เวทีสภาผู้บริโภค เสนอพรรคการเมือง ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านพลังงาน – ขนส่ง – คุณภาพชีวิต

สภาผู้บริโภค จัดเวทีสะท้อนปัญหา – เสนอนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อพรรคการเมือง เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ชู 3 ประเด็นสำคัญ หวังผลักดันนโยบาย “การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน” ส่งเสริม “ระบบขนส่งมวลชนปลอดภัย ทุกคนขึ้นได้” และ ยกระดับ “ระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิต” ของผู้บริโภคไทย

วันที่ 15 มีนาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) จัดเวทีการนำเสนอนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อพรรคการเมือง เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ประจำปี 2566 (World Consumer Rights Day 2023) โดยแบ่งเป็น 3 เวทีย่อย ได้แก่ เวทีเรื่องพลังงาน “ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ พลังผู้บริโภคสู่พลังงานหมุนเวียน” เวทีเรื่องการขนส่ง “บริการขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในยานพาหนะ” และเวทีเรื่องบริการสุขภาพ “สุขภาพและคุณภาพชีวิต”

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นหลักของงานวันผู้บริโภคสากลปีนี้เป็นเรื่องพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับงานที่เครือข่ายผู้บริโภคทำ คือด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมถึงเครือข่ายภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้ทำโครงการกองทุนแสงอาทิตย์ โดยได้สนับสนุนการติดโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล และโรงเรียนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ก็ยังติดขัดเรื่องนโยบาย

ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า คาดว่าในช่วงอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น สภาผู้บริโภคจึงอยากนำเสนอปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำงานเรื่องพลังงานสะอาด ให้ทุกพรรคการเมืองได้รับทราบและเห็นความสำคัญเรื่องพลังงานสะอาด เพื่อให้ผู้บริโภคไทยได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิที่ถูกกำหนดไว้ในสิทธิผู้บริโภคสากล ดังนั้น การจะขับเคลื่อนเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพรรคการเมืองที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาล และมีอำนาจในการวางนโยบาย และผลักดันกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เรื่องหล่านี้สามารถดำเนินการได้จริงตามที่ตั้งเป้าไว้ เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและช่วยกันรับผิดชอบ

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ปีนี้มีองค์กรของผู้บริโภคมากกว่า 200 องค์กรจาก 100 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนในประเด็น “ความเข้มแข็งของผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Empowering consumers through clean energy transition)” เพราะปัญหาเรื่องพลังงานเป็นปัญหาสำคัญมากที่ส่งผลต่อทั้งเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

สารี กล่าวต่อไปว่า การจัดเวทีในครั้งนี้สภาผู้บริโภคไม่ได้ทำหน้าที่เพียงนำเสนอข้อเสนอนโยบาย เพราะเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในภาพรวมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกวันนี้ผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง 71 ล้านคนต้องเผชิญกับวิกฤตเรื่องราคาพลังงาน ราคาอาหาร และในประเทศไทยเองก็มีปัญหาอื่น ๆ เช่น เรื่องปัญหาระบบขนส่งมวลชน ฝุ่น PM2.5

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มภาคประชาสังคมที่มีข้อเสนอเรื่องบำนาญประชาชน ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูล มีความรู้ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่สะดวกสบายขึ้นแต่มีความซับซ้อน ซึ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลักดันเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคการเมืองต่อไปในอนาคต


สำหรับภาพรวมของเวทีการนำเสนอนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อพรรคการเมือง ทั้ง 3 เวที สรุปได้ดังนี้

เวทีเรื่องพลังงาน “ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ พลังผู้บริโภคสู่พลังงานหมุนเวียน” เริ่มต้นด้วย รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นผู้นำเสนอสาเหตุของปัญหาเรื่องก๊าซหุงต้มและไฟฟ้าราคาแพง เช่น การคิดราคาค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มโดยสมมติราคานำเข้าจากต่างประเทศ การบิดเบือนราคาพลังงาน การเก็บภาษีสรรพสามิตที่สูงเกินไป เป็นต้น และได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ 6 ข้อ คือ 1) ยกเลกการสมมติราคาน้ำมันเสมือนนำเข้า 2) ควบคุมราคาน้ำมันชีวภาพ 3) ยกเลกการสมมติราคาก๊าซหุงต้มเสือนนำเข้า 4) เก็บเงินจากปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เพื่อชดเชยกองทุนน้ำมัน 5) หยุดการทำสัญญาซื้อไฟทั้งจากโรงไฟฟ้าในประเทศ และต่างประเทศ เจรจาขอลดการจ่ายค่าความพร้อมจ่าย และ 6) ออกนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานใหม่

จากนั้น ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ  พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น และถูกประเมินโดยองค์กรวิชาการระหว่างประเทศ CAT โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนโยบายลดโลกร้อนที่แย่ที่สุด

ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้ด้วย แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องนโยบายจากภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการขออนุญาตที่ยุ่งยาก การรับซื้อไฟฟ้าจากภาคประชาชนที่ไม่ป็นธรรม ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานใหม่ได้นั้น จำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับพลังงานเสียใหม่

“ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งมีราคาถูกกว่าพลังงานอื่น ๆ ในโลก แต่ทำไมรัฐบาลถึงกีดกันไม่ให้คนไทยได้ใช้พลังงานเหล่านี้ รายได้จากพลังงานคิดเป็นร้อย 13 – 15 ของจีดีพี (ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) โดยรายได้จากไฟฟ้าคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของจีดีพีของประเทศ หากรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการใช้โซลาร์เซลล์จะสร้างรายได้ในภาพรวมของประเทศประมาณ 40,000 ล้านบาท” ผศ.ประสาท ระบุ


ส่วนเวทีเรื่องการขนส่ง “บริการขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในยานพาหนะ” แบ่งการนำเสนอเป็น 4 ประเด็นย่อย

เริ่มต้นจากประเด็นการ “เข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ ที่ได้มาตรฐานมีความปลอดภัยและค่าบริการที่ทุกคนขึ้นได้” คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สะท้อนปัญหาของประเทศไทยว่า ระบบขนส่งมวลขนถูกทำให้กลายเป็นบริการทางเลือก เนื่องจากค่าโดยสารราคาแพงเมื่อเทียบกันค่าครองชีพ ปัญหาเรื่องการบริการรวมถึงสภาพรถ หรือยานพาหนะนั้น ๆ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาคือภาครัฐต้องออกนโยบายเพื่อกำกับดูแลค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนให้เป็นธรรม รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมด้านการเข้าถึงบริการและส่งเสริมคุณภาพความปลอดภัยด้วย

ต่อมา ปาณิสรา ดวงภูมิเมศ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก ได้นำเสนอในประเด็น “รถโดยสารต้องปลอดภัย เปลี่ยนรถตู้เป็นรถมินิบัสภายใน 1 ปี” โดยมีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหารถรถรับส่งนักเรียนในปัจจุบัน ทั้งปัญหารถรับส่งนักเรียนที่วิ่งโดยไม่ได้ขออนุญาต โรงเรียนขาดองค์ความรู้และแนวทางในการจัดการรถรับส่งนักเรียน ขณะเดียวกันสถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนก็รุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้มีนักเรียนจำนวนมากที่ตกอยู่ในความเสี่ยง และไม่มีหน่วยงานหลักที่เข้ามารับผิดชอบเรื่องดังกล่าว สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา มีข้อเสนอในเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นค่าเดินทางให้กับนักเรียน การออกนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดูแลเรื่องงบประมาณและความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนให้มีรถรับส่งนักเรียนที่มีมาตรฐานความปลอดภัย 20,000 คันทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี

ด้าน ลาภิศ ฤกษ์ดี ผู้จัดการมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา นำเสนอประเด็น “เด็กไทยต้องปลอดภัยเมื่อไปโรงเรียน รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย 100%” โดยระบุว่า ปัจจุบันรถรับ – ส่งนักเรียนมีอยู่หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถตู้โดยสาร รถกระบะดัดแปลง รถโดยสารขนาดใหญ่สี่ล้อหรือหกล้อ ข้อมูลพบว่าในไทยมีรถที่ขออนุญาตถูกต้องเพียง 4,497 คันเท่านั้นและคาดว่าจะมีรถรับ – ส่งนักเรียนที่ยังไม่ได้ขออนุญาตมากกว่า 45,000 คัน ขณะที่สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับ – ส่งนักเรียนมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี แต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามารับผิดชอบหลักในประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้ลาภิศมองว่า เด็กนักเรียนหรือแม้แต่ผู้ปกครองที่ให้ลูกใช้รถรับ – ส่งนักเรียนคงมีความคาดหวังว่าจะได้รับความปลอดภัยในการโดยสาร แต่ปัจจุบันนั้นมีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงกับรถไม่ได้มาตรฐาน จนทำให้การเดินทางไปโรงเรียนไม่มีความปลอดภัย จึงอยากเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาที่ไม่เพียงหมายถึงการสอนหรือการเรียนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการเดินทางไปโรงเรียนที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่รัฐต้องกำกับดูแลและคุ้มครองนักเรียนให้ได้รับตามมาตรฐานความปลอดภัย ทั่วถึง เท่าเทียม

และประเด็นสุดท้าย “มอเตอร์ไซค์ปลอดภัย ต้องติดตั้งเบรคได้มาตรฐาน” ปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ในปี 2561 องค์การอนามัยโลกมีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดต่ำว่า 150 ซีซี มีอัตราความเสี่ยงจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึงร้อยละ 88 สาเหตุเกิดจากการไม่มีระบบห้ามล้อของรถจักรยานยนต์

อย่างไรก็ตาม แม้กรมการขนส่งทางบกจะออกประกาศที่กำหนดมาตรฐานระบบห้ามล้อในรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ต้องติดตั้งระบบป้องกันล้อล็อกที่มีความปลอดภัยที่สุด หรือระบบห้ามล้อเอบีเอส (ABS) แต่บังคับใช้เฉพาะรถที่มีความจุกระบอกสูบเกินกว่า 125 ซีซีเท่านั้น ขณะที่รถจักรยานยนต์ที่มีการใช้งานในไทยมากที่สุดอย่างรถจักรยานยนต์ที่มีกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ซีซี กลับไม่ถูกบังคับให้ติด ซึ่งทำให้รถจักรยานยนต์เหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น จึงเสนอให้เร่งผลักดันกฎหมายให้มีบังคับรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น ทุกขนาดติดตั้งระบบเอบีเอสภายใน 2 ปี เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ โดยรัฐต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายและมาตรการทางภาษีให้ผู้ผลิตและภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดภาระกับผู้บริโภคอีกทางด้วย


สำหรับเวทีเรื่องบริการสุขภาพ “สุขภาพและคุณภาพชีวิต” นั้น แบ่งการนำเสนอเป็น 4 ประเด็นย่อยเช่นกัน

โดยเริ่มต้นจากหัวข้อ “การยกระดับสิทธิผู้บริโภคเท่าเทียมสากล” ที่ได้บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นผู้นำเสนอถึงความแตกต่างระหว่างสิทธิผู้บริโภคไทยที่ถูกกำหนดใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ไว้เพียง 5 ประการ ขณะที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลได้กำหนดสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ถึง 8 ประการ ดังนั้น เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day)

สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคให้มีการกำหนดสิทธิผู้บริโภคให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคมองว่าหน่วยงานรัฐไม่ควรจำกัดสิทธิของผู้บริโภคไว้เพียงเท่านี้ และทำให้ไม่เท่าทันสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย นอกจากนี้ยังได้ย้ำอีกว่าผู้บริโภคไม่ได้เรียกร้องสิทธิเกินสมควร แต่เรียกร้องสิทธิผู้บริโภคที่พึงมี จึงต้องการเสนอให้พรรคการเมืองนำไปผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

ขณะที่สมชาย กระจ่างแสง ผู้ประสานงานรณรงค์มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้นำเสนอหัวข้อ “ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว” โดยสมชายได้ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลใน 3 กองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพ (ระบบบัตรทอง) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม มีความเหลื่อมล้ำกันเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีเพียงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกลุ่มเดียวที่ยังคงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ขณะที่อีกสองกองทุนนั้นมีภาครัฐที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

ยกตัวอย่างเช่น การรักษาด้านทันตกรรมในระบบประกันสังคม ถูกจำกัดวงเงินการรักษาไว้เพียง 900 บาทต่อปี หากมีค่ารักษาที่เกินกว่าที่กำหนด ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง ขณะที่กองทุนอื่นสามารถเบิกจ่ายตามอัตราที่ใช้ในการรักษาจริง ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งต้องผลักดันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยทำให้ ‘ระบบการรักษาสุขภาพทั้ง 3 กองทุนเป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวและได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน’ ซึ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาลดน้อยลงได้

สำหรับประเด็น “เร่งรัดจัดระเบียบตลาดออนไลน์ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง” สิรินนา เพชรรัตน์ นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการซื้อขายสินค้าในตลาดออนไลน์ แต่ยังพบว่ายังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ทั้งการที่ร้านค้าไม่ต้องจดทะเบียนการขายสินค้าตลาดแบบตรง หรือความไม่จริงจังในการบังคับให้ผู้ค้าต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เช่น การไม่มีข้อมูลหรือที่อยู่ของร้านค้าหากสั่งซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า

ดังนั้นจึงเสนอให้พรรคการเมืองนำไปผลักดันและเร่งรัดจัดระเบียบตลาดออนไลน์ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง โดยขอให้เพิ่มมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าในตลาดออนไลน์อย่างเข้มงวด เช่น ให้ผู้ขายต้องแสดงเลขทะเบียนพาณิชย์ ชื่อและที่อยู่ของร้านค้า เงื่อนไข หรือการรับประกันต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างชัดเจน รวมถึงการทบทวน พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ให้ผู้ขายสินค้าทุกคนต้องจดทะเบียนการค้า อีกทั้งเสนอให้บริษัทขนส่งพัสดุถือเงินไว้อย่างน้อย 7 วัน ก่อนจะโอนให้ร้านค้า เพื่อลดปัญหาการกดดันให้ผู้บริโภคต้องรีบรับพัสดุไว้ และมีระบบเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสร้านค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน

ด้านจุฑา สังฆชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา นำเสนอประเด็น “SMS & Call Center ต้มตุ๋น ต้องถูกจัดการ

และมุ่งเป้าผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ” โดยชี้ว่าปัญหาดังกล่าวมักจะพบได้บ่อยครั้ง ต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างมากในยุคที่ทุกคนพึ่งพาโลกดิจิทัล นอกจากจะทำให้เกิดความเสียกับผู้บริโภคที่อาจเป็นกังวลในการทำธุรกรรมทางออนไลน์และเกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้เกิดความเสียหายในภาพรวมของประเทศด้วย

โดยข้อมูลจากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าในช่วงวันที่ 5 – 11 มีนาคม 2566 ได้รับแจ้งความเกี่ยวกับการที่ประชาชนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงไปกว่า 739 คดี ขณะที่มีความเสียหายอยู่ 87 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวควรถูกกำหนดให้เป็นวาระสำคัญระดับประเทศที่ต้องเร่งแก้ปัญหา

ดังนั้น จึงขอฝากข้อเสนอถึงพรรคการเมืองที่กำลังมีการหาเสียงนำไปผลักดันโดยด่วน ได้แก่ การนำผลการศึกษาจากต่างประเทศมาประยุกต์เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งควรพิจารณาภาพรวมการแก้ไขปัญหาของแต่ละหน่วยงาน และจัดทำแนวทางบูรณาการประสานความร่วมมือร่วมกัน รวมถึงการระดมความคิดหาแนวทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ทันท่วงทีและหลากหลายช่องทาง เพื่อเพิ่มช่องทางเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ตระหนักรู้กลโกงของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนรูปแบบไปตลอดเวลา เมื่อก่อนเราอาจคิดว่าเป็นเรื่องแค่น่ารำคาญ แต่ขณะนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางเทคโนโลยี

ปิดท้ายที่วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม เครือข่ายสลัม 4 ภาค นำเสนอหัวข้อ : บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแล ซึ่งวิมลได้สะท้อนปัญหาของการได้รับเบี้ยยังชีพในปัจจุบันว่าไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ เมื่อเทียบกับการที่ต้องเสียภาษีให้ภาครัฐเป็นจำนวนมาก แต่กลับได้รับเงินสำหรับยังชีพมาเพียง 600 – 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้นและทำให้ผู้สูงอายุต้องดิ้นรนทำงานเพื่อเลี้ยงชีพทั้งที่อยู่ในวัยที่ไม่ควรต้องทำงาน ทั้งนี้วิมลมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากสำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา วิมล ระบุว่า รัฐบาลต้องเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นการทำบำนาญให้ประชาชน โดยไม่ต้องแบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์ว่ายากจนจริงหรือไม่ เพียงแค่อายุ 60 ปีขึ้นไปประชาชนทุกคนควรได้รับเงินเพื่อให้มีหลักประกันรายได้ยามชราภาพ หรือที่เรียกว่าบำนาญถ้วนหน้า และรัฐควรให้เงินบำนาญตาม ‘เส้นความยากจน’ ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีกรอบวงเงินที่ผู้สูงอายุควรจะได้รับคือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ถึงจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้

ดังนั้น จึงขอเสนอให้พรรคการเมืองนำนโยบายเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน และไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน ไปผลักดันและขอให้ประกาศออกมาเพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนมีข้อมูลและทางเลือกในการตัดสินใจในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ในทั้ง 3 เวทีมีพรรคการเมืองเข้าร่วมทั้งหมด 8 พรรค โดยแต่ละพรรคได้มีการนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับแต่ละประเด็นปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งสภาผู้บริโภคจะนำรายละเอียดของแต่ละเวที และสรุปภาพรวมนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค มานำเสนอให้ผู้บริโภคได้อ่านในลำดับถัดไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ร้องทุกข์ - ร้องเรียน