ไทยติดอันดับโลก อินฟลูเอนเซอร์หนุนการตลาดแพร่หลาย สื่อคอนเทนต์ การลงทุน การพนัน และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เสี่ยงชี้นำความเชื่อผิด ๆ กระทบผู้บริโภค นักกฎหมายชี้แนวทางคุมอินฟลูเอนเซอร์ในไทย ต้องเปิดเผยการโฆษณา-รับผิดชอบตามกฎหมาย
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือ บุคคลที่มีอิทธิพลทางโลกออนไลน์ บางคนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว แต่ก็อาจเป็นต้นเหตุของข้อมูลข่าวปลอม หรือไปจนถึงการชวนเชื่อ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้จึงต้องมีกฎหมายออกมากำกับดูแล แล้วหากประเทศไทยต้องมีกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์ควรออกแบบในรูปแบบใด
วันนี้ 16 ตุลาคม 2567 ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวสภาผู้บริโภค ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอินฟลูเอนเซอร์เยอะมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้สื่อออนไลน์อย่างแพร่หลาย เพราะฉะนั้นการใช้อินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นการตลาดที่เข้าถึงคนไทยได้ง่าย และรวดเร็ว รวมถึงคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย และเกินจริง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นข่าวว่าอินฟลูเอนเซอร์ได้นําแนวคิดหรือความเชื่อบางอย่างที่หมิ่นเหม่ เช่น การลงทุนในการพนันออนไลน์ การดูแลสุขภาพแบบผิด ๆ การชวนลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ หรือเรื่องความเชื่อทางศาสนา
5 แนวทาง ออกกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์
เมื่อถามถึงกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุม ผศ.ดร.เอมผกา ได้ยกตัวอย่างกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์จากในหลายประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทย โดยถูกแบ่งออกเป็น 5 แนวทาง
แนวทางที่ 1 “ให้ข้อมูลว่าเป็นการโฆษณา” เป็นกฎหมายบังคับว่าอินฟลูเอนเซอร์ต้องแจ้งให้ชัดว่ารีวิวนั้นเป็นโฆษณา ซึ่งกลไกนี้จะถูกระบุอยู่ในกฎหมายทั้งในประเทศแถบเอเชียและยุโรป เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ แคนาดา โดยใส่แฮชแท็กระบุชัดเจนว่าเป็นโฆษณาไว้ตั้งแต่ต้นโพสต์หรือต้นคลิปวิดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่ารีวิวนั้นเป็นการโฆษณา
แนวทางที่ 2 “เปรียบอินฟลูเอนเซอร์ คือผู้ประกอบธุรกิจ” หลายประเทศมองว่าอินฟลูเอนเซอร์ คือผู้ประกอบธุรกิจ เพราะว่าอินฟลูเอนเซอร์ ทำคอนเทนต์แลกกับยอดวิวซึ่งยอดวิวก็นำมาสู่รายได้ เท่ากับเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และในเชิงผู้ประกอบธุรกิจจะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาบังคับใช้
แนวทางที่ 3 “เปิดเผยข้อมูล” ต้องมีการเปิดเผยตัวตนที่ชัดเจน ที่สามารถเจาะจงไปได้ว่าคนนี้คือใคร เช่น นอร์เวย์ ออกกฎหมายกำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ต้องแจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาสินค้าบนโซเชียลมีเดียต่อหน่วยงานรัฐ
แนวทางที่ 4 “ควบคุมเนื้อหา” เป็นกลไกที่มองถึงการควบคุมเนื้อหาที่มีความอ่อนไหว หรือข้อมูลที่อาจผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้ เช่น ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาที่ ผิดกฎหมาย และการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดหรืออันตรายต่อสาธารณะ
“ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วต้องขอใบอนุญาต แต่จะเป็นเฉพาะคอนเทนต์เท่านั้นที่ต้องขอใบอนุญาต เช่น การเงินการธนาคาร การทำเสริมความงาม การรักษาโรค ต้องเป็นคนเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะพูดได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดเรื่องรักษาโรคได้ แต่ต้องเป็นหมอจริง ๆ เท่านั้น” ผศ.ดร.เอมผกากล่าว
แนวทางที่ 5 “ทำแนวทางหรือข้อแนะนำ” ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นการทำคู่มือแนะนำอินฟลูเอนเซอร์ สำหรับบางประเทศที่ยังไม่รู้ว่าจะออกกฎหมายรูปแบบไหน โดยทำเป็นคู่มือแนะนำไปก่อนว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ ให้เรียนรู้ ตระหนัก จากกฎหมายที่มีในปัจจุบัน
บทบาทกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์ของไทย
แม้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน จะมีเพียงกฎหมายควบคุม เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค ที่เพิ่มกำหนดนิยาม ให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งครอบคลุมถึงพรีเซนเตอร์ ที่ทำการโฆษณาอาหาร จะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาด้วย
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหา อาจต้องศึกษาจากตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทยต่อไป
สำหรับแนวทางที่ทำได้ในประเทศไทย ผศ.ดร.เอมผกาให้ข้อเสนอว่า “แนวทางที่สามารถทำได้ในเลยน่าจะเป็น การเปิดเผยว่าคอนเทนต์นี้คือการโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ รวมถึงการตีความว่าอินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้รับผิดบางอย่างที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้นมีกลไกบังคับใช้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ระมัดระวังในการรับโฆษณาสินค้ามากยิ่งขึ้น ส่วนการควบคุมเนื้อหาอาจารย์มองว่าเป็นแนวทางที่ดีเพื่อป้องกันข้อมูลข่าวปลอม แต่อาจขัดต่อบริบทสังคมไทย เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ถือว่าเป็นความท้าทายในการควบคุมเนื้อหาและการรักษาสิทธิแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้โซเชีย