สอบ. ยื่น 7 ข้อเสนอ คปภ. ป้องกันบริษัทประกันยกเลิกกิจการ จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากโรคระบาด

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิด 7 ข้อเสนอ ป้องกันกรณีบริษัทประกันภัยเลิกกิจการ จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากโรคระบาด โดยให้มีตัวแทนผู้บริโภคร่วมกำกับดูแลกิจการประกันภัย ให้มีการออกกฎเกณฑ์ ที่เป็นธรรมต่อผู้เอาประกัน และให้มีบทลงโทษสูงสุดกับบริษัทประกันภัยที่ประวิงเวลาการจ่ายเงิน

จากกรณี บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเลิกกิจการต่อ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เนื่องจากขาดทุนจากการเคลมประกันภัยโควิด 19 ส่งผลให้ผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตได้รับผลกระทบจำนวนมาก อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร และอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อหารือแนวการป้องกันบริษัทประกันภัยเลิกกิจการจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากโรคระบาด

เมื่อ 24 ก.พ.65 อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร และอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้มีข้อเสนอนโยบายและมาตรการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 7 ข้อ ดังนี้

1. เสนอให้เพิ่มตัวแทนผู้บริโภคใน คปภ. โดยเพิ่มเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ตัวแทนผู้บริโภคมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการกำกับและส่งเสริมการประการธุรกิจประกันภัย

2. เสนอให้ คปภ. กำหนดเกณฑ์ในการบอกเลิกสัญญาของบริษัทประกันให้ชัดเจน โดยบริษัทประกันภัยจะสามารถบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อประกันได้ ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อประกันทำผิดสัญญาเท่านั้น

3. เสนอให้ คปภ. ใช้อำนาจตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองก่อนบริษัทยกเลิกกิจการ รวมถึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงขั้นตอนก่อนบริษัทยกเลิกกิจการด้วย

4. เสนอให้ คปภ. ออกประกาศสถานะกองทุนของบริษัทต่างๆ และจัดลำดับเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการมีข้อมูลที่ครบถ้วน สำหรับพิจารณาและเลือกใช้บริการกับบริษัทประกันภัยที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง เนื่องจากจำนวนเงินในกองทุนประกันวินาศภัยสามารถแสดงถึงความมั่นคงหรือไม่มั่นคง ในสภาพทางการเงินของบริษัทฯ ได้

5. เสนอให้ คปภ. ประชุมหารือกับบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ในกรณีที่พบว่าเงินในกองทุนประกันวินาศภัยของบางบริษัทประกันภัยบ่งชี้ถึงความไม่มั่นคงในสภาพทางการเงินของบริษัท

6. เสนอให้ คปภ. มีบทลงโทษขั้นสูงสุดต่อบริษัทประกันที่พฤติกรรมเข้าข่ายประวิงการจ่ายเงินและฝ่าฝืนต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ คำสั่งของ คปภ. เนื่องจากผู้ร้องเรียนเรื่องประกันภัยมักได้รับการจ่ายสินไหมทดแทนล่าช้า หรือไม่ได้รับตามลำดับที่บริษัทแจ้ง โดย คปภ. ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับค่าสินไหมทดแทน รวมถึงประสานข้อมูลมายังสอบ. เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ข้อมูลบริษัทประกันที่ดำเนินการละเมิดสิทธิผู้บริโภค

7. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค โดยจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกกิจการของ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน