สอบ.ชี้ กรมอนามัยยอมรับยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีใส่กัญชาในอาหาร

 

กรมอนามัย ยอมรับ ยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีใส่กัญชาในอาหาร ประกาศที่ออกไปเป็นแค่คำแนะนำ ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค ผิดหวังหน่วยงานรัฐ ชี้ ผู้บริโภคเสี่ยงหนัก – ร้องเรียนไม่ได้หากแพ้กัญชา

​จากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงใย ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการปลดล็อกกัญชา ที่มีผลบังคับไปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เนื่องจากเห็นว่ายังมีช่องโหว่ในการควบคุมระหว่างรอกฎหมายกัญชงกัญชา โดยเฉพาะการนำส่วนของพืชกัญชามาใช้ในการบริโภคหรืออุปโภคโดยไม่มีมาตรการรองรับอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตได้ อีกทั้งจะมีวิธีตรวจสอบหรือผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารหรือเครื่องดื่มมีสารทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol : THC) เกินกว่าที่กฎหมายหรือไม่นั้น

เมื่อ 11 ส.ค.65 นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ. กล่าวว่า กรมอนามัยได้ตอบกลับข้อห่วงใยของ สอบ. เกี่ยวกับการปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 โดยในประเด็นข้อคำถามที่ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการอาหาร และจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรว่าอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นมีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 หรือไม่ ซึ่งสาร THC เป็นสารที่ผสมอยู่ในกัญชา หากได้รับสารดังกล่าวในปริมาณเกินกว่าmujกำหนดก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสี่ยงจากการบริโภคกัญชา และอาจเกิดผลกระทบต่อร่างกายได้ อาทิ ใจสั่น ประสาทหลอน เกิดภาพหลอน หูแว่ว เป็นต้น

รวมถึงผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบหรือทราบได้อย่างไรว่า ร้านอาหารจะใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่ประกาศกรมอนามัยฯ กำหนดนั้น กรมอนามัย ชี้แจงในหนังสือตอบกลับมาว่า ประกาศกรมอนามัยฯ ดังกล่าว ‘เป็นคำแนะนำทางวิชาการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารมีความเข้าใจในการนำใบกัญชามาทำ ประกอบ ปรุงอาหาร และการแสดงรายการอาหารที่มีส่วนประกอบใบกัญชา รวมถึงการแสดงคำเตือน สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากสถานที่จำหน่ายอาหาร ดังนั้น ประกาศกรมอนามัยฯ ดังกล่าวจึงไม่มีบทกำหนดโทษ อีกทั้งหากเกิดเรื่องร้องเรียนกับผู้บริโภคจากอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา กรมอนามัยจึงไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาได้’

ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านยาฯ สอบ. กล่าวอีกว่า กรมอนามัยได้ชี้แจงต่อ ถึงประเด็นการลงพื้นที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารว่า ‘ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะ ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังมีการวิจัยและพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อตรวจสอบหาค่า THC ในอาหาร หากต้องการตรวจสอบปริมาณสาร THC ในอาหารจะต้องเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันอาหาร หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่รับวิเคราะห์’

ส่วนมาตรการควบคุมการขายอาหารผสมกัญชาทางออนไลน์นั้น กรมอนามัยได้ชี้แจงมาว่าขณะนี้ ‘อาจจะยังไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการควบคุมการขายอาหารออนไลน์’

​“ที่ผ่านมารัฐมนตรีสาธารณสุขอ้างมาตลอดว่ามีประกาศต่าง ๆ เพื่ออุดช่องโหว่ของการปลดล็อกกัญชาระหว่างรอกฎหมายทั้งหมดแล้ว แต่คำตอบของกรมอนามัยที่ตอบข้อห่วงใยของสภาองค์กรของผู้บริโภคมานั้น ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคอยู่ในความเสี่ยงหลังจากการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดชัดเจน เพราะเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถที่จะพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เลย ซึ่งถือเป็นการไม่คุ้มครองผู้บริโภค” นางสาวมลฤดี กล่าว

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน