งานวิจัยชี้ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ไม่ทำให้คนไปโรงพยาบาล ‘เกินความจำเป็น’ แต่มาจาก ‘ความไม่รู้’ เกี่ยวกับโรค-อาการ ที่ทำให้คนไปใช้บริการมากขึ้น

สังคมออนไลน์ได้ตั้งประเด็นถกเถียงกันถึง “ภาระงานของแพทย์” ที่หนักขึ้น อันเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

ประเด็นตั้งต้นจนถูกจุดพลุขึ้นมาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เกิดจากความเห็นที่ว่า

 

“ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ … ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม”

หลังจากปรากฏความเห็นดังกล่าว พบว่ามีนักวิชาการ บุคลากรวิชาชีพ เครือข่ายผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้ใช้สิทธิบัตรทองจำนวนมาก ต่างโพสต์แสดงความเห็น และบอกเล่าประสบการณ์ในมุมกลับ โดยส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากระบบ และมีความเข้าใจเรื่อง “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของประชาชนเป็นอย่างดี

สิ่งนี้ได้สะท้อนภาพของการเป็นเจ้าของระบบโดยประชาชนทุกคน และการพร้อมใจลุกขึ้นมาปกป้องระบบที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ซึ่งก็ตรงตามเจตนารมณ์แรกเริ่มของการก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น “The Coverage” ขอชวนทุกท่านย้อนกลับไปรีวิวงานวิจัยที่เผยแพร่ เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มองผ่านแว่นของ “ผู้ให้บริการ”

งานวิจัยดังกล่าวมีชื่อว่า “โครงการความจำเป็นในการเข้ารับบริการ รักษาพยาบาลจากมุมมองของผู้ป่วยและแพทย์ ของ ดร.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ในขณะนั้น) เผยแพร่โดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

จากงานวิจัยอาจสรุปสาระสำคัญได้ว่า การที่ไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) มีส่วนทำให้คนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ทว่าไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเข้ารับบริการการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น

แต่สาเหตุที่ประชาชนใช้บริการมากขึ้น เกิดจากความไม่เข้าใจในอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับตนเอง

สำหรับมุมมองต่อความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้น อาการที่ผู้ป่วยมองว่าเป็นสาเหตุให้ไปโรงพยาบาล ได้แก่ 1. ปวดกล้ามเนื้อ 2. อาการระบบทางเดินหายใจส่วนบน 3. ปวดท้องและท้องน้อย 4. ปวดศรีษะ 5. วิงเวียนศรีษะ 6. ไข้ 7. เจ็บหน้าอก 8. ปวดบริเวญใบหน้า หู คอ และจมูก 9. อาการคัน 10. ท้องอึด และจุกเสียด โดยเรียงจากมากที่สุดไปน้อยที่สุดตามลำดับ

ทั้งนี้ จากข้อมูลอาการดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยถึง 71.8% ที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอก โดยคิดว่าการเจ็บป่วยของตนมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ โดยมีผู้ป่วยเพียง 0.6% เท่านั้น ที่คิดว่าตนเองไม่ได้เข้ารับบริการเกินความจำเป็น

ทว่า แพทย์ประเมินว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเพียง 38.9% ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ และอีก 13.6% ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยประเมินความจำเป็นในการเข้ารับบริการสูงกว่าแพทย์ 45.9% โดยมีเพียง 9% เท่านั้นที่ผู้ป่วยประเมินต่ำกว่าแพทย์ และที่มีความเห็นตรงกัน 45%

ในส่วนที่ต่างกันเป็นกรณีที่ผู้ป่วยคิดว่ามีความจำเป็นแต่แพทย์คิดว่าไม่จำเป็นมี 12.7% รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยคิดว่ามีความจำเป็นในระดับปานกลาง หรือบางกรณีที่คิดว่าไม่มีความจำเป็น แต่แพทย์มองว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ

เช่น อาการ 3 อันดับแรกที่มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วย คือ ปวดศรีษะ เจ็บหน้าอก และมึนหรือวิงเวียนศรีษะ ทว่าสำหรับแพทย์ คือ ไข้ ปวดบริเวณใบหน้า หู คอ จมูก และอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน

3

จะเห็นได้ว่าการให้ความสำคัญต่ออาการของแพทย์และผู้ป่วยมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยปัจจัยที่มีนัยยะสำคัญอันส่งผลต่อการประเมินทางฝั่งผู้ป่วยนั้นมาจาก เพศ และรายได้การใช้บริการผู้ป่วยใน ส่วนทางฝั่งแพทย์นั้นมาจาก เพศ ช่วงอายุ ช่วงเวลาที่ตรวจรักษา (ใน/นอกเวลาราชการ) และความพึงพอใจต่อสภาพแวดล้อมการทำงานของแพทย์

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับประเด็นดังกล่าว มีดังนี้ 1. หน่วยงานต้นสังกัดของแพทย์ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือองค์กรวิชาชีพอย่างแพทยสภา ควรนำผลการวิจัยไปใช้อธิบายให้แพทย์ทราบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจมาใช้บริการเกินความจำเป็น แต่เนื่องจากมีมุมมองต่อความจำเป็นที่ต่างจากฝั่งแพทย์ ซึ่งแพทย์มักประเมินควมจำเป็นต่ำกว่าของผู้ป่วย

2. หน่วยงานที่บริหารจัดการระบบสุขภาพ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สธ. หรือราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ ควรร่วมกันสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการประเมินอาการ โดยควรออกเป็นแนวปฏิบัติที่มีเนื้อหาเฉพาะต่ออาการที่พบบ่อย และอาการในระดับใดควรไปพบแพทย์

3. ผู้บริหารโรงพยาบาลหรือระบบสาธารณสุขควรสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานของแพทย์ หรือสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานให้แก่แพทย์ซึ่งจะช่วยลดปัญหามุมมองที่ไม่ตรงกันกับผู้ป่วยได้

4. แพทย์ควรทำความเข้าใจมุมมองของผู้ป่วย เช่น ความพร้อมของผู้ดูแล ความพร้อมของหน่วยบริการในพื้นทื่ ฯลฯ มากกว่าการคำนึงถึงความจำเป็นหรือความรุนแรงของอาการเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.thecoverage.info/

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน