ระวัง! เสียรู้มิจฉาชีพ สูญเงินกับพัสดุที่ไม่ได้สั่ง

คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่จู่ ๆ ได้รับสายจากพนักงานบริษัทขนส่งว่ามีพัสดุมาส่ง แต่นึกแล้วนึกอีกก็คิดไม่ออกว่าได้สั่งสินค้าออนไลน์อะไรไปเมื่อไร จะเปิดดู พนักงานก็ยืนยันว่าต้องจ่ายเงินก่อนจึงจะเปิดกล่องพัสดุได้  เมื่อเราจ่ายเงินค่าของแล้วเปิดดู พบว่าข้างในไม่มีของ หรือ มีของที่ไม่ได้สั่ง รู้ตัวอีกทีเราตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพพัสดุเก็บเงินปลายทาง เสียแล้ว

ในปัจจุบันมิจฉาชีพพัสดุเก็บเงินปลายทาง มักมีกลโกงใหม่ ๆ ในการหลอกผู้บริโภค โดยฉวยโอกาสจากกลยุทธการขายของออนไลน์ “สั่งก่อนเก็บเงินทีหลัง” ด้วยการให้ผู้บริโภคสั่งของออนไลน์และจ่ายเงินเมื่อมีของส่งถึงมือ มิจฉาชีพจึงใช้กลโกงในรูปแบบของการสุ่มส่งของให้กับผู้บริโภคโดยส่งเป็นพัสดุเก็บเงินปลายทาง ซึ่งมีจุดอ่อนคือ หากไม่จ่ายเงินจะไม่สามารถเปิดสินค้าได้ ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินค่าพัสดุเพื่อเปิดดู และสุดท้ายพบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้สั่ง ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่า มิจฉาชีพเอาชื่อ – ที่อยู่ และข้อมูลส่วนตัวของเรามาจากไหน ซึ่งก็มีได้หลายสาเหตุ ดังนี้

  1. เว็บไซต์ปลอม เช่น เปิดรับสมัครงานโดยให้ใส่ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประชาชน, ที่อยู่, อายุ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทร และเลขที่บัญชีธนาคาร เป็นต้น
  2. ข้อมูลส่วนบุคคลจากคอมเมนต์เพจสั่งของ มิจฉาชีพมักจะทำการดึงข้อมูลส่วนบุคคลมาจากกล่องพัสดุที่ไม่มีการเซ็นเซอร์จากร้านค้าออนไลน์โพสต์ลงในหน้าเพจเพื่อแจ้งการส่งสินค้า
  3. กล่องพัสดุ ที่ถูกทิ้งโดยไม่ได้มีการนำข้อมูลชื่อและที่อยู่ออกจากกล่องพัสดุ
  4. ข้อมูลส่วนบุคคลจากการรั่วไหลของบริษัท มิจฉาชีพมักซื้อข้อมูลส่วนบุคลจากบริษัทที่มีการลักลอบขายข้อมูลส่วยบุคคล เช่น บริษัทขนส่งพัสดุ บริษัทสมัครงาน

วิธีการป้องกันและการรับมือมิจฉาชีพพัสดุเก็บเงินปลายทาง

  1. เมื่อมีพัสดุมาส่งและมีการเรียกเก็บเงินปลายทาง ผู้บริโภคควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่ามีบุคคลในครอบครัวทำการสั่งสินค้าเก็บเงินปลายทางจริงหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการสั่งสินค้า ผู้บริโภคควรปฏิเสธการรับพัสดุทันที
  2. ผู้บริโภคตรวจสอบกล่องพัสดุว่าส่งมาจากที่ใดโดยโทรติดต่อไปตามหมายเลขโทรศัพท์ที่มากับชื่อ – ที่อยู่ผู้ส่งเพื่อสอบถามความแน่ชัด หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นหมายเลขปลอม
  3. หากผู้บริโภคตกเป็นผู้เสียหาย ให้ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และดำเนินการแจ้งความกับตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งไปยังระบบรับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

หากผู้บริโภคท่านใดพบเจอมิจฉาชีพในลักษณะดังกล่าวก็สามารถแจ้งเบาะแสมายัง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ตามช่องทางด้านล่างเพื่อที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค จะทำการรวบข้อมูลในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยต่อไป

  • ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • อีเมล : complaint@tcc.or.th
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) ​: สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
ร้องทุกข์ - ร้องเรียน