะกรรมการผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยแบ่งตามความสนใจหรือความเชี่ยวชาญ เป็นทั้งหมด 10 ประเด็น

ได้แก่ 1) รถโดยสารประจำทาง 2) รถไฟฟ้า 3) รถตู้โดยสารสาธารณะ 4) รถทัวร์โดยสาร 5) รถสองแถว 6) เครื่องบินโดยสาร 7) รถจักรยานยนต์รับจ้าง 8) รถแท็กซี่ 9) รถไฟ และ 10) เรือโดยสารและเรือด่วน รวมทั้งมีการพูดคุยในประเด็นตามสถานการณ์เกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น เรื่องการยกเลิกรถเมล์ของบริษัทจนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามแผนปฏิรูปซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภค เป็นต้น

หลังจากนี้ คณะกรรมการผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้ามามีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น ร่วมจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบขนส่ง และผลักดันระบบขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และตอบโจทย์ของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน