เครือข่ายผู้บริโภคปฏิเสธเข้าร่วมเวทีให้ข้อมูล UPOV 1991 ชี้เวทีเน้นข้อมูลด้านเดียว

เครือข่ายผู้บริโภค ปฏิเสธเข้าร่วมเวทีให้ข้อมูลอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ของกรมวิชาการเกษตร ระบุ เวทีให้ข้อมูล UPOV 1001 มีลักษณะชี้ชวนให้เห็นประโยชน์หากเข้าเป็นสมาชิก ทั้งที่นักวิชาการระดับโลก รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศต่าง ๆ ได้ชี้ถึงปัญหาการเข้าร่วม UPOV 1991 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค ยืนยันข้อเสนอเดิมขอให้ ครม. ชะลอเข้าร่วม CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวก-ด้านลบจะแล้วเสร็จ

 

วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2566) มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้ส่งหนังสือเชิญเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วมเวทีแนะนำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการเป็นสมาชิกในระบบ UPOV 1991 หรืออนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าเวทีประชุมดังกล่าวมีลักษณะชี้ชวนให้เห็นประโยชน์ของ UPOV 1991 อีกทั้งยังมีการนำวิทยากรที่มาจากเจ้าหน้าที่ของ UPOV บุคคลหรือตัวแทนขององค์กรที่สนับสนุนการเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 มาเป็นระยะ ๆ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้น เครือข่ายผู้บริโภคจึงขอปฏิเสธการเข้าร่วมในเวทีดังกล่าว แต่ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมในเวทีที่กรมวิชาการเกษตรจะจัดการประชุมที่เป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศที่ศึกษาและกล่าวถึงผลกระทบของ UPOV 1991 ด้วย

“นักวิชาการระดับโลก ผู้ชำนาญการขององค์การสหประชาชาติ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในประเทศ รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศต่าง ๆ ได้กล่าวถึงปัญหาการเข้าร่วม UPOV 1991 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้บริโภค และยังทำให้ต้องพึ่งพาบริษัทข้ามชาติและต่างชาติมากยิ่งขึ้น ขณะที่กรมวิชาการเกษตรกลับไม่ได้ให้ข้อมูลในด้านที่เป็นผลกระทบเลย” มลฤดี ระบุ

มลฤดี ระบุอีกว่า ประเด็น UPOV 1991 เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคในประเทศ เช่นเดียวกับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร สรุปไว้ว่าจะส่งผลกระทบใน 7 ประเด็น

ได้แก่ 1) สูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีเพื่อประโยชน์ในทางการค้า 2) อาจสร้างปัญหาการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่เจตนา จากการขยายสิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้ครอบคลุมถึงอนุพันธ์สำคัญ 3) สูญเสียความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของความหลากหลาย 4) ต้องจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม 5) เกษตรกรรายย่อยอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น 6) อาจทำให้เกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่นำผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายปลีกในตลาดถูกดำเนินคดี และ 7) เป็นอุปสรรคแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อยและนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหม่ แต่จะเอื้อประโยชน์กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหญ่

นอกจากนี้ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ ระบุทิ้งท้ายถึงกรณีการเข้าร่วมกับความตกลง CPTPP โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนไทยทั้งประเทศหากมีการเจรจาเข้าร่วมกับความตกลงดังกล่าวต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นที่มีข้อมูลให้รอบด้านและครบองค์ประกอบของการรับฟังความคิดเห็น

และยืนยันข้อเสนอแนะเดิมที่ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว คือ การขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง กล่าวคือ จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ และที่สำคัญหากงานวิจัยฯ พบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน